วันอังคารที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ยะลาเตรียมปลูกกาแฟโรบัสต้า ทดแทนสวนยางพารา



         กรมวิชาการเกษตร  จับมือ เทศบาลนครยะลา  หนุนปลูกกาแฟทดแทนยางพาราเสื่อมโทรม  วางแผนการตลาดชูรสชาติเป็นลักษณะเฉพาะถิ่น  เตรียมสำรวจพื้นที่ปลูกเพิ่มอีก 2 จังหวัดชายแดนใต้  ชี้ตลาดกาแฟรุ่งความต้องการเพิ่มทุกปี

         ดร.เสริมสุข   สลักเพ็ชร์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร   เปิดเผยว่า  กรมวิชาการเกษตรและเทศบาลนครยะลาได้ร่วมประชุมหารือปัญหาภาคการเกษตรในจังหวัดยะลา โดยเห็นชอบร่วมกันจัดทำโครงการส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดยะลาปลูกกาแฟเป็นพืชทางเลือกทดแทนสวนยางพาราที่เสื่อมโทรม  และมีปัญหาด้านราคาตามนโยบายการลดพื้นที่ปลูกยางพาราของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  หรือปลูกเป็นพืชเสริมรายได้ในระบบการปลูกพืชแบบผสมผสานตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง   เพื่อให้เกษตรกรในจังหวัดยะลามีอาชีพที่มั่นคง  และมีเสถียรภาพ  โดยมอบหมายให้ศูนย์วิจัยพืชสวนยะลา  ซึ่งเป็นหน่วยงานในพื้นที่ของกรมวิชาการเกษตรเข้าดำเนินการร่วมกับเทศบาลนครยะลา ศูนย์วิจัยพืชสวนยะลา ได้วิจัยการปลูกกาแฟโรบัสต้าตั้งแต่ปี 2555 พบว่ามีการเจริญเติบโตดี  ให้ผลผลิตเฉลี่ย 290 กิโลกรัม/ไร่ ตอบสนองได้ดีในสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศของจังหวัดยะลา ส่วนด้านคุณภาพคะแนนคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ดี มีฟองครีมหนา มีกลิ่นหอมของถั่ว รสเปรี้ยวของกรดมะนาว รสชาติอยู่ในกลุ่ม Brown sugar ซึ่งไม่พบในกาแฟโรบัสต้าที่ปลูกจากแหล่งอื่น  และสามารถที่จะพัฒนาให้เป็นแหล่งปลูกกาแฟที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้

        อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าวว่า  เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรละเทศบาลนครยะลาได้มอบต้นพันธุ์กาแฟโรบัสต้าให้แก่เกษตรกรจำนวน 40,000 ต้น คิดเป็นพื้นที่ปลูกประมาณ 225 ไร่ และได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตกาแฟโรบัสต้าพร้อมกับจัดทำแปลงต้นแบบเทคโนโลยีการผลิตกาแฟ   โรบัสต้าให้เกษตรกรได้เข้ามาศึกษาดูงานภายในศูนย์วิจัยพืชสวนยะลา  รวมทั้งยังขยายผลสู่ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อ.ธารโต จ.ยะลาโดย จัดทำแปลงต้นแบบการปลูกกาแฟ ในพื้นที่ อบต.คีรีเขต อ.ธารโต จ.ยะลา เพื่อเป็นแปลงเรียนรู้การผลิตกาแฟในระดับพื้นที่  เพื่อเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกกาแฟโรบัสต้าเป็นพืชเสริมรายได้ ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรอยู่ระหว่างการผลิตต้นพันธุ์กาแฟ จำนวน 100,000 ต้น คิดเป็นพื้นที่ปลูกประมาณ 560 ไร่ เพื่อรองรับความต้องการของเกษตรกรจังหวัดยะลาที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการปลูกกาแฟทดแทนสวนยางพาราที่เสื่อมโทรม  นอกจากนี้ศูนย์วิจัยพืชสวนยะลายังร่วมกับเทศบาลนครยะลา และห้างหุ้นส่วนจำกัด Southern Agriculture Product Limited Partnership (SAP) พัฒนาการแปรรูปกาแฟเพื่อให้ได้รสชาติที่มีอัตลักษณ์พื้นถิ่น   มีการสร้างแบรนด์ที่เป็นอัตลักษณ์  สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของจังหวัดยะลาและมีการเชื่อมโยงการตลาดระหว่างเกษตรกรกับโรงงานแปรรูปกาแฟ



        “จังหวัดยะลาถือเป็นจังหวัดต้นแบบนำร่องโครงการปลูกกาแฟทดแทนยางพารา  ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้รับการประสานให้หาพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการปลูกกาแฟตามโครงการเพิ่มขึ้นในอีก 2 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จังหวัดปัตตานี  และนราธิวาสด้วย  เนื่องจากปัจจุบันตลาดมีความต้องการกาแฟเพิ่มขึ้นทุกปี ผลผลิตที่ได้ไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ โดยในปี 2560 มีการนำเข้าเมล็ดกาแฟดิบปริมาณ 55,641 ตัน คิดเป็นมูลค่า 4,359 ล้านบาท ซึ่งสัมพันธ์กับประชากรไทยที่บริโภคกาแฟเพิ่มขึ้น 3-5 เปอร์เซ็นต์ต่อปีอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว





----------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น