ความเป็นมาวันกองทัพไทย
วันยุทธหัตถี และวันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ความเป็นมาวันกองทัพไทยนั้น
เกิดขึ้นจากสงครามยุทธหัตถีในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2135
ในครั้งนั้นพระเจ้านันทบุเรงได้ให้พระมหาอุปราชายกทัพใหญ่มาตีกรุงศรีอยุธยา
สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทราบข่าว จึงยกทัพหลวงไปตั้งรับที่หนองสาหร่าย
ซึ่งระหว่างที่การรบกำลังดำเนินอยู่นั้น ช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
และพระเอกาทศรถก็ได้ไล่ล่าศัตรูไปจนออกนอกเขตแดน
จนทำให้ทั้งสองพระองค์ตกไปอยู่ในวงล้อมของศัตรูโดยไม่รู้ตัว
แต่ถึงแม้จะอยู่ในสภาวะเสียเปรียบ
พระองค์ก็มีพระสติ ไม่หวั่นไหว และทรงแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว
ว่าทางที่จะรอดได้มีเพียงทางเดียวเท่านั้น คือเชิญพระมหาอุปราชาเสด็จมาทำยุทธหัตถี
ในท้ายที่สุดพระองค์ก็สามารถกระทำยุทธหัตถีได้รับชัยชนะอย่างสมพระเกียรติ
และนับตั้งแต่นั้นมาก็ไม่มีกองทัพใดกล้ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกเลย
ทำให้ในสมัยนั้นไทยได้ขยายอาณาเขตไปอย่างกว้างขวางกว่าสมัยใด ๆ
ซึ่งการทำยุทธหัตถีในครั้งนั้น
ถือว่าเป็นการทำยุทธหัตถีที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย
และยังเป็นการรบบนบกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอีกด้วย
ในการนี้กองทัพไทยจึงถือเอาวันที่พระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะต่อพระมหาอุปราชา
เป็น "วันกองทัพไทย" เรียกกันอีกอย่างว่า
"วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช" หรือ "วันยุทธหัตถี"
เป็นวันรัฐพิธี แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ
ทั้งนี้ แต่เดิมมีการระบุว่า
วันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะต่อพระมหาอุปราชานั้น
ตรงกับวันที่ 25 มกราคม ต่อมามีการคำนวณวันใหม่ จึงกำหนดให้วันที่ 18 มกราคมของทุกปีเป็น วันยุทธหัตถี และเป็นวันรัฐพิธีแทนวันที่ 25 มกราคม โดยให้มีการวางพานพุ่มสักการะ แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการเช่นกัน
การที่มีการเปลี่ยนแปลงวันทั้งสองนั้น เนื่องจากเป็นการนับวันทางสุริยคติ
ซึ่งคนปัจจุบันจะสามารถจำได้ง่ายมากกว่า และมีความเหมาะสมกว่า อีกทั้ง นายประเสริฐ
ณ นคร ราชบัณฑิต ก็ได้คำนวณแล้ว
พบว่าการนับวันทางจันทรคติของวันกระทำยุทธหัตถีเดิมที่ตรงกับวันจันทร์ เดือน 2 แรม 2 ค่ำ จุลศักราช 954 ที่กำหนดเป็นวันที่
25 มกราคมนั้น คลาดเคลื่อน
จึงได้มีการเปลี่ยนใหม่ให้ตรงกับความเป็นจริง คือ เป็นวันที่ 18 มกราคมดังกล่าว ดังนั้น วันที่ 18 มกราคม จึงถือเป็น
"วันยุทธหัตถี" หรือ "วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช"
กิจกรรมที่ทำในวันกองทัพไทย
กิจกรรมที่จะกระทำในวันกองทัพไทย
คือ
- พิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณต่อธงชัยเฉลิมพล
หรือที่เรียกว่า "สวนสนามสาบานธง"
ซึ่งเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์สำหรับทหาร และเป็นการระลึกถึงวีรกรรม
- ทำบุญตักบาตร
เพื่ออุทิศเป็นส่วนพระราชกุศลและกุศลแก่บรรพบุรุษ
- ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ
- จัดแสดงนิทรรศการ
เกี่ยวกับความเป็นมาของความกล้าหาญแห่งวีรกษัตริย์ไทย และวันกองทัพไทย
ดังนั้น ในฐานะที่เราเป็นคนไทย
เกิดบนแผ่นดินไทย เราทุกคนจึงควรตระหนักในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
มั่นทำความดีและดูแลบ้านเมืองให้สงบสุข และที่สำคัญที่สุดคือควรสามัคคี
เพื่อที่เราจะได้อยู่กันอย่างสงบ และเพื่อตอบแทนพระคุณของพระองค์ท่าน
ที่ได้ทรงเสียสละเลือดเนื้อเพื่อปกป้องรักษาแผ่นดินไทยของเราให้ได้อยู่มาจน
ถึงทุกวันนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น