วันอังคารที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2561

เขื่อนบางลาง พลังงานหมุนเวียนในพื้นที่ จชต.



ยะลา เป็นจังหวัดชายแดน ใต้สุดของประเทศไทย ณ ที่นี้เป็นที่ตั้งของเขื่อนบางลาง ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ แห่งแรกของภาคใต้ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้รับผิดชอบ สามารถอำนวยประโยชน์ ให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ แก่แหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และให้ความสว่างไสว ไปทั่วทั้งภูมิภาค


ลักษณะเขื่อน
เขื่อนบางลาง กั้นแม่น้ำปัตตานีที่บริเวณบ้านบางลาง ตำบลเขื่อนบางลาง อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ห่างจากตัวอำเภอเมือง 58 กิโลเมตร ตัวเขื่อนเป็นเขื่อนหินถมแกนดินเหนียว มีความสูง 85 เมตร สันเขื่อนยาว 430 เมตร กว้าง 10 เมตร อ่างเก็บน้ำมีความจุ 1,420 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับน้ำเหนือเขื่อน 2,080 ตารางกิโลเมตร


อาคารโรงไฟฟ้า
ตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำปัตตานี ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า จำนวน 3 เครื่อง ขนาดเครื่องละ 24,000 กิโลวัตต์ รวมกำลังผลิต 72,000 กิโลวัตต์ ให้พลังงานไฟฟ้าปีละประมาณ 200 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง


ลานไกไฟฟ้า
ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังของอาคารโรงไฟฟ้า ไฟฟ้าที่ผลิตได้จะส่งมายังลานไกไฟฟ้าแห่งนี้ แล้วต่อไปยังสายส่งไฟฟ้าขนาด 115 กิโลวัตต์ 2 วงจร สู่สถานีไฟฟ้าแรงสูงยะลา ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร
เขื่อนบางลางได้เริ่มดำเนินการก่อสร้าง ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2519 เป็นต้นมา แล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2524 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนบางลาง เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2524


อ่างเก็บน้ำเขื่อนบางลางการช่วยเหลือราษฎรอพยพ
เนื่องจากการก่อสร้างเขื่อนบางลาง ทำให้ราษฎรที่อาศัยอยู่ ในบริเวณท้องที่อำเภอบันบังสตา และกิ่งอำเภอธารโต ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1,100 ครอบครัว ต้องถูกน้ำท่วมดังนั้น กฟผ. จึงได้ร่วมมือและประสานงาน กับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ให้ความช่วยเหลือราษฎร ดังกล่าว โดยจ่ายเงินค่าชดเชยที่ดินและทรัพย์สิน ในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม รวมทั้งจัดสรรที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ให้แก่ราษฎรครอบครัวละ 20 ไร่ โดยแบ่งเป็นที่อยู่อาศัย 2 ไร่ และที่เพาะปลูก 18 ไร่
นอกจากนี้แล้วยังให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตร ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งสหกรณ์โดยจัดตั้งวงเงินประมาณ 10 ล้านบาท ให้สมาชิกกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ และผ่อนส่งระยะยาวอีกด้วย


เขื่อนบางลางประโยชน์
น้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนบางลางสามารถอำนวยประโยชน์ ในด้านการชลประทานแก่พื้นที่เพาะปลูก ของจังหวัดยะลาและปัตตานีเป็นพื้นที่ 380,000 ไร่ ซึ่งน้ำที่ปล่อยออกมาสามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้ เฉลี่ยปีละประมาณ 200 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ช่วยส่งเสริมระบบไฟฟ้าในภาคใต้ให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น นับเป็นผลพลอยได้ที่มีคุณประโยชน์มหาศาล
นอกจากนี้ อ่างเก็บน้ำเขื่อนบางลาง ยังช่วยบรรเทาอุทกภัยในบริเวณตอนล่าง ของลุ่มแม่น้ำปัตตานีที่เคยเกิดขึ้นเสมอได้เป็นอย่างดี รวมทั้งเป็นแหล่งประมงน้ำจือที่สำคัญในภาคใต้ ที่ช่วยเสริมอาชีพและรายได้แก่ราษฎรที่อาศัยอยู่ใกล้เขื่อน และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ ที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดยะลาอีกด้วย


การเดินทาง
จังหวัดยะลาอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร 1,084 กิโลเมตร ส่วนเขื่อนบางลาง อยู่ห่างจากตัวเมืองยะลาไปทางหลวงสายยะลา-เบตง ที่กิโลเมตร 46+600 เข้าไปยังที่ตัวเขื่อนอีกประมาณ 12.5 กิโลเมตร

วันจันทร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2561

ท่องเที่ยว ใต้ทะเล ณ เกาะโลซิน จ.ปัตตานี



วันนี้เราจะพาเพื่อน ๆ ดำดิ่งลงไปโลดแล่นยังโลกใต้ทะเลกันอีกครั้ง กับจุดดำน้ำที่อยู่ตอนใต้สุดของอ่าวไทย นั่นก็คือ เกาะโลซิน (Losin) หรือที่หลาย ๆ คนเรียกว่า กองหินโลซิน ซึ่งถือเป็นเกาะที่เล็กที่สุดในประเทศไทย เพราะมีเพียงกองหินพ้นน้ำทะเลลึกขึ้นมาไม่เกิน 100 ตารางเมตร ไม่มีอ่าวหลบลม โดยตั้งอยู่ในอาณาเขตจังหวัดปัตตานี ห่างจากหาดสุกรีในเขตอำเภอสายบุรี ประมาณ 72 กิโลเมตร และนับเป็นจุดดำน้ำที่อยู่ตอนใต้สุดของอ่าวไทย แถมยังไกลที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดปัตตานี) อ๊ะ ๆ แต่ความห่างไกลของเกาะโลซินทำให้นักดำน้ำได้พบกับความหนาแน่นของปะการังที่สมบูรณ์สูงสุดแห่งหนึ่งของทะเลไทย จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่าที่แห่งนี้จะกลับกลายเป็นเสน่ห์ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปค้นหางดงาม เฉกเช่นบันทึกการเดินทางของ คุณ Armiblue สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ที่ได้ไปสัมผัสกับจุดดำน้ำที่อยู่ตอนใต้สุดของอ่าวไทย และร้อยเรียงเรื่องราวผ่านภาพถ่ายสวย ๆ มาฝากกันอีกครั้ง
            วันนี้จะพาสมาชิก Pantip ไปดูโลกใต้ทะเลที่อ่าวไทยตอนล่างกันนะครับ เกาะโลซินและแนวปะการังเทียมที่จังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส
            โลซิน...หลาย ๆ คนที่เคยไป และหลาย ๆ คนที่ไม่เคยได้ยินชื่อ เกาะที่ไม่น่าเป็นเกาะ แต่ชี้เป็นชี้ตายเขตแดนของไทยในทะเลกับมาเลเซีย กองหินเล็ก ๆ ฝั่งอ่าวไทยที่โผล่พ้นน้ำมีพื้นที่ไม่กี่ตารางเมตร แต่ข้างล่างนั่นอุดมสมบูรณ์มหาศาล เต็มไปด้วยชีวิตทั้งเล็กทั้งใหญ่ที่อาศัยพื้นที่นี้หากิน
            ภาพใต้น้ำบางส่วนจากอ่าวไทยตอนล่าง เกาะโลซินและจุดดำน้ำแนวปะการังเทียมที่จังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีทั้งรถถัง รถไฟ และรถขยะครับ


   เกาะโลซิน เกาะเล็ก ๆ ที่มีประภาคารตั้งอยู่ด้านบน



            ยักษ์ใหญ่ใจดี ฉลามวาฬแห่งโลซิน เขามาให้เห็นแค่ไดฟ์เดียวเท่านั้น แต่ก็อยู่พอให้สมาชิกทั้งลำที่ไปด้วยกันได้ชื่นชมอยู่ราว 15 นาที กองนอก โลซิน



            ฝูงปลาที่อยู่ด้านล่างของเงาเรือลำใหญ่ด้านบน


 Divers




            เนื่องจากอยู่ไกลฝั่งน้ำที่นี่ใสมากเหมือนฝั่งอันดามัน และที่สำคัญ คือ แนวปะการังที่นี่ทั้งใหญ่และสมบูรณ์มาก ๆ
            กลุ่มของปะการังอ่อนซึ่งขึ้นอยู่ที่หินกองนอก เกาะโลซิน



Safety Stop


          ปะการังอ่อนที่ขึ้นจนแน่นเต็มพื้นหิน



            รถถังที่ความลึกราว 22 เมตร ปะการังเทียมหน้าปัตตานี


 กองตู้รถไฟซึ่งเอามาสร้างเป็นแนวปะการังเทียมเช่นกัน


รถขยะเองก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างแนวปะการังเทียม




Landscape ใต้น้ำ ไม่ใช้ Strobe เพราะระยะของวัตถุค่อนข้างไกล เป็นกลุ่มของรถขยะและรถขนน้ำที่ถูกเอามาทิ้งไว้เป็นแนวปะการังเทียม
ตู้บรรทุกของรถขนขยะ



            ปิดท้ายด้วยภาพนี้นะครับ ต้องถ่าย 2 ชอตแนวนอนเพื่อเอาภาพมาต่อกัน เนื่องจากขนาดของรถถังใหญ่มาก ไม่สามารถถ่ายรวมกับปลาการ์ตูนได้ในชอตเดียว จึงถ่ายแยกกันแล้วเอามารวมกันในแนวตั้ง ปลาการ์ตูนอานม้ากับบ้านดอกไม้ทะเลที่มีรถถังคันใหญ่คอยปกป้อง




สร้างรายได้ “เลี้ยงกุ้งฝอย” อาชีพเสริมชาวยะลา



ข้าราชการสังกัดสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดยะลา ชาว ตำบลสะเตงนอก อำเภอเมืองยะลา หลังว่างจากงานประจำได้หันมาเลี้ยงกุ้งฝอย ลงทุนไม่สูงเป็นอาชีพเสริมส่งขายไปทั่วประเทศ เป็นแห่งแรกในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีรายได้หลักหมื่นต่อเดือน


นายสัญชัย มัดดา เปิดเผยว่า การเลี้ยงกุ้งฝอยจะไม่มีปัญหาเหมือนกับกุ้งชนิดอื่น เลี้ยงง่าย ส่วนพันธุ์กุ้งก็จะหาได้ตามแหล่งธรรมชาติ ทั้งท้องนา บึง ซึ่งจะเป็นกุ้งนาแท้ร้อยเปอร์เซ็นต์นำมาเลี้ยง ใช้เวลาเพียง 6 เดือน ก็สามารถส่งจำหน่ายเป็นแม่พันธุ์ได้ทันที แต่ถ้าเป็นกุ้งที่นำไปบริโภค ระยะเวลา 3 เดือน ก็สามารถส่งขาย และนำไปประกอบอาหารได้ โดยจะส่งไปจำหน่ายที่จังหวัดภูเก็ต , ตรัง , สงขลา , นราธิวาส , สุพรรณบุรี , ชุมพร และจังหวัดนครศรีธรรมราช ตามที่ลูกค้าสั่ง ในราคาตัวละ 1 บาท
สำหรับอาหารกุ้งฝอยจะใช้ข้าวสวยที่หุงสุก แล้วนำมาใส่ในตะกร้าเล็กแช่ลงไปในน้ำให้กุ้งฝอยกิน นอกจากนี้ก็จะต้องใส่ผักตบชวา ผักบุ้ง ลอยในน้ำ เพื่อให้กุ้งได้หลบขึ้นมาหายใจ เพราะกุ้งเป็นสัตว์ที่ไม่มีปอด โดยการลงทุนครั้งแรกใช้เงินประมาณ 3 พันบาท ในการทำบ่อเท่านั้น


ถ้าเกษตรกรรายใด สนใจจะเลี้ยงกุ้งฝอย อันดับแรกก็จะต้องเตรียมบ่อขนาดความกว้างพอเหมาะ วางไว้ในพื้นที่ว่างรอบบริเวณบ้าน ในส่วนของตนเองนั้นจะทำเป็นบ่อปูน มีหลังคาปิดบังแดดและจะต้องปรับสภาพพื้นให้เรียบ อัดพื้นให้แน่นพร้อมทำระบบน้ำ เมื่อเสร็จแล้วควรแช่น้ำไว้สักสองอาทิตย์เพื่อให้หมดค่าความด่างของปูน หลังจากนั้นก็ปล่อยน้ำทิ้งใส่น้ำอีกสองวัน และเริ่มปล่อยแม่พันธ์กุ้งได้เลย น้ำที่ใช้ก็จะใช้ได้ทั้งน้ำบาดาลและน้ำประปา


ส่วนปัญหาที่พบมักจะเป็นเรื่องน้ำ ถ้ามีการควบคุมระบบน้ำไม่ดีจะทำให้บ่อน้ำเน่าเสีย และทำให้ตัวลูกพันธุ์ตายได้ นอกจากนี้ก็ยังมีปัญหาเรื่องการขนส่งไปยังลูกค้า ขณะนี้มีแม่พันธุ์อยู่เป็นหมื่นตัวแล้ว ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือด้านการขนส่ง เนื่องจากในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ การดูแลในเรื่องของการขนส่งค่อนข้างจะละเอียดจนเกินไป ทำให้การขนส่งไปยังภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคเหนือ ทำได้ยาก ซึ่งจะทำให้เกษตรกรเสียโอกาสในการส่งแม่พันธุ์ หากมีภาครัฐมาช่วยเหลือในเรื่องของการขนส่งจะทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดีขึ้นกว่านี้


หากลูกค้าสนใจสั่งซื้อกุ้งฝอย สามารถติดต่อในเพจชื่อ นาวา ฟาร์ม กุ้งฝอยหรือติดต่อที่หมายเลข โทร.08-9732-9659 (บังมัด)



วันศุกร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2561

เยาวชนบ้านสาคอ ยะลา ร่วมอนุรักษ์ สืบทอด หนังตะลุงเงา “วายังกูเละ”



นางสาวลิปิการ์ กำลังชัย วัฒนธรรมจังหวัดยะลา ได้เดินทางไปยังศูนย์เรียนรู้พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวายังกูเละ หมู่ที่ 4 บ้านสาคอ ตำบลท่าสาป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เปิดกิจกรรมส่งเสริมสนับสนุนศิลปะการแสดงพื้นบ้านปักษ์ใต้ สืบสาน เผยแพร่หนังตะลุงของศูนย์หนังตะลุงจังหวัดยะลา ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-29 มกราคม 2561 โดยมี หนังเต็งหรือนายมะยาเต็ง สาเมาะ นายหนังตะลุง พร้อมเยาวชนในพื้นที่บ้านสาคอ ร่วมให้การต้อนรับ


นางสาวลิปิการ์ กำลังชัย วัฒนธรรมจังหวัดยะลา กล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้เป็นการถ่ายทอดหนังตะลุงปักษ์ใต้ หรือวายังกูเละ ซึ่งทางสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดยะลา ก็ได้ให้การส่งเสริม สนับสนุน ให้คำแนะนำ เป็นพี่เลี้ยงมาอย่างต่อเนื่อง โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดสรรงบประมาณมาให้กับทางสามคมหนังตะลุงปักษ์ใต้ และกระจายลงพื้นที่ที่มีการสืบทอดหนังตะลุง ซึ่งจังหวัเยะลาก็จะมีบ้านสาคอ แห่งนี้


ทั้งนี้เพื่อเป็นการอนุรักษ์ สืบสาน ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านให้คงอยู่ ในการอนุรักษ์ ถ่ายทอดให้กับน้องๆ เยาวชนในพื้นที่ การแสดงออกในการฝึกอบรม เชิดหนังตะลุง การแสดงหนังตะลุง และเครื่องดนตรีต่างๆ เพื่อให้เยาวชนได้ร่วมกันอนุรักษ์ สืบทอด อีกทั้งยังสามารถนำไปประกอบเป็นอาชีพการแสดงหนังตะลุง ได้อีกทางหนึ่งด้วย






วันอังคารที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2561

เปิดมุมมองเด็กใต้ นายบูคอรี อีซอ เจ้าของเพจดัง “แวรุง ไปไหน”


 หลายคนมองการเล่นเกมเพื่อความสนุก แต่สำหรับผม สมัยนั้นมองว่า เกมคือเรื่องการตลาด ธุรกิจ การลงทุน การใช้สมาธิและการคิดเป็น ผลดีหลังจากที่เล่นเกมในวันนั้น ทำให้ผมรู้ในวันนี้ว่า ผมชอบทาง ด้านสื่อ การนำเสนอ การคิดค้นสร้างสิ่งใหม่ๆ ด้วยตัวเอง การออกแบบดีไซน์ และสามารถต่อยอดนำไป สู่การสร้างอาชีพได้ด้วย จากความชอบนายบูคอรี อีซอ เจ้าของเพจ แวรุง ไปไหน


เพจแวรุง ไปไหนเป็นที่รู้จักกันดีโดยเฉพาะพี่ๆน้องๆในสามจังหวัดชายแดนใต้ เพราะความคิดสร้างสรรค์และการสร้างโลก สร้างสังคม พร้อมเปิดโลกใบใหม่ออกมาสู่สายตาประชาชน เกี่ยวกับการเป็นอยู่วิถีชีวิตของคนในพื้นที่สามจังหวัด ตลอดจนสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆในสามจังหวัดเป็นที่ติดตาถูกใจของท่านผู้ชมเป็นอย่างมาก กลายเป็นคำบอกเล่าปากต่อปากในโลกโซเชียล เป็นเหตุให้เจ้าของเพจ ดังทะลุจอ โดยที่เจ้าตัวไม่เคยคิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้น จะกลายเป็นที่สนใจของทุกคน


  และจริงๆแล้วเจ้าของเพจดังคนนี้ คือ เด็กทุนนับหนึ่งของผมเอง ใครจะไปรู้ว่า จากเด็กติดเกม ที่สังคมไม่ยอมรับ ใครก็มองว่าเสียอนาคตตั้งแต่ยังเด็ก กลายมาเป็นเจ้าของโลโก้ดังๆ ผลงานดี ทั้งภาพถ่าย ป้ายโฆษณา ออกแบบสกรีนเสื้อ รับถ่ายรูป ส่งตัวเองเรียน จนกลายมาเป็นเจ้าของรายการในเพจดัง แวรุง ไปไหน”  วันนี้คอลัมน์เปิดโลกการศึกษามุสลิม เจาะชีวิตน้อง เด๊ะยีหรือ น้องบูคอรีมาเล่าสู่กันฟัง


น้องยี ยอมรับว่าคำว่า เกมหรือ เด็กติดเกมคือ เสียเวลา และกลายเป็นเด็กไม่มีอนาคต หากแต่เมื่อเวลาผ่านไปการได้เข้ามาเรียนในโรงเรียนศาสนา ที่ห้อมล้อมไปด้วยครูผู้มีวิชาทั้งความรู้ศาสนาและสามัญ กอปรกับรอบๆรั้วเต็มไปด้วยอณูแห่งความรัก การชี้นำทางไปสู้เป้าหมายชีวิตที่ดี ณ จุดเริ่มต้นที่นี้ ยี จึงมีเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจน หากแต่ยังคงมีคำล้อและชื่อติดอยู่ในคำว่าเด็กติดเกม การเข้ามาสู่รั้วมัธยมหลายครั้งที่ยีต้องถามตัวเองว่าจะเอาไงดีกับชีวิตทางเลือกเดินน้อยเหลือเกินเพราะพ่อแม่ก็จน จึงต้องอดทนเรียนพร้อมๆกับช่วยพ่อแม่ในโรงเรียนจนจบ


เมื่อเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ยิ่งต้องคิดหนักเพราะต้องมีค่าใช้จ่ายมากมาย แต่โชคดีที่ตอนอยู่ในชั้นมัธยมได้รับ ทุนนับหนึ่งจากพี่ชายที่อยู่ไคโรประเทศอียิปต์และมีแม่อ้อ เป็นคนดูแลจัดการ ทุนนี้ไม่ใช่มีแค่เงินทุน แต่มีกำลังใจและแนวทางที่สอนใจอยู่เสมอ จึงไม่เคยคิดท้อ จึงสานต่อความฝันอย่างมีเป้าหมาย 
น้องยีเล่าว่า ชอบหาอะไรทำอยู่ตลอดเวลา เริ่มต้นชอบกราฟิก ด้านการออกแบบ เริ่มเรียนรู้คำว่า ลิขสิทธิ์และการออกแบบที่ดีคือการไม่นำผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตัวเองหรือแม้แต่การลอกเลียนแบบ ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการคิดสร้างผลงานที่เป็นของตัวเอง และได้เข้าทำการแข่งขันการออกแบบโลโก้ การออกแบบสกรีนเสื้อชุด และการตกแต่งรูป สามารถเก็บเงินซื้อกล้องถ่ายรูปและเริ่มเรียนรู้การถ่ายรูป และเริ่มรู้สึกสนุก


ทุกๆ เช้าจะขับรถออกไปถ่ายวิถีชีวิตของคนในปัตตานี เริ่มอัพรูปพร้อมข้อความสั้นๆลงเฟสบุ๊คส่วนตัว เริ่มมีคนสนใจ พร้อมมีงานถ่ายรูปเข้ามาเป็นงานสร้างเงินส่งเสียตัวเองและให้ทางบ้านได้ จนกระทั้งได้มีโอกาสไปถ่ายวีดีโอหนังสั้น โดยที่เริ่มจากเด็กถือของยกของในกอง จนเป็นผู้กำกับหนังเอง เนื่องด้วยสิ่งที่เห็นอยู่และสิ่งที่ทำนั้นเราก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องเป็นลูกน้องเขาตลอดไปหลังจากนั้น  จึงเริมต้นใช้ชื่อเพจว่า แวรุง


น้องยี เล่าต่อว่า พอขึ้นปีที่ 4 มีโครงการทำเรื่องโปรเจคจบ จึงเลือกที่จะรวบรวมผลงานต่างๆที่เคยมีอยู่ในเพจแวรุง คือภาพถ่ายกับวีดีโอและกราฟิก กอปรกับตัวเองเป็นเด็กสามจังหวัดชายแดนใต้ เลยใช้ชื่อหัวข้อ พัฒนาสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวสามจังหวัดชายแดนใต้
จึงได้เปลี่ยนจาก เพจ แวรุงเป็น แวรุง ไปไหนเป็นการทักทายภาษาวัยรุ่น ไปไหนซึ่งเป็นคำถามเชิงความห่วงใย ไปไหนเที่ยวบ้านเราไหม เป็นตัวแทนที่จะนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญๆในสามจังหวัดชายแดนใต้ ให้คนในพื้นที่เองและคนนอกพื้นที่รับรู้ สิ่งที่จะสื่อ คือ อยากให้ภาพเหตุการณ์ความรุนแรง คราบน้ำตาที่ผ่านมานั้น เปลี่ยนเป็นภาพเหล่านี้ที่สวยงามเป็นภาพความจริงอีกมุมหนึ่งที่ดีและงดงามที่มีอยู่ในทุกวันนี้


  น้องยีบอกว่า ขอบคุณการศึกษาด้านศาสนาที่เป็นเกราะแก้วแห่งชีวิตนำไปสู่ความสำเร็จด้วยความสมบูรณ์ และขอบคุณการศึกษาด้านสามัญที่นำไปสู่ด้านอาชีพงานที่ชอบ นอกกรอบได้แต่ไม่นอกศาสนา

    ท้ายสุดนี้น้องยี ฝากบอกว่าค้นหาการเป็นตัวตนของตัวเองให้เจอและให้ชัดที่สุดแล้วจะค้นพบกับความสุขทุกวัน และจะรู้เป้าหมายว่าควรทำอะไรต่อไป

มารู้จัก!! อุโมงค์ลำเลียง...เหมือนแร่ทองคำโต๊ะโมะ




เหมือนแร่ทองคำโต๊ะโม๊ะ อยู่บริเวณบ้านโต๊ะโม๊ะ ตำบลภูเขาทอง อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นแหล่งแร่อยู่ในป่าดิบกลางหุบเขาชาวบ้านเรียกว่า ภูเขาโต๊ะโมะ หรือภูเขาลิซอ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาสันกาลาคีรี เป็นหุบเขาที่หุบแน่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่



          ดินแดนกลางหุบเขาและป่าลึกที่เติบโตด้วยทองคำแห่งนี้ ถูกเปลี่ยนเป็นเหมืองครั้งแรกใน พ.ศ.2473 โดยชาวฝั่งเศษเข้ามาติดตั้งเครื่องจักรทำเหมืองทองคำอยู่ระยะหนึ่ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรจึงยกเลิกกิจการไปก่อนเหมืองทองคำดำเนินการอย่างจริงจังใน พ.ศ.2475 เมื่อบริษัทฝรั่งเศส ชื่อ Societed'Or de litcho เข้ามาสำรวจแล้วว่า พบว่าลึกลงไปมีแร่ทองคำอยู่มาก และเนื้อทองคำมีเปอร์เซ็นสูงจึงได้ขอสัมปทานจากรัฐบาลไทยทำเหมืองทองคำเป็นเวลา 20 ปี ภายในเหมืองมีการขุดเจาะภูเขาเป็นอุโมงค์ลึกเข้าไปตามสายแร่ มีประชากรโดยรวมประมาณ 1,000 คน แบ่งเป็นแผนกระเบิกหิน , แผนกเก็บหินใส่รถเข็น เพื่อเข็นตามรางเข้าไปในเหมือง แผนกตำหินมี 9 สาก 9 กิจการดำเนินการไปจนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เหมืองทองคำต้องปิดตัวลง ชาวฝรั่งเศส ต้องดินทางกลับประเทศประวัติศาสตร์แห่งเหมืองทองคำโต๊ะโมะจึงเปิดบันทึกหน้าใหม่ โดยการดำเนินการของรัฐบาลไทย แต่ทำได้ไม่นานก็ประสบปัญหาขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เพราะอยู่ในช่วงสงครามจึงต้องสั่งปิดเหมือง ต่อมารัฐบาลให้สัมปทานบริษัทเอกชนดำเนินการอยู่พักหนึ่งก็ได้เลิกไป เหมืองของที่เคยคึกคักก็กลายเป็นเหมืองร้าง ปัจจุบันเหมืองทองคำโต๊ะโมะได้เปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาธรรมชาติแล้ว