วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2559

แข่งขันนกเขาชวาเสียงใต้ ประเพณีระดับอาเซียน



ความเป็นมา

คนไทยนิยมเลี้ยงและนิยมเล่นนกเขาชวามาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในอดีตจะนิยมเลี้ยงและเล่นกันในราชสำนัก ข้าราชบริพาร ขุนนาง คหบดี และประชาชนที่สูงอายุเท่านั้น มักจะจัดการแข่งขันในงานนักขัตฤกษ์ และงานชมรม สมาคมเกี่ยวกับนกเขาชวารวมทั้งหน่วยงานต่าง ๆ ก็มักจัดให้มีการแข่งขันเป็นครั้งคราว แต่ปัจจุบันการเลี้ยงและการจัดการแข่งขันนกเขาชวาเสียง แพร่กระจายมาสู่พ่อค้า ประชาชน และบุคคลในระดับต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล และสงขลาบางส่วน ประชาชนนิยมเลี้ยงและเล่นนกเขาชวามาช้านาน โดยกระจัดกระจายอยู่ตามหมู่บ้าน ตำบลต่าง ๆ และจัดให้มีการแข่งขันในกลุ่มเล็ก ๆ เฉพาะที่สนใจเท่านั้น ไม่มีหลักฐานปรากฏยืนยันได้ว่าการจัดการแข่งขันนกเขาชวาเสียงเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อใด แต่เป็นที่ทราบกันดีในหมู่นักเลงนกเขาว่า การแข่งขันนกเขาชวาเสียงที่ยิ่งใหญ่เป็นที่สนใจของผู้นิยมเลี้ยงนกมากที่สุด คือ การแข่งขันนกเขาชวาเสียงชิงถ้วยพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำในช่วงต้นเดือนธันวาคมของทุกปี ณ สนามโรงพิธีช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดยะลา


ในปี พ.ศ.2529 เทศบาลเมืองยะลา ร่วมกับจังหวัดยะลา ชมรมผู้เลี้ยงนกเขาชวาเสียงจังหวัดยะลา และชมรมผู้เลี้ยงนกเขาชวาเสียงภาคใต้ โดยการสนับสนุนของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ร่วมกันพัฒนาสนามแข่งขัน และกติกาการแข่งขันให้มีมาตรฐานเพิ่มขึ้น ตลอดจนความคิดที่จะพัฒนาเสริมสร้างประโยชน์ให้กับท้องถิ่นในด้านเศรษฐกิจจึงได้กำหนดให้มีการแข่งขันนกเขาชวาเสียงชิงชนะเลิศในระดับอาเซียน ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2529 ณ สนามโรงพิธีช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดยะลา โดยการใช้ชื่อในการจัดการแข่งขันว่า "การจัดงานแข่งขันนกเขาชวาเสียงชิงแชมป์กลุ่มประเทศอาเซียนครั้งที่ 1" สาเหตุที่ใช้คำว่า "อาเซียน" เพราะมีประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงเข้าร่วมแข่งขันด้วย คือ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และบรูไน ซึ่งประเทศดังกล่าวนี้มีวิถีชีวิต วัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของไทย ได้มีการแลกเปลี่ยน สนับสนุนเกื้อกูลกันในเรื่องต่าง ๆ มาตลอด ที่สำคัญคือ มีความชื่นชอบและนิยมเลี้ยงนกเขาชวาเสียงเหมือนกัน จึงเกิดเป็นความสัมพันธ์ทางสังคม คือ สังคมนกเขาชวาเสียงตลอดมา


การจัดการแข่งขันนกเขาชวาเสียงครั้งแรกมีผู้ส่งนกเข้าแข่งขันมากถึง 1,206 นก ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในหมู่ผู้นิยมเสียงนกเขาชวาเสียง และสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดยะลา และประเทศไทยเป็นอย่างมาก วงการนกเขาชวาเสียงมีความตื่นตัว มีการซื้อหา และจำหน่ายกันอย่างแพร่หลาย ตลอดจนขยายกิจการฟาร์มเพาะเลี้ยงนกเขาชวาเสียงเพิ่มขึ้น เกิดธุรกิจนกเขาชวาเสียงและสินค้าอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการเลี้ยงนกเขาชวาเสียงเกิดขึ้นตามมาเช่น ข้าวเปลือกนกเขา ดอกหญ้า กรงนกและอุปกรณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงดูแลนก หลังจากนั้นการแข่งขันนกเขาชวาเสียงอาเซียน ของจังหวัดยะลาได้จัดให้มีการแข่งขันตลอดมาเป็นประจำทุกปี โดยได้พัฒนากิจกรรมต่าง ๆ ตลอดมา จนกระทั่งครั้งที่ 6 ได้เปลี่ยนชื่อในการจัดการแข่งขันจาก "การจัดงานแข่งขันนกเขาชวาเสียงชิงแชมป์กลุ่มประเทศอาเซียน" เป็น "จัดงานแข่งขันนกเขาชวาเสียงอาเซียน ครั้งที่…….….." เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันปีพ.ศ.2543 ได้จัดการแข่งขันครั้งที่14 รวมมีนกเข้าร่วมแข่งขันมาแล้วทั้งสิ้นประมาณ 30,000 นก


บรรยากาศความคึกคัก สนุกสนาน รอยยิ้มที่ทักทายกันด้วยความรัก ความเป็นมิตร ของผู้คนมากมายที่ไม่ได้คำนึงถึงเชื้อชาติ ศาสนาและฐานะ พร้อมกับความหวัง จะเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนมีนาคมของทุก ๆ ปี ในงานการจัดการแข่งขันนกเขาชวาเสียงอาเซียนของจังหวัดยะลา จนถือเป็นประเพณีของจังหวัดยะลาและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้บรรจุงานแข่งขันนกเขาชวาเสียง อาเซียนลงในปฏิทินการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเผยแพร่ไปสู่สายตาชาวโลกอีกด้วย



ความสำคัญ

งานแข่งขันนกเขาชวาเสียงอาเซียนของจังหวัดยะลานับเป็นกิจกรรมระดับชาติกิจกรรมหนึ่งที่นอกจากจะเป็นสื่อมิตรภาพที่สามารถเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างเชื้อชาติ ศาสนา ฐานะ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน ได้สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ ตลอดจนก่อให้เกิดความรัก ความเข้าใจและความร่วมมือซึ่งกันและกันแล้ว กิจกรรมดังกล่าวยังช่วยเสริมสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น ทำให้เศรษฐกิจของภาคใต้ดีขึ้น ชาวบ้านหลายครอบครัวมีรายได้จากการผสมนกเขาชวาขายจนสามารถสร้างบ้านใหม่ สามารถซื้อรถกระบะสำหรับบรรทุกนกเขาชวาไปขายต่างถิ่นได้ ส่วนผู้มีฝีมือก็ประดิษฐ์กรงนกเขาชวาออกขายได้ราคาดีตามความประณีตของฝีมือ หลายคนเปลี่ยนอาชีพจากการทำเฟอร์นิเจอร์มาทำกรงนกเขาชวาขาย บางคนเป็นข้าราชการแต่ทำเป็นอาชีพเสริม ช่างตัดเย็บเสื้อผ้าหลายคนเปลี่ยนมาเย็บผ้าคลุมกรงนกเขาชวาเสียง ซึ่งมีรายได้มากกว่าตัดเย็บเสื้อผ้าหลายเท่า 


นอกจากนี้ในช่วงฤดูกาลของการจัดการแข่งขัน ร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม จะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากผู้คนทั่วทุกสารทิศทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดยะลาและจังหวัดใกล้เคียง นับได้ว่านกเขาชวาเสียง และการจัดงานแข่งขันนกเขาชวาเสียงอาเซียนของจังหวัดยะลา มีบทบาทในการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของชาวบ้านในท้องถิ่นและประเทศชาติได้เป็นอย่างดีตลอดจนได้เสริมสร้างความรักสามัคคีให้เกิดขึ้นระหว่างคนในชาติและกลุ่มประเทศในอาเซียนอีกด้วย 


นอกจากนี้คณะกรรมการจัดการแข่งขันได้นำรายได้จากการจัดกิจกรรมดังกล่าวมอบเป็นทุนการศึกษาให้กับนักเรียนในโรงเรียนสังกัดเทศบาลที่ยากจน และทุนการศึกษาการสอบแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกชิงทุนนกเขาชวาอาเซียน ให้กับสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดยะลาเป็นประจำทุกปี




------------------------


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น