วันศุกร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2561

บ้านโปโฮ เมืองยะลา แหล่งเรียนรู้ สู่ต้นแบบ “พอเพียง-ทฤษฎีใหม่” ตามรอยพ่อ


          ที่ศูนย์เรียนรู้เกษตรผสมผสานตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ บ้านโปโฮ ม.8 ต.บุดี อ.เมืองยะลา จ.ยะลา อาสาสมัครเกษตร ในพื้นที่ อ.เมือง จ.ยะลา จาก 10 ตำบล และประชาชนในพื้นที่ ต.บุดี ได้ไปทัศนศึกษาดูงาน เพื่อพัฒนาอาสาสมัครเกษตร(อกม.) ให้เป็นต้นแบบการผลิตระดับหมู่บ้าน ในโครงการส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของสำนักงานเกษตร อ.เมืองยะลา โดยมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตร อ.เมืองยะลา นายสมโชค ใหม่ชุม เกษตรกรกรต้นแบบ เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ การทำเกษตรผสมผสาน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมทั้งได้นำเยี่ยมชม 5 ฐานความรู้ การผลิตปุ๋ย EM แปลงปลูกปาล์ม การเลี้ยงเป็ดไข่ปล่อยทุ่ง การเลี้ยงปลา และการเลี้ยงโคขุน ภายในศูนย์เรียนรู้ ซึ่งเนื้อเนื้อที่ กว่า 2 ไร่ ซึ่งอาสาสมัครเกษตร และชาวบ้าน ได้ให้ความสนใจกับการเรียนรู้ปรับปรุงดิน โดยใช้วิธีแกล้งดิน ซึ่งได้น้อมนำหลักเศรษฐกิจพอพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาใช้ จากพื้นที่เดิมของศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ ซึ่งมีน้ำท่วมขัง รกร้าง ดินเป็นกรด จนประสบผลสำเร็จ สามารถปลูกพืช ได้ทุกชนิด


น.ส.จินสชา พิทักษ์ฉนวน นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการพิเศษ สำนักงานเกษตร อ.เมืองยะลา กล่าวว่าเป้าหมายในครั้งนี้ ทางสำนักงานเกษตร อ.เมืองยะลา ได้นำอาสาสมัครเกษตร ซึ่งเป็นแกนนำในหมู่บ้านในแต่ละตำบลมาเข้าร่วมศึกษา ดูงาน โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในเรื่องทฤษฎีใหม่ มาเป็นแบบอย่าง เพื่อนำความรู้กลับไปพัฒนา ต่อยอดกิจกรรมด้านเกษตรของหมู่บ้านของ อกม.แต่ละคน ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ อย่างยั่งยืน รวมทั้งการจัดทำบัญชีครัวเรือน เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับเกษตรกรในหมู่บ้านของตนเอง ซึ่งเกษตรกรมีการตื่นตัวกันมาก ที่จะพัฒนาตนเอง ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเป็นเกษตรกรปราชญ์เปรื่องนอกจากนี้ ยังได้รณรงค์ให้ความรู้ ด้านการเกษตรหลักการประกอบอาชีพ การใช้ความรู้ทางวิชาการที่ถูกต้อง เพื่อให้เกษตรกรที่ทำการเกษตร สามารถเพิ่มผลผลิต ด้านการเกษตร ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรต่อไป


ส่วนในเรื่องการพัฒนา นายวิทยา กี่เส้ง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรสำนักงานเกษตร อ.เมือง จ.ยะลา กล่าวว่าที่ผ่านมาเกษตรกรในพื้นที่ ได้รับการพัฒนา เพิ่มผลผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยศูนย์เรียนรู้ ที่นี่จะเป็นศูนย์เรียนรู้ตัวอย่าง ของ ต.บุดี ซึ่งเกษตรกร สามารถเข้ามาเรียนรู้ เพื่อนำไปปฏิบัติ ประยุกต์ใช้ในพื้นที่ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของเกษตรกร เพื่อเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรในพื้นที่ ต่อไป ส่วนปัญหาของพื้นที่ ต.บุดี จะมีปัญหาในช่วงฤดูน้ำ เพราะที่นี่จะเป็นพื้นที่รับน้ำ จาก ต.สะเตงนอก ซึ่งจะมีน้ำไหลผ่าน 2-3 วัน ที่จะทำลายพืชผลเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนาข้าว โดยปัจจุบันทางชลประทาน ได้มาแก้ไขระบบ มีแหล่งน้ำชลประทานช่วยเหลือในฤดูแล้ง สำหรับพืชหลักที่ทางเกษตร อ.เมือง ได้ลงมาส่งเสริม ใน ต.บุดี ก็จะเป็นนาข้าว แต่สำหรับการเรียนรู้ที่ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ ก็จะเป็นการเรียนรู้ในเรื่องของการทำเกษตรผสมผสาน ตามรอยพ่อ อยู่อย่างพอเพียง โดยใช้แนวคิดทฤษฎีใหม่



ขณะที่ นายสมพิศ ทองอุไร อาสาสมัครเกษตร (อกม.) ต.ลำใหม่ กล่าวว่าได้มาศึกษา มาดูสภาพพื้นที่ เพื่อนำไปเป็นแบบอย่าง ปรับใช้ในพื้นที่ ของ ตนเอง ทั้งในเรื่องการปรับปรุงดิน จะปลูกพืชแบบไหน ที่จะเหมาะกับพื้นที่ ก็จะนำไปพูดคุยให้กับชาวบ้านที่สนใจ โดยจะเริ่มจากที่บ้านของตนเองก่อน จะทำการปรับปรุง เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับชาวบ้าน ได้มาดู ศึกษา และนำไปปลูกที่บ้าน ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านส่วนใหญ่ก็จะปลูกพืชต่าง ๆ ตามธรรมชาติได้ผลผลิตแบบธรรมชาติ ไม่มีการดูแล แต่ปัจจุบันเกษตรกรพัฒนาขึ้นมาก มีการเรียนรู้ จนสามารถนำไปปรับใช้ในการประกอบอาชีพด้านการเกษตรได้










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น