วันจันทร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2561

“สังคมพหุวัฒนธรรม” สังคมที่อยู่ร่วมกันได้บนพื้นฐานความแตกต่าง


    ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ รับมอบภารกิจในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้จากรัฐบาล 4 ประการ คือ ลดความรุนแรงและแสวงหาทางออกการขัดแย้งด้วยสันติวิธี, การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่, สร้างสังคมพหุวัฒนธรรมที่มีความเข้มแข็ง, และสร้างความเข้าใจให้คนในพื้นที่และนอกพื้นที่ ในวันนี้เราจะพาคุณผู้ฟังไปรับฟังข้อมูลจากหนึ่งแนวทางที่กล่าวถึงนี้ก็คือการสร้างสังคมพหุวัฒนธรรม จะเป็นอย่างไรไปรับฟังพร้อมๆ กัน


      สังคมพหุวัฒนธรรม คือ สังคมที่ผู้คนอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายและความแตกต่างอย่างกลมกลืนกัน ซึ่งความแตกต่างนี้สามารถแบ่งได้หลากหลายประเภท ทั้งเชื้อชาติ ชาติพันธุ์, ศาสนา ความเชื่อ, ภาษา, วิถีการดำเนินชีวิต, และขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม จารีต และประเพณี
นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. เล่าให้ฟังว่า สังคมพหุวัฒนธรรม ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างที่อยู่ในความดูแลของ ศอ.บต. ประกอบด้วย สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีหลากหลาย เนื่องจากคนในพื้นที่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน อยู่ร่วมกับคนไทยเชื้อสายไทย และคนไทยเชื้อสายมลายู ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธและอิสลาม จะมีบ้างบางส่วนที่นับถือศาสนาซิกข์และคริสต์ และผู้คนในพื้นที่ก็ต่างอยู่ร่วมกันได้ โดยการอยู่ร่วมกันนี้มีด้วยกัน 2 ส่วน คือ สามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้ และสามารถแยกทำกิจกรรมของแต่ละกลุ่มได้ด้วยเช่นกัน เช่น พี่น้องมุสลิมจะเข้ามัสยิดละหมาดทุกวันศุกร์ เดือนหนึ่งก็เข้ามัสยิด 4 ครั้ง ในขณะที่พี่น้องไทยพุทธก็เข้าวัดทุกวันพระ เดือนหนึ่งก็ 4 ครั้งเช่นกัน นอกจากนี้ ศอ.บต.ยังส่งเสริมให้พี่น้องมุสลิมได้ไปนครเมกกะ เช่นเดียวกับที่ส่งเสริมให้พี่น้องไทยพุทธไปสังเวชนียสถาน แม้จะแยกกันทำกิจกรรมแต่ก็มีความเชื่อมโยงของวัฒนธรรมและความเชื่อที่เหมือนกัน ในขณะที่กิจกรรมที่ทำร่วมกันก็มีเช่นวัฒนธรรมทางอาหารแม้พี่น้องมุสลิมจะมีข้อกำหนดที่ต้องรับประทานอาหารฮาลาลเท่านั้น ซึ่งหมายถึงอาหารที่สะอาด ถูกหลักอนามัย มีกรรมวิธีการปรุงและการทำตามหลักของศาสนาอิสลาม แต่พี่น้องไทยพุทธก็สามารถรับประทานอาหารนี้ได้ อีกทั้งยังมีคนที่ปรุงอาหารฮาลาลได้ด้วย รวมถึงมีวันสำคัญ และวัฒนธรรมหลายอย่างที่ทั้งชาวไทยพุทธและมุสลิมมาร่วมกันทำ


      “ส่วนที่ไทยพุทธและมุสลิมทำร่วมกันได้ก็อย่างเช่น วันเฉลิมพระชนมพรรษา วันสำคัญต่างๆ ของชาติก็จะร่วมกันทำกิจกรรมได้ แต่ถ้าละหมาดขอพรให้ในหลวงก็ต้องไปละหมาดที่มัสยิด คือการเป็นอยู่อย่างนี้ถ้อยทีถ้อยอาศัยต่อกัน เพราะฉะนั้นร้านอาหาร ข้าวของเครื่องใช้ สามารถไปใช้จ่ายร่วมกันได้เพราะอยู่อย่างพี่อย่างน้องจริงๆ พหุวัฒนธรรม วันก่อนมีโอกาสต้อนรับคณะทูตโอไอซี วันก่อนมา 8 ประเทศ หัวหน้าคณะมาจากตุรกี เมื่อเขามาดูสังคมเราตอนแรกเขาก็คิดว่าบ้านเมืองตรงนี้มีความขัดแย้งเกิดขึ้น นึกว่าเกิดขึ้นจากศาสนาเรื่องความขัดแย้งระหว่างพุทธและอิสลามมาฆ่ากัน พอฟังจากเราบรรยายให้ฟัง มีภาพประกอบแล้ว แล้วก็นำเขาไปที่จริงๆ คือชุมชนที่เป็นพหุวัฒนธรรม เป็นชุมชนที่เป็นพื้นที่ตัวอย่างหลายๆ แห่งในขณะนี้ เช่นที่บ้านทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี พี่น้องพุทธ พระ และโต๊ะอิหม่ามอยู่ด้วยกัน งานพุทธจัดงานในวัดพี่น้องมุสลิมก็มาร่วมงาน พี่น้องุสลิมจัดงานที่มัสยิด ไทยพุทธก็ไปร่วมงาน อาหารการกินมุสลิมก็เป็นคนประกอบอาหารเป็นหลัก เขาก็อยู่กันแบบแลกเปลี่ยนกันอย่างนี้ วันนี้ทุเรียนจากบ้านนี้เยอะก็เอาไปให้พี่น้องมุสลิม มุสลิมไม่มีทุเรียนแต่มีมะพร้าวก็เอาให้ไทยพุทธก็แลกเปลี่ยนกัน เราได้พาทูตโอไอซีไปเยี่ยมเขาก็ทึ่งมาก และสิ่งสำคัญที่ทึ่งมากไปอีกเมื่อวันมาฆบูชาที่ผ่านมา เป็นวันที่ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ที่จังหวัดปัตตานี จัดกิจกรรมทุกปีมีการจัดงานปิดถนน 7 วัน ปรากฏว่าจังหวะนั้นทูตโอไอซีมาพอดี เราก็พาเขาไปเที่ยวในงานนี้ ถนนปิดทั้ง 3 สาย ถ้าเรามองด้านบนถนนสายนี้จะพบโคมไฟสีแดงเต็มไปหมดทั้งสาย พอมองข้างล่างริมฟุตปาธร้านค้าขายของ 95 เปอร์เซ็นต์ คือ พี่น้องมุสลิม มาขายของในงานวันเทศกาลสำคัญของคนจีน พี่น้องไทยพุทธและไทยจีนก็มาร่วมกันขายอาหารกัน นี่คือสิ่งที่บอกให้เห็นว่า เมื่อสักครู่ยกเรื่องทรายขาวนั่นในหมู่บ้าน แต่เมื่อสักครู่ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานีก็เป็นแบบนี้ เขาก็มาเห็นแล้วว่าสังคมที่มีไทยจีน ไทยพุทธ และไทยมุสลิม เขาอยู่กันแบบนี้ นั่นคือสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างแท้จริง”


      ทั้งนี้ ศอ.บต. ยังได้วางหลักของการสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไว้ จากวิธีการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ ซึ่งมีอยู่ 4 วิธีซึ่งให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน โดยทางแรกจะให้ผลลัพธ์ที่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ชนะและอีกฝ่ายเป็นผู้แพ้(I win you lose) ทางที่สองเป็นการประณีประนอมกันทั้ง 2 ฝ่าย(I lose you win) ทางที่สามคือเจรจาตกลงกันเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ร่วมกันจนเป็นที่ถูกใจทั้ง 2 ฝ่าย(win win) และทางสุดท้ายคือการร่วมแรงร่วมใจกันแก้ไขปัญหา(collaboration) ซึ่งแนวทางสุดท้ายนี้เป็นหนทางที่จะนำพาไปสู่สังคมสันติสุข










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น