ชุมชน เป็นองค์กรทางสังคมอย่างหนึ่งที่มีการอยู่รวมกันของกลุ่มคน
มีการกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ กำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ในการอยู่ร่วมกัน
เป็นหน่วยสังคมขนาดเล็กที่สมาชิกของสังคมพัฒนาขึ้นตามธรรมชาติ
มีการดำรงรักษาคุณค่าและมรดกทางวัฒนธรรม ความเชื่อ ศาสนา ประเพณี ระบบเศรษฐกิจ
อาชีพ ระบบการเมือง การปกครอง โครงสร้างอำนาจ รวมถึงระบบนิเวศวิทยา สิ่งแวดล้อม
และเทคโนโลยีด้านต่างๆ
ซึ่งระบบเหล่านี้มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันชนิดที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้
ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
มีอีกหลายชุมชนที่ยังสามารถบริหารจัดการตนเองให้มีความเข้มแข็ง
กระทรวงวัฒนธรรมจึงได้มีแนวคิดศึกษาวิธีการบริหารจัดการของชุมชน
ที่สามารถสร้างความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมท่ามกลางปัญหาอุปสรรครอบด้าน
เพื่อนำไปเผยแพร่เป็นตัวอย่างให้แก่ชุมชนอื่นๆ ได้เรียนรู้
และนี่คือส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ผู้มีบทบาทที่เป็นต้นแบบการบริหารจัดการชุมชนเข้มแข็ง
ชุมชนทรายขาว
หมู่ 3 ต.ทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี
“เวลาชาวพุทธมีงานอะไรเขาก็เชิญมุสลิมไป
แต่เขาจะแยกเป็นครัวมุสลิมให้ มุสลิมเชิญพุทธไปร่วมงานเราก็แยกอาหาร
ทางด้านสังคมเราอยู่ร่วมกัน แต่ทางด้านอาหารเราก็แยกกัน มีกิจกรรมอะไรเราก็ร่วมกัน
แต่บางอย่างเป็นสิ่งร่วมกันไม่ได้ เช่นเรื่องพิธีกรรมทางศาสนา ชาวพุทธเขาก็เข้าใจ
อีกอย่างคือด้านภาษา ที่อื่นถ้ามุสลิมเขาจะพูดมลายู ถ้าพุทธก็ใช้ภาษาใต้
แต่ที่นี่จะพูดภาษาเดียวกันเป็นภาษาทรายขาว
ในเรื่องเหตุการณ์ความไม่สงบเราก็ไม่ค่อยจะมี ไม่ค่อยยุ่งเกี่ยว
จึงไม่มีเหตุอะไรเกิดขึ้น ผู้นำก็มีการตกลงกันเป็นวาระ
ว่าสลับกันดูแลระหว่างพุทธกับมุสลิม
อีกสิ่งหนึ่งที่ผมภูมิใจ คือ
ที่อื่นส่วนใหญ่ผู้นำจะมีการขัดแย้งกันในแต่ละหน่วยงาน แต่ที่นี่ไม่มี เยาวชนรุ่นใหม่มีการไปมาหาสู่กันปกติ
ที่เป็นเจ้าอาวาสบางท่านก็มีลูกหลานเป็นมุสลิม สมัยก่อนเวลาเลี้ยงวัวหรือเลี้ยงลิง
หากมันหลุดไปเขาก็จะประกาศหาเจ้าของ ไม่มีการหายเหมือนที่อื่น
บางทีคนพุทธทำขนมเขาก็เอามาแบ่ง
ก็อยากจะให้อีกหลายต่อหลายแห่งที่มีความไม่ไว้วางใจกัน ดำเนินชีวิตแบบพวกเรา”
(สัมภาษณ์ นายดลฮาฟ สาหลำสาหรี อิหม่ามมัสยิดนัจมุดดีน
หรือสุเหร่าบาโงยลางา)
“ครั้งหนึ่งอาตมาเคยไปคุยกะโต๊ะอิหม่ามตอนที่มีเรื่องขัดแย้งกันระหว่างวัยรุ่น
ว่าให้เราอยู่ด้วยกันให้เหมือนแต่ก่อน จากนั้นก็อยู่กันได้เรื่อยมา ทางอิสลามเขาเข้ามาที่วัดเรื่อยๆ มาเรียน
กศน. ในการพัฒนาพื้นที่
คนมุสลิมก็จะเข้ามาช่วยทำความสะอาด ช่วยกวาดขยะที่วัด คนแถวนี้พูดภาษาเดียวกัน ไม่ค่อยทะเลาะวิวาทกัน
ในชุมชนสมัยก่อนเขาก็ช่วยกัน แม้นเดี๋ยวนี้อาจดูห่างๆ กันไปบ้าง การช่วยเหลือกันทางด้านศาสนามีน้อย
แต่ก็ยังอยู่ร่วมกันได้เหมือนเดิม อาตมาเองเป็นห่วงเด็กๆ
รุ่นหลังว่าจะไม่เป็นเหมือนแต่ก่อน
ที่นี่วันพระจะมีทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่เข้าวัดกัน แต่ชุมชนที่นี่อิสลามจะเยอะกว่าพุทธ
อาตมาก็คิดว่าจะทำอย่างไรให้พุทธกับอิสลามอยู่กันได้เหมือนเดิม” (สัมภาษณ์ พระครูปราโมทย์ สีตคุณ เจ้าอาวาสวัดทรายขาว)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น