หนีฝุ่นควัน Pm.2.5 มาสัมผัสเสน่ห์ธรรมชาติเมืองชายแดน
สูดโอโซนให้ชุ่มปอด แล้วจะรู้ว่า ชีวิตดี๊ดี @ชายแดนใต้ หลายพื้นที่ทั้งภาคเหนือ กรุงเทพฯ และอีสานกำลังเผชิญปัญหามลพิษจากหมอกควันที่ปกคลุมเป็นบริเวณกว้างซึ่งส่งผลต่อสุขภาพโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจการอยู่กับวิกฤตหมอกควันเป็นเวลานานๆ
อาจส่งผลต่อสุขภาพของคนในครอบครัว ในช่วงปิดเทอมแบบนี้จึงอยากชวนทุกท่านมาเที่ยวจังหวัดชายแดนภาคใต้กันบ้าง
โดยครั้งนี้จะพามาเที่ยวที่อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส
สถานีปลายทางของขบวนรถไฟสายใต้ ที่โดดเด่นในหลายด้าน
เดินทางไกลสักหน่อยเพราะอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ
กว่า1,000 กิโลเมตร แต่ปัจจุบันสามารถเดินทางโดยเครื่องบินทั้งสายบินไทยสไมล์
จากสุวรรณภูมิ และแอร์เอเชียจากดอนเมือง มาลงที่ท่าอากาศยานนราธิวาส จากนั้นต่อรถตู้มาลงที่อำเภอสุไหงโก-ลก
หรือหากมีเวลาสักหน่อยก็นั่งรถไฟมากับขบวนรถด่วนหรือรถเร็วกรุงเทพฯ - สุไหงโก-ลก
เมื่อสุดปลายทางชายแดนใต้ เสียงประชาสัมพันธ์แจ้งว่า
"ที่นี่สถานีรถไฟสุไหงโก-ลกท่านผู้โดยสารกรุณานำสัมภาระของท่านลงจากขบวนรถไฟให้ครบถ้วน”
ท่านก็เพียงแค่หิ้วกระเป๋าแล้วเตรียมสัมผัสความเป็นเมืองสุไหงโก-ลกกันได้เลย จุดแรกขอต้อนรับด้วยบะกุ๊ตเต๋
ที่เป็นหมูต้มเครื่องยาจีนหอมกรุ่นของร้านอ้วน บะกุ๊ตเต๋ เจ้าอร่อยระดับตำนาน
ที่เสิร์ฟมาในหม้อดิน ครบเครื่องด้วยหมูชิ้น เครื่องใน และผัก
รับประทานกับน้ำจิ้มพริกซีอิ้ว แลปาท่องโก๋
รับรองว่าอิ่มอร่อยจนจุกเพราะให้เยอะมาก รับประทานอิ่มแล้วก็เดินทางต่อไปยังจุดหมายสำคัญของเราที่อยากให้ทุกท่านมาเยือน
คือ ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี ที่มีเนื้อที่ประมาณ 120,000ไร่ ครอบคลุม 4 อำเภอของจังหวัดนราธิวาส
ประกอบด้วย อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอตากใบ อำเภอสุไหงปาดี และอำเภอเมือง
เพื่อไปสูดอากาศบริสุทธิ์ให้เต็มปอด ด้วยการเดินบนเส้นทางที่เป็นสะพานไม้ระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร
ตลอดเส้นทางจะได้สัมผัสกับเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่มีความหลากหลายของระบบนิเวศน์รอบป่าพรุที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์
มีต้นไม้หลากหลายพันธ์ กว่า 500ชนิด
ทั้งต้นหมากแดงที่มีต้นกำเนิดที่ป่าพรุแห่งนี้เป็นที่แรกของอำเภอสุไหงโก-ลก
กะพ้อแดง รวมทั้งสาคู และหลุมพี
ที่ปัจจุบันนำมาทำเป็นขนมและเครื่องดื่มไว้ตอนรับผู้มาเยือน และหากโชคดีก็จะได้พบสัตว์ป่าจำพวกนกเงือก
ค่างกระรอกสามสี พังพอนกินปู ตะโขง ลิ่น หรืองูหลากหลายสายพันธุ์
หรือแม้กระทั่งหมีหมา ที่มีการบอกเล่ากันว่าเมื่อไม่นานมานี้มีลุงคนหนึ่งได้เข้ามาหาของป่าพรุแล้วหลงอยู่ในป่าถึง
5 คืน 6 วันจนได้มีโอกาสพบกับหมีหมา
และระหว่างประจันหน้ากันลุงก็ตะโกนสั่งหมีหมาว่า ไป ไปทางโน้น
หลังสิ้นเสียงคุณลุงหมีหมาก็เดินไปตามทางที่ลุงบอก
ซึ่งเรื่องนี้ได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่ป่าพรุโต๊ะแดงว่าเป็นเรื่องจริงเพราะได้ฟังมาจากลุงด้วยตัวเอง
แต่อย่าเพิ่งตกใจหมีหมาอยู่ในป่าลึกที่พบเห็นได้ไม่บ่อยนัก เมื่อเดินทางเข้าไปภายในผืนป่าแห่งนี้ท่านจะถูกโอบล้อมด้วยป่าพรุโต๊ะแดง
ป่าเดียวน้ำเดียวในแดนดิน หรือ ป่าพรุสมบูรณ์ผืนสุดท้ายของประเทศไทย ซึ่งมีสภาพเป็นป่าดงดิบที่น้ำท่วมขัง
และมีการทับถมของใบไม้กิ่งไม้จนแน่นมีสภาพคล้ายผิวดินแต่จะมีความนุ่ม
ซึ่งเมื่อลงไปยืนก็อาจยวบตัวลงไปถึงระดับเอวถึงหน้าอก ภายในเขตป่าพรุโต๊ะแดง
แม้มีแสงแดดสาดส่องเข้ามา แต่กลับร่มรื่นด้วยร่มเงาของพันธุ์ไม้ที่สูงตระหง่านอายุนับร้อยปี
และยังสัมผัสได้ถึงสายลมเย็นที่พัดพาความสดชื่นมาให้ตลอดเวลา
จึงสามารถนั่งพักผ่อนอยู่บนที่นั่งบริเวณศาลาที่พักและอาจเผลองีบหลับไปโดยไม่รู้ตัวกับอากาศที่แสนสบายและสะอาดบริสุทธิ์ปราศจากมลพิษใดๆเหมือนได้ฟอกปอดให้สะอาดยาวไปหลายปี
ซึ่งต้องมาสัมผัสเองจะได้ทราบว่า "เมื่อฉันเดินเข้าป่าเพื่อสูดอากาศบริสุทธิ์
ดีต่อใจและปอดอย่างไร"
ดังนั้นปิดเทอมนี้ลองเปลี่ยนแผนมาเที่ยวที่ชายแดนใต้อำเภอสุไหงโก-ลก
แล้วเข้าสูดอากาศบริสุทธิ์ที่ป่าพรุโต๊ะแดงสักครั้งแล้วจะรู้ว่าต่อไปคงต้องจัดเวลาเพื่อหาโอกาสมาฟอกปอดในผืนป่าแห่งนี้ปีละหลายๆ
ครั้ง สำหรับการเข้ามาเที่ยวชมป่าพรุโต๊ะแดงหากเป็นบุคคลทั่วไปสามารถแลกบัตรประชาชนเข้ามาเดินชมได้เลยเพราะตลอดเส้นทางจะมีฐานความรู้และป้ายศึกษาข้อมูลและรายละเอียดของป่าพรุอย่างครบถ้วน
แต่หากมาเป็นหมู่คณะ สามารถแจ้งมาที่ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร
เพื่อให้น้องๆ วัยใสไกค์ธรรมชาติพาเที่ยวชมพร้อมให้ความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศน์วิทยาที่นี่ซึ่งอาจได้ชมการสาธิตการแปรรูปสาคูเป็นขนม
หรือได้ลิ้มรสน้ำหลุมพีที่มีรสชาติเปรี้ยวอมหวานฝีมือของคนในท้องถิ่นที่เป็นเครือข่ายเพื่อนชาวพรุก็เป็นได้
-------------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น