วันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2559

มัสยิดตะโละมาเนาะ สถาปัตยกรรมเก่าแก่กว่า 300 ปี


บ้านตะโละมาเนาะ ตำบลลุโบะสาวอ ห่างจากจังหวัดนราธิวาส เป็นระยะทาง 25 กิโลเมตร ตามทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 42 แล้วแยกที่บ้านบือราแง นายวันฮูเซ็น อัส-ซานาวี ผู้อพยพมาจากบ้านสะนอยานยา จังหวัดปัตตานี เป็นผู้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2167 เริ่มแรกสร้างหลังคามุงใบลาน ต่อมาเปลี่ยนเป็นกระเบื้องดินเผา ลักษณะของมัสยิดมีความแตกต่างจากมัสยิดทั่วไป คือเป็นอาคาร 2 หลังติดต่อกัน สร้างด้วยไม้ตะเคียนทั้งหลัง ลักษณะการสร้างจะใช้ไม้สลักแทนตะปู รูปทรงของอาคารเป็นแบบไทยพื้นเมืองประยุกต์เข้ากับศิลปะจีน และมลายูออกแบบได้ลงตัว ส่วนเด่นที่สุดของอาคาร คือ เหนือหลังคาจะมีฐานมารองรับจั่วบนหลังคาอยู่ชั้นหนึ่ง ส่วนหออาซานซึ่งมีลักษณะเป็นเก๋งจีน ก็ตั้งอยู่บนหลังคาส่วนหลัง ฝาเรือนใช้ไม้ทั้งแผ่นแล้วเจาะหน้าต่าง ส่วนช่องลมแกะเป็นลวดลาย ใบไม้ ดอกไม้สลับลายจีน


 จากคำบอกเล่าของผู้สูงอายุในหมู่บ้านเกี่ยวกับประวัติการสร้างมัสยิดแห่งนี้สรุปได้ว่า เนื่องจากเกิดสงครามระหว่างเมืองปาตานีกับกรุงศรีอยุธยา ท่านวันฮูเซ็น อัสซานาวี ซึ่งเป็นอาจารย์สอนศาสนาที่มีลุกศิษย์มากมายรวมทั้งเจ้าเมืองปาตานี ด้วยความรักและความห่วงอาจารย์ของเจ้าเมืองปาตานี จึงได้สั่งให้ท่านวันฮูเซ็นอพยพชาวบ้านและลูกศิษย์บางส่วนมาจากบ้านสะนอยานยา (ปัจจุบันอยู่ใน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี) มาอยู่ในที่ปลอดภัย โดยตะโละมาเนาะถือเป็นทำเลที่เหมาะสำหรับการตั้งหลักแหล่ง เพราะเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์ป่านานชนิด สามารถปลูกพืชผักได้อย่างงอกงาม จากนั้นท่านจึงสร้างมัสยิดแห่งนี้ขึ้นมา


คำว่า ตะโละ เป็นคำภาษามลายู แปลว่าอ่าว หรือแผ่นดินซึ่งเว้าเข้าไปในเชิงเขา ส่วนคำว่า มาเนาะ ชาวบ้านบางคนบอกว่าเป็นชื่อต้นไม้ โดยในพจนานุกรม ระบุว่า มานุกแปลว่านกหรือไก่ ดังนั้น ตะโละมาเนาะ ก็คือถิ่นของนกหรือถิ่นของไก่ เนื่องจากหมู่บ้านแห่งนี้อยู่ติดริมลำธาร ซึ่งในอดีตเป็นที่อาศัยหรือแหล่งหากินของนกและไก่ป่า รวมทั้งสัตว์ป่าอื่นๆอีหลายชนิด


มัสยิดนี้แตกต่างจากมัสยิดอื่นตรงที่สร้างด้วยไม้ตะเคียนทั้งหลัง อาคารจะใช้สลักไม้ยึดแทนตะปูหรือสกรูเหล็ก เป็นการสร้างแบบศิลปไทยพื้นเมืองประยุกต์ ผสมผสานกับศิลปแบบจีนและมลายู ตัวมัสยิดสร้างเป็นอาคาร 2 หลังติดกัน มีขนาด 14.20×6.30 เมตร ส่วนที่เด่นที่สุดเห็นจะเป็นหลังคา หลังแรกจะมีหลังคา 3 ชั้น มุงด้วยกระเบื้องดินเผา หลังคาชั้น 3 มีโดมเป็นเก๋งจีน ส่วนที่ 2 จะมีหลังคา 2 ชั้นหลังคาชั้นที่ 2 เป็นจั่วรูปฐานรองรับอยู่บนหลังคาชั้นแรก รอบฐานจะแกะสลักเป็นเถาก้าน เจาะเป็นลวดลายต่าง ๆ อย่างสวยงาม ด้านในจะมีบันไดซึ่งสมัยก่อนใช้ขึ้นไปบนหออะซานหลังคาชั้นที่ 2 เพื่อตะโกนเรียกละหมาด


เมื่อประมาณ 30 กว่าปีมาแล้ว อาคารของมัสยิดหลังเก่าถูกต่อเติม ขยายเนื้อที่ในการใช้สอยให้กว้างขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของผู้คนที่หลั่งไหลกันมาประกอบศาสนกิจที่มัสยิดแห่งนี้ การก่อสร้างยังอิงความรู้สึกของผู้คนอยู่ กรมศิลปากรจึงเนรมิตอาคารหลังใหม่ที่เชื่อมต่อจากอาคารหลังเก่า ด้วยความพิถีพิถันประณีตและดูกลมกลืนมากที่สุด


ปัจจุบันมัสยิดนี้ยังใช้เป็นสถานประกอบศาสนกิจของชาวมุสลิม หากต้องการเข้าชมภายในต้องได้รับอนุญาตจากโต๊ะอิหม่ามประจำหมู่บ้าน โดยทั่วไปเข้าชมได้บริเวณภายนอกเท่านั้น นอกจากนั้นหมู่บ้านตะโละมาเนาะในอดีตยังเป็นแหล่งผลิตคัมภีร์อัลกุรอาน ที่เขียนด้วยมือด้านข้างมัสยิดมีสุสานชาวมุสลิม ถ้าเป็นของผู้ชายหินที่ประดับอยู่บนหลุมฝังศพจะมีลักษณะกลม ถ้าเป็นของผู้หญิงจะเป็นหินเพียงซีกเดียว


-----------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น