วันอังคารที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563

จุดชมวิวทะเลหมอกควนหม้อ จังหวัดสตูล

         เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส covid-19 ในประเทศไทยเริ่มดีขึ้นรัฐบาลเริ่มมีมาตรการคลายล็อกดาวน์ ส่งผลให้การท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆกลับมาคึกคักอีกครั้ง พร้อมกับมีแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ เกิดขึ้นมามากมาย และช่วงนี้ประเทศไทยก็เข้าสู่หน้าฝนแล้ว จะพาไปสัมผัสกับแหล่งท่องเที่ยวแหล่งใหม่ที่เกิดขึ้นในจังหวัดสตูล บรรยากาศที่มีทะเลหมอกยามเช้า อากาศที่สดชื่น สูดแล้วฉุ่มฉ่ำปอด นั้นก็คือจุดชมวิวควนหม้อ




        จุดชมวิวควนหม้อ ตั้งอยู่ที่ ม.5 ตำบลควนโพธิ์ อำเภอเมืองสตูล ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ร่วมกันผลักดันเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นจุดชมทะเลหมอกแห่งใหม่ ที่ทางขึ้นสะดวกสบาย มีพื้นที่กว้างให้นักท่องเที่ยวที่ขึ้นไปสามารถทำกิจกรรมได้อย่างหลากหลาย



         นายทะนงศักดิ์ หล้าดี ผู้ใหญ่บ้าน ม.5 ต.ควนโพธิ์ อ.เมืองสตูล จ.สตูล บอกกับทีมงานของเราว่า เดิมจุดชมวิวควนหม้อ อยู่ในสวนยางของชาวบ้าน ซึ่งเมื่อได้ตัดต้นไม้บางต้นออกทำให้มองเห็นวิวทิวทัศน์ด้านล่างโดยเฉพาะหมอกยามเช้า ที่บางเช้ามองเห็นเป็นทะเลหมอก ตนได้เล็งเห็นว่าหากทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวขึ้นมาเที่ยวชม สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้ จึงได้ร่วมกันพัฒนาขึ้นมาตั้งเป็นชุมชนแหล่งท่องเที่ยวจุดชมวิวควนหม้อ โดยมีนายสุริยา ฉาดหลี เป็นประธาน พัฒนาพื้นที่ทางขึ้นที่ลาดชันให้มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นบางจุดทำเป็นบันไดขึ้นเพื่อความสะดวก บางจุดผูกเชือกไว้กับต้นยางเพื่อใช้ดึงขึ้น บางจุดทำเป็นราวไม้ให้จับ และบางจุดทำเป็นเปลเพื่อได้นั่งพักเวลาเหนื่อย ระยะทางจากลานจอดรถเดินขึ้นไปบนควนหม้อ ประมาณ 300 เมตร หลังจากมีการถ่ายรูปลงแชร์ตามโลกโซเชียลปรากฏว่ามีกลุ่มวัยรุ่นและประชาชนแห่กันมาเที่ยวชมกันเป็นจำนวนมาก จนทางชุมชนต้องจัดระเบียบขึ้นมาเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ด้วย โดยเฉพาะวันหยุดเสาร์-อาทิตย์หรือวันหยุดต่างๆ จะมีนักท่องเที่ยวพากันขึ้นไปเที่ยววันละไม่ต่ำกว่า 300 คน เลยทีเดียวค่ะ สำหรับผู้ที่สนใจอยากไปสัมผัสกับทะเลหมอกยามเช้าแบบนี้ เราแนะนำสถานที่แห่งนี้เลยค่ะ

วันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2563

อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดปัตตานี

       นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี พร้อมด้วยนายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอโคกโพธิ์ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมของอุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ก่อนเปิดให้บริการประชาชน และนักท่องเที่ยว ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563





        ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า หลังการผ่อนปรน ระยะที่ 4 ในเรื่องต่าง ๆ จังหวัดปัตตานี จำเป็นต้องขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจ และที่สำคัญ คือ การส่งเสริมการท่องเที่ยว ต้องตรวจความพร้อมของสถานที่ท่องเที่ยวทุกแห่ง ว่ามีมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ ตามหลักการที่คณะกรรมการโรคติดต่อได้กำหนดหรือไม่ พร้อมได้ให้คำแนะนำใน 2 ส่วน คือ คนที่มารอคิว เพื่อที่จะเข้าสถานที่บริการไม่ให้แออัด เน้น 4 เรื่อง สวมหน้ากากอนามัย ไม่แออัด ล้างมือ และเว้นระยะห่าง สิ่งเหล่านี้ให้เตรียมการไว้พร้อม แต่เมื่อมีคนมาเป็นจำนวนมาก ต้องมีการจัดที่อำนวยความสะดวก พักคอยก่อนที่จะเข้าการคัดกรองต่าง ๆ




          
         ในวันนี้ได้เห็นทางเจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติ น้ำตกทรายขาว ได้มีการจัดเตรียมการไว้พร้อม รวมถึงการลงทะเบียนของแอปพลิเคชั่น "ไทยชนะ" ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นใจ ในความปลอดภัยให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว ที่จะเดินทางไปจังหวัดปัตตานี ไม่ว่าท่านจะมาเที่ยวชายหาด ชายทะเล อุทยานน้ำตกทรายขาว หรือร้านค้า โรงแรม ที่พัก ในจังหวัดปัตตานี ก็พร้อมเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ เป็นต้นไป

วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2563

​มะพร้าวแปรรูปออนไลน์

          จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ส่งผลให้หลายอาชีพต้องประสบกับปัญหาและได้รับผลกระทบในวงกว้าง แต่ในวิกฤตก็ยังมีโอกาส เนื่องจาก พบว่ามีอาชีพใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในยุคที่หลายๆ คนต้องอยู่บ้าน หรือต้อง Work From Home วันนี้ดิฉันจะพาคุณผู้ชมไปดูอีกหนึ่งอาชีพของเยาวชนในพื้นที่ จ.นราธิวาสกันค่ะ วันอิสมัย เปาะแซ วัย 24 ปี หนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โรคโควิด 19 ที่ได้พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในยุคโควิด19 จากสวนมะพร้าวของพ่อ โดยเขาเล่าให้ฟังว่า ก่อนจะเกิดโรคโควิด 19 ตนเองได้ขายส่งมะพร้าวให้กับพ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อจากสวน พอได้มาเจอสถานการณ์ของโรคโควิด 19 มะพร้าวราคาลดลงมาก พ่อค้าไม่สามารถมารับซื้อมะพร้าวเพื่อส่งออกนอกพื้นที่ได้




        หลังจากประสบปัญหาในครั้งนี้ ตนเองก็ได้พลิกวิกฤตเป็นโอกาส จึงได้เปลี่ยนความคิด โดยแปรรูปลูกมะพร้าวที่มีราคาตกต่ำ ให้เป็นสินค้าต่างๆ เช่น น้ำมะพร้าวบรรจุขวด วุ้นมะพร้าว และอื่นๆ วางขายหน้าร้านและขายออนไลน์ พร้อมส่งออกทั่วไทย กลายเป็นธุรกิจขนาดย่อมของตัวเองและครอบครัว



         ถึงแม้ว่า วันอิสมัย จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด 19 แต่เขาก็ไม่เคยยอท้อต่อปัญหาที่เกิดขึ้นและพร้อมที่จะ เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส และปรับตัวอยู่เสมอ ในช่วงนี้จะเห็นได้ว่าทุกคนมีการปรับตัวกันมาก ทั้งในรูปแบบของงานที่ทำ วิถีการใช้ชีวิต ซึ่งวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ยังได้เปลี่ยนแปลงและต้องมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในช่วงหลังวิกฤตโควิด 19 เพื่อรับยุค NEW NORMAL

วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2563

เปิดสวนบ้านบาโด จ.ยะลา อนุรักษ์ทุเรียนโบราณหากินยาก อายุกว่า 100 ปี

          ชาวสวนบ้านบาโด จังหวัดยะลา เร่งเก็บผลผลิตทุเรียนพื้นบ้านโบราณ อายุกว่า 100 ปี เนื้อดี รสชาติอร่อย ส่งขาย สร้างรายได้ หลังทยอยสุก ลูกค้าสั่งจอง ครอบครัวชาวบ้านบาโด หมู่ที่ 3 ตำบลยุโป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ซึ่งได้อนุรักษ์ทุเรียนพื้นบ้าน กระดุมเล็ก หรือภาษาถิ่นเรียกว่า "กาจิงบายู" และ "นีแซแกแระ" จากรุ่นสู่รุ่น อายุกว่า 100 ปี ได้เร่งเดินเก็บผลผลิตที่ทยอยสุก และหล่นใต้ต้นจำนวนมาก เพื่อนำไปส่งขายให้กับพ่อค้า แม่ค้าที่ตลาดเมืองใหม่ยะลา และอีกส่วนหนึ่งก็จะนำไปนั่งขายเอง ในราคากิโลกรัมละ 60 บาท



            สำหรับทุเรียนบ้าน บ้านบาโด ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นทุเรียนที่มีรสชาติ หวาน มันส์ อร่อย กินแล้วติดใจ เป็นที่ชื่นชอบสำหรับผู้ที่นิยมรับประทานทุเรียนสุก ทุเรียนพื้นบ้าน เป็นอย่างมาก ซึ่งในแต่ละวันจะมีลูกค้าประจำมาสั่งจองอย่างต่อเนื่อง เมื่อชาวสวนเก็บผลผลิตไปขาย ก็จะขายหมดทุกวัน เนื่องจากปีละครั้งในช่วงฤดูทุเรียน ถึงจะได้ลิ้มชิมรสชาติทุเรียนบ้าน บ้านบาโด นายนรินทร์ ใจจินดา ชาวสวนทุเรียน บอกว่า สำหรับทุเรียนบ้าน นี้ แต่ละต้นจะมีอายุ กว่า 100 ปี เป็นทุเรียนโบราณ ดั้งเดิมเป็นของรุ่นสู่รุ่น ปัจจุบันจะหากินได้ยาก ถ้าไม่อนุรักษ์ไว้ ก็จะไม่มีให้ลูกหลานได้เห็น ซึ่งตนเองได้อนุรักษ์เก็บไว้ 10 ต้น พอทุเรียนรุ่นใหม่เริ่มออก บางส่วนก็ได้ตัดทิ้งไปบ้าง เนื่องจากทุเรียนบ้านจะกินเนื้อที่



         ส่วนอายุแต่ละต้น จะมีตั้งแต่ 80 ปี ไปจนถึง 100 กว่าปี ให้ผลผลิตทุกปี โดยจะปลูกผสมผสาน ร่วมกับทุเรียนหมอนทอง ชะนี ก้านยาว รวม ๆ แล้ว ประมาณ 100 ต้น ในเนื้อที่ 10 ไร่ นอกจากนี้ ก็ยังมีมังคุด ลองกอง ปลูกแซม อีกด้วย ช่วงนี้เป็นช่วงที่ทุเรียนบ้านสุกได้ประมาณ 2-3 อาทิตย์แล้ว บางต้นเก็บต้นเดียวขายผลผลิตได้แล้ว 15,000 บาท ปีนี้ทุเรียนบ้านราคาดี กิโลกรัมละ 60 บาท แต่ละวันจะออกมาเดินเก็บผลผลิตที่หล่นมาใต้ต้น ได้ประมาณวันละ 200 กิโลกรัม ทุเรียนจะหล่นลงมาเรื่อย ๆ ทั้งวัน




            สำหรับทุเรียนบ้านที่เริ่มปลูกมาในสมัยโบราณ นั้น จะใช้เมล็ดปลูกไม่ได้ตอนกิ่ง ทำให้ต้นถาวร แข็งแรง ไม่ต้องดูแลมาก ให้ปุ๋ยอย่างเดียว ใช้ธรรมชาติดูแล ไม่มีสารเคมี ไม่เหมือนทุเรียนรุ่นใหม่อย่างหมอนทอง ส่วนรายได้นั้นจะสู้หมอนทองไม่ได้ ซึ่งตนจะไม่เน้นราคา แต่จะเน้นการอนุรักษ์ รักษาไว้กิน ของโบราณที่หากินยากมากกว่า ในปีนี้ผลผลิตจะน้อยกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากก่อนหน้านี้อากาศร้อน ดอกไม่ค่อยออก รายได้ก็จะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศด้วย ฝนดีก็จะออกผลผลิตดี รายได้ก็จะดีตามไปด้วย



          นายอารีฟุดดีน จารง บอกว่า สำหรับทุเรียนบ้านบาโด เป็นทุเรียนออแกนิก ใช้ธรรมชาติดูแล ลูกไม่ใหญ่มาก สูงสุด 3 กิโลกรัม เล็กสุด 8 ขีด เนื้อน้อย เม็ดใหญ่ หวานอร่อย หากินยาก ปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่จะตัดทิ้ง เพื่อมาปลูกทุเรียนพันธุ์ หมอนทอง ก้านยาว ชะนี ที่มีราคาดีกว่า สำหรับผู้ที่ชอบกินทุเรียน บางคนก็กินหมอนทอง และยังกินทุเรียนบ้านด้วย ราคาไม่แพง ปีละครั้ง ใน 1 เดือน ถึงจะมีให้กิน ถ้าหมดแล้วก็จะต้องรอไปถึงปีหน้า

วันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2563

จ.ยะลา คึกคัก!! เปิดตลาดจำหน่ายพืชผักสวนครัวฯ จากผู้ได้รับผลกระทบ COVID-19

        จังหวัดยะลา โดยนายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดยะลา ได้เปิดจำหน่ายพืชผักสวนครัวและผลผลิตจากชุมชน จากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ณ บริเวณหน้าอาคาร 1 ศาลากลางจังหวัดยะลา ซึ่งได้รับความสนใจจากบรรดาหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง มาเลือกซื้อพืชผักสวนครัว และผลผลิตจากชุมชนกันอย่าง คึกคัก



         สำหรับผักที่มาจำหน่ายก็จะมีมากมายหลายชนิด ทั้งพริก มะเขือ บวบ ผักกวางตุ้ง ผักบุ้ง ฯลฯ ข้าวโพด สับปะรด สะตอ ไข่ไก่ และอื่น ๆ ขณะที่ ในวันนี้ (19 มิ.ย. 63) ซึ่งเป็นวันแรกของการเปิดจำหน่าย นายโชคชัย แก้วป่อง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม และนายกิติพล เวชกุล พัฒนาการจังหวัดยะลา ได้ร่วมมาพบปะ ให้กำลังใจ พร้อมเยี่ยมชมการจำหน่ายพืชผักสวนครัวและผลผลิตจากชุมชน จากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อติดเชื้อไวรัส COVID-19



         ทั้งนี้จากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จังหวัดยะลา เป็นอีกจังหวัดที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว ประกอบกับความตื่นตระหนกของผู้คนที่เกรงว่าสินค้าอุปโภคบริโภคจะขาดแคลน จังหวัดยะลา จึงได้เปิดปฏิบัติการ Quick Win 90 วัน "ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร" เพื่อเป็นการรณรงค์ให้ประชาชนปลูกผักสวนครัวทุกครัวเรือนทุกหมู่บ้าน โดยเน้นการพึ่งตนเองและความสามัคคีของคนในชุมชน เพื่อให้รอดพ้นจากวิกฤตในครั้งนี้ โดยให้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ 90 วัน "ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร" ให้กับทุกครัวเรือน ทำให้พอมี พอกิน พอใช้ มีความสุขพึ่งตนเองได้ โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จทุกครัวเรือนภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ซึ่งในขณะนี้จังหวัดยะลา ได้ดำเนินการแล้วกว่าร้อยละ 90 ของครัวเรือน 



         และเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการดำเนินกิจกรรมฯ ดังกล่าว จังหวัดยะลา จึงได้กำหนดดำเนินโครงการน้อมนำแนวพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน "ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร" ของกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับครัวเรือน ลดรายจ่ายในการดำรงชีวิตของประชาชน และสร้างรายได้ระยะสั้นทั้งในระดับครัวเรือนและระดับกลุ่มอาชีพ




        จึงได้กำหนดให้มีกิจกรรมการจำหน่ายพืชผักสวนครัวและผลผลิตจากชุมชน จากผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทุกวันศุกร์ เวลา 08.00-11.00 น. ณ บริเวณหน้าอาคาร 1 ศาลากลางจังหวัดยะลา โดยเริ่มจำหน่ายครั้งแรกในวันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน 2563 และในอนาคตข้างหน้า จะมีการจัดทำกองทุนเมล็ดพันธุ์ผักของจังหวัดยะลา ต่อไป



วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ทุเรียน 200 ปี จ.สตูล มรดกตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น

       สวนทุเรียนของคุณเหลด บ่ายศรี อายุ 65 ปี เจ้าของสวนทุเรียนบูโล๊ะ หมู่ที่ 4 ตำบลท่าแพ อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล เปิดเผยว่า ตนมีสวนอยู่ประมาณ 12 ไร่ เป็นสวนผสมผสาน ปลูกผลไม้เกษตรอินทรีย์ มีทุเรียนพื้นบ้าน ซึ่งตกทอดจากบรรพบุรุษอายุราว 200 ปี ซึ่งทุเรียน 200 ปีในสวนของตนมีจำนวน 8 ต้น ส่วนใหญ่เป็นทุเรียนพื้นบ้านของจังหวัดสตูล มีหลากหลายสายพันธ์ อาทิ หัวล้าน นมสวรรค์ เขี้ยวหนามใหญ่ เป็นต้น โดยเฉพาะพันธุ์หัวล้านจะเป็นที่ชื่นชอบของชาวบ้าน เนื่องจากเนื้อเยอะ กลิ่นหอม และรสชาติหวานมัน



         คุณเหลด บ่ายศรี ยังบอกอิกว่า แต่ละสายพันธุ์รสชาติจะไม่เหมือนกัน ความหอมมันและลักษณะผลจะแตกต่างกัน ซึ่งขณะนี้ในแต่ละวันจะมีทุเรียนหล่นลงมาให้เก็บไม่ต่ำกว่า 100-200 ผล และนำไปขายราคากิโลกรัมละ 40 บาท เนื่องจากเป็นสวนอินทรีย์จึงเป็นที่นิยมของชาวบ้าน และยังมีความโดดเด่นโดยเฉพาะทุเรียน 200 ปี นอกจากนี้ทางอำเภอท่าแพ ได้มีการสนับสนุน ลงพื้นที่ให้คำแนะนำในการดูแล และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รู้จักทุเรียน 200 ปี ของดีอำเภอท่าแพ ทำให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างจึงมีทั้งพ่อค้าแม่ต่างถิ่นเข้ามารับซื้อถึงสวน รวมทั้งมีการสั่งจองล่วงหน้าอีกด้วย



        สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะลิ้มลองรสชาติทุเรียน 200 ปี จ.สตูล สามารถติดต่อเจ้าของสวน โดยตรงได้ที่เบอร์ 094-354-7875 ได้เลยค่ะ


วันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง กลับมาคึกคักอีกครั้ง ตามมาตรการท่องเที่ยวแบบ New Normal

         บรรยากาศการท่องเที่ยวที่ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา กลับมาคึกคักอีกครั้งหลังรัฐบาลได้มีประกาศมาตรการผ่อนปรนระยะ 3 ทำให้มีพี่น้องประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่หลั่งไหลกลับมาเที่ยวเป็นจำนวนมาก โดยมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกภายใต้มาตรการ social distancing เพื่อลดอัตราความเสี่ยงในการสัมผัสโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข



         นายสานูซี สาและ นักท่องเที่ยวชาวจังหวัดปัตตานี กล่าวถึงความรู้สึกในการมาเที่ยวครั้งนี้ว่า รู้สึกดีใจเป็นอย่างมากที่ได้รัฐบาลมีการผ่อนปรนให้เปิดสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นอีกครั้ง จึงได้พาครอบครัวเข้ามาสัมผัสกับทะเลหมอกอัยเยอร์เวง รู้สึกประทับใจมาก ซึ่งสถานที่แห่งนี้เป็นอีกสถานที่ที่สวยงามมากไม่แตกต่างจากภูมิภาคอื่นของประเทศ ถือเป็นการพักผ่อนหลังจากที่มีการปิดสถานที่ท่องเที่ยวแห่ง นี้กว่า 3 เดือน นอกจากนี้ขอความร่วมมือให้พี่น้องประชาชนที่เข้ามาเที่ยวรักษามาตรการการป้องกัน COVID-19 เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด -19 ยังไม่กลับเข้าสู่สภาวะปกติ อยากให้ทุกคนให้ปฏิบัตตามมาตรการของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัดเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมที่เกิดขึ้นต่อไป



        ด้านนางสาวเมลิสสา ยอดขยัน นักพัฒนาการท่องเที่ยวองค์การบริหารส่วนตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เผยว่า หลังจากที่รัฐบาลได้มีการปลดล็อคในระยะ 3 ทะเลหมอกอัยเยอร์เวงก็ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2563 และหลั่งไหลเข้ามาอย่างไม่ขาดสายไม่ต่ำกว่า 1,000 คน ต่อวัน ภายใต้มาตรการในการรองรับการป้องกัน COVID-19 ให้กับนักท่องเที่ยวได้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ทั้งใส่แมสก์ วัดอุณหภูมิและมีบริการเจลล้างมือ รวมถึงมีการสแกน QR Code ไทยชนะเช็คอิน-เช็คเอาท์ เพื่อให้ทราบถึงปริมาตรของนักท่องเที่ยวก่อนเข้าชมทะเลหมอกหากมีจำนวนมากเกินไป จะมีการกระจายให้มีระยะห่าง 12 เมตร ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขที่ให้ท่องเที่ยวแบบ New Normal ทั้งนี้ขอให้ทุกคนปฏิบัติตาม และมีจิตสำนึกนึกถึงส่วนร่วมเป็นหลักเพื่อความปลอดภัยของเราทุกคนต่อไป



วันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2563

บ่อน้ำร้อนเบตง เปิดให้บริการแล้ว พร้อมท่องเที่ยววิถีใหม่แบบ New Normal เทรนด์ใหม่ยุค COVID-19

         ที่บ่อน้ำร้อนเบตง ตั้งอยู่ในหมู่บ้านบ่อน้ำร้อน ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เริ่มมีนักท่องเที่ยวในพื้นที่และจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่างสวมหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า เดินทางสัมผัสบรรยากาศบ่อน้ำร้อนเบตง แหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแห่งนี้ หลังการท่องเที่ยวชะงักงันปิดให้บริการกว่า 3 เดือนจากสถานการณ์ การระบาดของโรค COVID-19 โดยนักท่องเที่ยวต่างซื้อไข่ไก่และไข่นกกระทานำมาต้มบ่อที่กำหนด พร้อมอาบน้ำแร่ แช่ออนเซ็น ถ่ายรูปเช็คอิน อวดลงโซเชียลก่อนใครว่า บ่อน้ำร้อนเบตง เปิดให้บริการแล้ว ท่องเที่ยววิถีใหม่แบบ New Normal เทรนด์ใหม่ยุค COVID-19 หลังมีมาตรการการผ่อนปรน ระยะที่ 3 เปิดแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค COVID-19 อย่างเคร่งครัด



         นางสาวนูรอัลวานี สะนิ และนายอาฟฟาน สองนักท่องเที่ยวจากจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า หลังจากมีการคลายล็อก เฟส 3 ให้ประชาชนเดินทางข้ามจังหวัดได้ ก็ได้ชวนเพื่อน ๆ และครอบครัวเดินทางมายังสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติของอำเภอเบตง หลังจากที่ได้สัมผัสทะเลหมาอกในยามเช้าแล้ว ก็เดินทางมาสัมผัสบ่อน้ำร้อนเบตงกันต่อ ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สถานที่รอบ ๆ มีการปรับภูมิทัศน์ สถานที่มีความสะอาดมากขึ้น ก็อยากฝากให้นักท่องเที่ยวทุกคน เที่ยวแบบ New Normal ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค COVID-19 อย่างเคร่งครัด กันด้วยนะ



          สำหรับบ่อน้ำร้อนเบตง เป็นแหล่งน้ำแร่จากธรรมชาติที่ผุดจากใต้ดิน อุดมด้วยแร่ธาตุนานาชนิด มีตาน้ำอยู่ในสระใหญ่ ซึ่งน้ำไหลหมุนเวียนตลอดเวลา มีการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จัดทำป็นสระน้ำร้อนสาธารณะขนาดกลางสำหรับแช่เท้า หรือตักน้ำอาบ การอาบน้ำแร่ แช่น้ำร้อน จะช่วยบรรเทาความปวดเมื่อยล้า บำรุงผิวพรรณ และรักษาโรคผิวหนัง โรคปวดเมื่อย โรคเหน็บชา โดยกิจกรรมยอดนิยม คือ ต้มไข่ในน้ำแร่ อุณหภูมิ 80 C ใช้เวลาเพียง 7-10 นาที หรือจะนานกว่านั้นนิดหน่อยก็ได้ไข่ต้มสุก ทานคู่กับซอสแล้วแต่ชอบ โดยบ่อน้ำพุร้อนเบตง เปิดให้บริการฟรี และควรปฏิบัติตามข้อควรระวัง ก่อนลงแช่น้ำร้อน โดยมีพนักงานรักษาความปลอดภัย สลับเวรยาม คอยอำนวยสะดวกดูแลรักษาความปลอดภัย ตลอด 24 ชั่วโมง ปฏิบัติงานคัดกรอง และควบคุมนักท่องเที่ยวให้ปฏิบัติตามมาตรการอย่างต่อเนื่อง และทั่วถึง