ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปยังบ้านพักนายดำรงค์ ดีสกูล นายอำเภอเบตง
จังหวัดยะลา เพื่อมาสอบถามถึงเมนู “ข้าวหลามทุเรียน” ที่ให้ อส.
ทำออกมาแจกจ่ายให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาและประชาชน หลังเกิดไอเดียทำข้าวหลามทุเรียน
จนเป็นที่ถูกปากติดใจของผู้ที่ได้ลิ้มลองรสชาด
ในช่วงพบปะกาแฟยามเช้าที่บ้านพักนายอำเภอเบตง
นายดำรงค์ ดีสกูล นายอำเภอเบตง ยังได้พามาชมขั้นตอนการทำข้าวหลาม
บริเวณข้างบ้านพักที่ อส. ได้มีการจัดเตรียมวัตถุดิบ อุปกรณ์ ไว้พร้อม
ทั้งทุเรียนพันธุ์พวงมณี และหมอนทองที่สุกงอม ถูก แกะ และแพ็คไว้อย่างดี
เพื่อสำหรับเป็นหัวใจหลักในการผสมผสานกับข้าวเหนียวที่ใช้ทำข้าวหลาม
พร้อมทั้งโชว์ข้าวหลามที่เผาสุกแล้ว มาแกะออกให้สื่อมวลชนและชาวบ้านได้ชิม
พบว่าเนื้อข้าวหลามห่อหุ้มด้วยเยื่อไผ่รัดไว้อย่างสวยงาม
หลังจากที่ผ่านการเผาด้วยถ่านไม้จนสุกได้ที่ พร้อมกับโชว์ผสมข้าวเหนียว
และเนื้อทุเรียนที่คลุกเคล้าลงในกระบอก ส่วนประกอบการทำข้าวหลามไม่ใช่เรื่องยาก
ส่วนผสมก็มีเพียงข้าวเหนียวขาว หรือข้าวเหนียวดำ กะทิสด เกลือ น้ำตาลทราย
ถั่วดำเพียงแค่นี้ ก็สามารถนำมาทำข้าวหลามได้แล้ว แต่ที่สำคัญ คือ กระบอกไม้ไผ่
ต้องเป็นไผ่ข้าวหลาม หรือไผ่สีสุก เนื่องจากมีเยื่อไผ่ที่หนา
และใบตองสดสำหรับจุกอุดปากกระบอกและนำเครื่องปรุงทุกอย่างมาผสมให้เข้ากัน
กะเกณฑ์ความหวานหรือเค็ม มากน้อยแล้วแต่ความชอบหรือตามสูตรสำเร็จของแต่ละคน อย่างวันนี้
(21 ก.ย. 61)เป็นการทำข้าวหลามทุเรียนพวงมณี
เมื่อทำการกรอกส่วนผสมลงไปในกระบอกไม้ไผ่ จนน้ำกะทิเริ่มเอ่อปากกระบอก
จากนั้นนำไปวางและใช้ใบตองปิดปากกระบอกไม้ไผ่ไว้
เพื่อป้องกันเศษผงจากถ่านไฟตกลงไปในกระบอก
การย่างข้าวหลามใช้ไม้ยางมาทำฟืนเผาข้าวหลามควบคุมอุณหภูมิความร้อนให้สม่ำเสมอคงที่
วิธีแบบนี้ทำให้เนื้อข้าวหลามสุกเสมอกันทั้งกระบอก และที่สำคัญ คือ
ประหยัดเชื้อเพลิง วัสดุเชื้อเพลิงหาได้ทั่วไปไม่ต้องซื้อ
โดยเฉพาะช่วงนี้ผลไม้ที่กำลังเป็นกระแส จนราคาฉุดไว้ไม่อยู่
ทั้งไทยและต่างประเทศโดยเฉพาะทุเรียน ช่วงนี้กลายเป็นผลไม้ยอดนิยม
ในโลกออนไลน์เรียกว่าใครไม่ได้ทานคงไม่ได้แล้ว ซึ่งอำเภอเบตง เป็นเมืองผลไม้
เมื่อจะทำข้าวหลามทั้งที ต้องไม่ธรรมดา ทุเรียนต้องเป็นทุเรียนพวงมณี
คงเป็นเครื่องการันตีว่านี่คือเมืองเบตง
นายอำเภอเบตง กล่าวอีกว่า ทุเรียนพันธุ์พวงมณีเบตง เดิมชื่อทุเรียนมณี
เวลาติดผลจะเป็นพวง 3 – 7 ผล เลยถูกตั้งชื่อว่า ทุเรียนพวงมณี มีขนาดเล็ก
น้ำหนักผลเมื่อโตเต็มที่เฉลี่ยระหว่าง 1.3 – 1.8 กิโลกรัม
ปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากสำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวมาเลเซีย
ทุเรียนพวงมณีเบตง จะปลูกตามภูเขาของชาวสวนในพื้นที่มีจำนวนจำกัด
เนื่องจากเป็นทุเรียนหลงฤดูฟ้าฝน จะให้ผลผลิตมากในช่วงเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม
จึงกลายเป็นที่ต้องการอย่างมากสำหรับผู้ที่ชื่นชอบรสชาติของทุเรียนพวงมณี
เนื่องจากเนื้อจะสุกละเอียด เหนียว และนุ่ม รสชาติหวาน มัน มีกลิ่นหอม
รับประทานอร่อยมาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น