วันพุธที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2562

“ฮาลา-บาลา” ป่าอเมซอลแห่งเอเชียในภาคใต้



        ตำบลภูเขาทองยังมีพื้นที่ส่วนหนึ่งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลาผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ของภาคใต้ ที่ถือเป็นแหล่งนกเงือกที่สำคัญที่สุดของเมืองไทย โดยพบนกเงือกที่นี่ถึง 10 ชนิด จากจำนวน 13 ชนิดที่สำรวจพบในเมืองไทย

ผืนป่าฮาลา-บาลา เป็นป่าดงดิบ 2 ผืน มีพื้นที่ไม่ต่อเนื่องกัน แต่มีชื่อเรียกขานคู่กัน ประกอบด้วยป่าฮาลาที่ครอบคลุมพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา และ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส กับป่าบาลาที่ครอบคลุมพื้นที่ อ.แว้ง และ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส โดยชาวบ้านจะเรียกป่าในฝั่งนราธิวาสว่าป่าบาลา-ฮาลาและในฝั่งยะลาว่าป่าฮาลา-บาลา” สำหรับผืนป่าบาลา-ฮาลา ใน ต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส นอกจากจะมีความอุดมสมบูรณ์แล้ว ยังมีไฮไลท์สำคัญคือต้นกะพงษ์ยักษ์(บ้านภูเขาทอง ต.ภูเขาทอง)หรือต้นสมพงขนาดใหญ่มาก อายุนับร้อยปี ที่มีขนาดลำต้นช่วงพูพอนใหญ่ถึงประมาณ 29-30 คนโอบ ตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติของผืนป่าใหญ่อันอุดมสมบูรณ์

ในผืนป่าบาลา-ฮาลาไม่ไกลจากต้นกะพงยักษ์เท่าไหร่ ยังมีอีกหนึ่งความน่าทึ่งจากสภาพภูมิประเทศของพื้นที่นั่นก็คือ เนินพิศวง”(บ้านภูเขาทอง ต.ภูเขาทอง) กับสถานที่ที่มีลักษณะพิเศษมีความยาวประมาณ 30 เมตร ดูเผินๆเหมือนเป็นเนินที่มีความลาดเอียงตามปกติ แต่เนินนี้มีความพิศวงน่าทึ่งตรงที่ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ วัตถุ สิ่งของที่ไปตั้งวางที่เนินแห่งนี้ จะดูเหมือนมันกำลังไหลขึ้น (ทั้งๆที่ในความเป็นจริงวัตถุต้องไหลงลงจากที่สูงลงที่ต่ำ) ไม่ว่าจะเป็นการทดลองวางลูกบอลไว้ ลูกบอลก็จะไหลจากที่ต่ำจะกลิ้งไหลไปยังที่สูง หรือแม้กระทั่งการทดลองให้รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ ดับเครื่องและไม่ได้เข้าเบรก(โดยมีคนบังคับทิศทาง)นำไปจอดที่เนินพิศวงก็จะได้ผลเช่นเดียวกัน คือ รถจะค่อยๆเลื่อนไหลจากที่เนินที่ตำกว่าไปสู่เนินที่สูงกว่า ซึ่งนี่เป็นปรากฏการณ์ภาพหลอกตาของธรรมชาติ เพราะเมื่อเปลี่ยนมุมมองไปมองอีกฝั่งหนึ่งของเนินพิศวงก็จะเห็นเป็นเนินไหลลาดลงตามปกติ







--------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น