"บัณฑิตแรงงาน" ถูกเรียกว่า 'อัศวิน'
ของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้
ซึ่งเป็นพื้นที่อ่อนไหวต่อด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
อีกทั้งประชาชนไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านแรงงานโดยง่าย
ที่ผ่านมาเพื่อให้การดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงแรงงานได้จัดตั้งศูนย์แรงงานประจำอำเภอขึ้นในพื้นที่
4 จังหวัด โดยจ้าง "บัณฑิตแรงงาน"
ในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จังหวัดปัตตานี ยะลา
นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ได้แก่ อำเภอจะนะ เทพา
นาทวี และสะบ้าย้อย ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี
ปัจจุบันมีจำนวน 380 คน ประจำอยู่ที่อำเภอและตำบล
"บัณฑิตแรงงาน"
จึงเป็นสื่อกลางสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวงแรงงานและนโยบายของรัฐบาล
พร้อมนำภารกิจและบริการของกระทรวงแรงงานสู่ประชาชนได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง
โดยเฉพาะภารกิจด้านความมั่นคงของจังหวัดชายแดนภาคใต้และสร้างความเข้มแข็งในการทำงานให้อาสาสมัครแรงงานในระดับพื้นที่
พร้อมทั้งช่วยในการขยายเครือข่ายอาสาสมัครแรงงานให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
ด้วยจิตสำนึกรักความสามัคคี มีความเสียสละเพื่อชุมชนและหมู่บ้านของตนเอง
ในโอกาสที่กระทรวงแรงงานได้มีการจัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างศักยภาพบัณฑิตแรงงาน
ระหว่างวันที่ 27-29 กรกฎาคม 2559 ณ
โรงแรมพีซลากูน่า รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดกระบี่ ได้มีโอกาสได้พูดคุยกับ
"บัณฑิตแรงงาน" ทั้ง 4
จังหวัดที่ได้บอกเล่าเรื่องราวการทำงาน ความภาคภูมิใจของการทำหน้าที่
กระทั่งสามารถสร้างงาน
สร้างรายได้และสร้างความมั่นคงในอาชีพให้เกิดกับพี่น้องประชาชนในตำบล และหมู่บ้าน
นายมาหามะรอสาลี มะลี บัณฑิตแรงงาน จ.นราธิวาส
เล่าว่า ปัจจุบันเป็นบัณฑิตแรงงานมาร่วม 9 ปี ซึ่งก่อนที่จะมาเป็นบัณฑิตแรงงาน
เคยทำงานกับหน่วยงานอื่นๆ มาบ้าง แต่ผลประโยชน์ที่ชาวบ้านในพื้นที่จะได้รับ
ตนเองมองว่ายังไม่เต็มที่ แต่เมื่อมาอยู่กับกระทรวงแรงงาน โดยนโยบายของกระทรวงฯ
สามารถนำโครงการต่างๆ มาลงพื้นที่ได้ นั่นคือข้อแตกต่างจากหน่วยงานอื่น
อีกทั้งบัณฑิตแรงงานสามารถที่จะส่งเสริมให้ชาวบ้านมีอาชีพ มีรายได้และมีงานทำจริงๆ
โดยโครงการต่างๆ ที่ลงมาในพื้นที่โดยงบประมาณจากกระทรวงแรงงาน อาทิ
งบจากแรงงานจังหวัด งบของศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน ที่จะมีการฝึกอาชีพให้ชาวบ้านในพื้นที่
ส่งเสริมรายได้ให้กับชาวบ้านและกลุ่มต่างๆ งบของจัดหางาน
เป็นต้นในส่วนของโครงการที่ได้ใจประชาชนในพื้นที่ คือ โครงการสำนึกรักบ้านเกิด
งบประมาณไม่เยอะแต่ว่าสิ่งที่ประชาชนได้รับ เป็นความรู้สึกทางจิตใจ
เพราะส่วนใหญ่จะลงที่มัสยิด วัด โรงเรียน อาทิ ปูพื้น ทาสี
การต่อเติมซ่อมแซมโรงเรียน เป็นต้น ทั้งหมดคือคนในหมู่บ้านมาช่วยกันรวมตัวกันทำ
นอกจากนี้ การทำให้ชาวบ้านสามารถสร้างอาชีพได้ด้วยตนเอง
สร้างความภูมิใจแก่คนทำงานอย่างเรา อาทิ การทำขนมเบเกอรี่
จากชาวบ้านที่ไม่เคยทำเบเกอรี่ เขาสามารถจัดตั้งกลุ่มและรวมกลุ่ม
จัดทำบรรจุภัณฑ์อย่างดี โดยการแนะนำของบัณฑิตแรงงาน ส่งขายตามร้านค้าต่างๆ
รวมถึงหน่วยงานราชการต่างๆ สร้างรายได้เพิ่มได้อย่างน่าภูมิใจ อย่างไรก็ตาม
การที่บัณฑิตแรงงานในพื้นที่ทำงาน เรามีจุดแข็งและมีจุดยืน คือ ความเป็นลูกหลาน
ความเป็นคนในพื้นที่ สามารถไปบ้านต่อบ้านโดยข้อมูลที่ได้รับก็คือ
ข้อมูลที่เป็นจริงทุกอย่าง ไม่มีการหลอกโดยชาวบ้านยินดีจะให้ความร่วมมือเต็มที่
สำหรับสิ่งที่ได้จากการจัดโครงการฯ
ของกระทรวงแรงงานครั้งนี้ คือ ได้รับรู้สภาพปัญหาของแต่ละจังหวัด แต่ละพื้นที่
ที่ได้มีโอกาสได้มาพูดคุย เพื่อสามารถปรับแก้และนำไปใช้ในพื้นที่ของตนเองได้
ถึงแม้ว่าสภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่จะไม่เหมือนกัน แต่อาจจะมาปรับใช้ในพื้นที่เราได้
"บัณฑิตแรงงานอย่างเรา
แม้จะเป็นเพียงฟันเฟืองเล็กๆ ในพื้นที่ แต่เป็นกลไกที่สำคัญ
ในการช่วยกระทรวงแรงงานได้มากครับ อยากให้ผู้บริหารช่วยให้การสนับสนุน
หากเป็นไปได้ต้องการความมั่นคงในอาชีพ"
นายแวนารง แปเฮาะอีเล บัณฑิตแรงงาน จ.ปัตตานี
เล่าว่า ก่อนที่จะมาเป็นบัณฑิตแรงงาน
ทำงานอยู่งานวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
แต่ด้วยความรู้สึกว่าเราต้องกลับมาอยู่ในพื้นที่ ความเป็นภูมิบุตร
เป็นต้นกล้าของภูมิแผ่นดิน จึงตัดสินใจมาสมัครเป็นบัณฑิตแรงงาน เมื่อ 2
ปีก่อน และสิ่งที่ได้จากความเป็นบัณฑิตแรงงาน คือ
ได้นำประโยชน์จากภารกิจบริการต่างๆ
ของกระทรวงแรงงานไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในพื้นที่ของบ้านเรา ซึ่งคนในพื้นที่
ก็คือ ญาติพี่น้อง เครือญาติเดียวกันที่อยู่ในพื้นที่ด้วยกัน
ในส่วนของปัญหาที่มองเห็นในปัจจุบันเป็นเรื่องของภาวะการว่างงานของเยาวชนในพื้นที่ค่อนข้างจะมากขึ้น
ซึ่งสุดท้ายเราช่วยเขาได้แค่ลงทะเบียนผู้ว่างงาน
เราไม่สามารถที่จะไปรับปากในความช่วยเหลืออื่นได้
เพราะตำแหน่งที่มีอยู่ไม่ได้เข้มแข็งพอที่จะช่วยเหลือได้โดยตรง
แต่จะแก้ไขปัญหาด้วยการส่งต่อให้กับหน่วยงานที่ในสังกัดกระทรวงฯ ที่รับผิดชอบ
ซึ่งนับว่าสามารถแก้ไขไปได้ในระดับหนึ่ง เช่น การ
ส่งผู้ว่างงานไปฝึกอบรมกับศูนย์พัฒนาฝืมือแรงงาน เป็นต้น
"กับคำว่าบัณฑิตแรงงาน
ถึงแม้ว่าภารกิจหรือหน้าที่หลัก คือตัวแทนกระทรวงแรงงานที่อยู่ในตำบล
แต่บัณฑิตแรงงานอย่างเราก็เปรียบเหมือนฟันเฟืองตัวเล็กๆ ที่อยู่ในชุมชน ในพื้นที่
บางปัญหาเราแก้ไขด้วยตนเองไม่ได้
เราเองยังมีความรู้สึกว่ายังรับปากในการที่จะแก้ไขปัญหากับชาวบ้านไม่ได้
อาจจะเป็นเพราะตัวเราเอง ความมั่นคงในอาชีพของตัวเราเองด้วยส่วนหนึ่ง"
นางสาวมูรนี โต๊ะลง บัณฑิตแรงงาน จ.ยะลา
เล่าว่า ทำงานบัณฑิตแรงงานมาราว 8 - 9 ปี
เพราะอยากทำงานที่บ้านไม่อยากไปอยู่ไกลบ้าน
และที่สำคัญอยากจะกลับมาทำงานในบ้านเกิด เพราะว่ามองเห็นปัญหาต่างๆในบ้านเรา อาทิ
กรณีว่างงานซึ่งก่อนหน้านี้เคยตกอยู่ในสภาวะแบบนั้น ทั้งนี้ ปัญหาหลัก ๆ
ในจังหวัดที่มองเห็น ก็คือ ปัญหาการว่างงาน
ซึ่งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานทุกหน่วยก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด
อาทิ การจัดนัดพบแรงงาน ที่มีการฝึกอบรมอาชีพ การให้บริการของประกันสังคม เป็นต้น
สำหรับโครงการเด่นๆ ในจังหวัดที่ผ่านมา เช่น โครงการจ้างงานเร่งด่วน
โครงการสำนึกรักบ้านเกิด ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีมาก
เพราะบัณฑิตแรงงานคือคนในพื้นที่ซึ่งจะมีความสนิทสนมทั้งในระดับผู้นำมาจนถึงชาวบ้าน
ประชาชน ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับกลับมาดีมาก
"บัณฑิตแรงงานทุกคนตั้งใจ ทุ่มเท และจริงจังมากในการทำหน้าที่บัณฑิตแรงงาน
สร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่รัฐบาลและกระทรวงแรงงาน
รวมถึงพี่น้องประชาชนในพื้นที่มานาน ตนเองที่ทำงานมา 9 ปี
ก็ต้องการความมั่นคง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผลการทำงานที่ผู้ใหญ่จะพิจารณา
ซึ่งมั่นในว่าทุกคนทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่จริงๆ"
นางสาวสาริศา ลังคง บัณฑิตแรงงาน จ.สงขลา
เล่าว่า เป็นคนในพื้นที่ที่ก็ชอบอาสาทำงานให้คนในพื้นที่อยู่แล้ว
โดยมีแรงบันดาลใจคือ อยากให้บ้านเกิดมีงานทำ มีรายได้ และสามารถพึ่งพาตนเองได้
อยากทำอะไรก็ได้ให้คนในพื้นที่ของเรามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเมื่อมาอยู่กับกระทรวงแรงงานเราสามารถที่จะนำภารกิจงานต่างๆของกระทรวงแรงงานมาลงพื้นที่ได้จริงทำให้มีความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่บัณฑิตแรงงานอย่างเต็มที่
ปัจจุบันทำงานร่วม 9 ปีปัญหาส่วนมากในภารกิจงานของกระทรวงแรงงาน
ถ้าเราไม่นำข้อมูลข่าวสาร หรือการประชาสัมพันธ์ที่เข้าถึงประชาชน
คนในพื้นที่ไม่มีทางทราบเลย
แต่เมื่อมีบัณฑิตแรงงานเข้ามาทำให้ประชาชนและคนในพื้นที่ทราบว่ากระทรวงแรงงานมีหน่วยงานอะไรบ้าง
ถือว่าบัณฑิตแรงงานเป็นสื่อกลางที่เชื่อมต่อระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
สำหรับการจัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างศักยภาพบัณฑิตแรงงานในครั้งนี้
ทำให้ได้คำว่าเพื่อนร่วมงาน รวมถึงได้มีความคิดใหม่ๆ จากมุมมองของแต่ละคน ทั้ง 380 คน
ทุกคนต่างคิด ต่างมีมุมมองที่แตกต่างกัน เมื่อมารวมกันสิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ
แรงบันดาลใจ ความสามัคคีและรอยยิ้มของเพื่อนทั้ง 4
จังหวัด รวมถึงการแลกเปลี่ยนปัญหาที่แต่ละจังหวัดพบเจอ และสิ่งที่สำคัญ คือ
สามารถนำความคิดของแต่ละคนมาผสมผสานเป็นทางเดียวกันเพื่อเดินไปด้วยกัน
ทางเดินเดียวกันเพื่อหวังให้ประชาชนในพื้นที่ของเรา ได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ซึ่งเมื่อประชาชนอยู่ดีและมีรายได้ก็จะทำให้เกิดความสุขของคนในพื้นที่ที่ได้ชื่อว่าพี่น้องของเรา
"บัณฑิตแรงงาน" ฟันเฟืองเล็กๆ
ที่สามารถสร้างสิ่งยิ่งใหญ่แก่ประเทศชาติ สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง
ยั่งยืนให้เกิดแก่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้
-----------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น