วันพฤหัสบดีที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

“มะตะบะปูยุด” พุ่ง!!! มากกว่า 3,000 ลูกต่อวัน ยอดขายในช่วงเดือนรอมฎอน



       ตลอดช่วงเดือนรอมฎอนเราจะเห็นอาหารที่วางขายเรียงรายหลากหลายชนิดให้เลือกซื้อเพื่อรับประทานในเวลาละศีลอด "โรตีมะตะบะ" นับว่าเป็นอาหารที่หาซื้อได้ง่ายเพราะมีวางขายทุกตลาดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ถ้าอยากลิ้มลองความอร่อยเข้มข้นสูตรดั้งเดิมของโรตีมะตะบะนั้น ต้องมาหาซื้อที่ ต.ปูยุด อ.เมือง จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นแหล่งรวมมะตะบะเจ้าเก่า เจ้าดัง ที่พูดได้ว่าเข้าสู่ถึงเทศกาลถือศีลอดเมื่อไหร่การค้าขายในย่านนี้ก็จะคึกคัก ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับพื้นที่ ต.ปูยุด แห่งนี้มากเลยทีเดียว
สองฟากถนนตั้งแต่ก่อนถึงสี่แยกตลาดปูยุด จะเห็นร้านขายโรตีมะตะบะเรียงรายตลอดแนวถนนเป็นระยะ ที่มีมากมายหลายสิบร้าน ส่วนใหญ่ตั้งโต๊ะเปิดร้านตรงหน้าบ้าน แต่ละร้านจะมีห่อมะตะบะที่ทอดเสร็จแล้วตั้งเรียงเป็นกองสูงเด่นเห็นมาแต่ไกล พร้อมป้ายไวนิลใหญ่ๆเห็นเด่นชัด มีข้อความว่า “มะตะบะ ปูยุดเจ้าเก่า” บางร้านก็ยืนนวดแป้ง สะบัดแผ่นโรตี ทอดโรตีมะตะบะบนกระทะแบนๆ โรตีมะตะบะมี 2 รสชาติคือไส้เค็มและไส้หวาน ไส้เค็มนั้นจะมีเนื้อวัว หัวหอมใหญ่ และไข่ ส่วนไส้หวานจะมีกล้วยและไข่เป็นส่วนผสม ความหอมของโรตีมะตะบะที่เพิ่งทอดเสร็จใหม่ๆนั้นเย้ายวนชวนให้ลองชิมยิ่งนัก ด้วยไส้ที่อัดแน่นในแผ่นแป้งที่พับเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส กับรสชาติที่อร่อยกลมกล่อม เราจึงจะเห็นผู้คนยืนออรอคิวซื้อโรตีมะตะบะกันอย่างเนืองแน่น


ผู้สื่อข่าวข่าวภาคใต้ชายแดนได้มีโอกาสลงพื้นที่ไปแพร่ภาพสดที่ตลาดปูยุดแห่งนี้ จนสังเกตุเห็นผู้คนที่ยืนรอคิวกันเต็มล้นออกมานอกถนนใหญ่ จนไม่สามารถมองเห็นตัวร้านได้เลย เมื่อเราเข้าไปพูดคุยพบว่าร้านนี้คือร้านขายโรตีมะตะบะ ชื่อร้าน กะดะห์ มะตะบะ (ปูยุดเจ้าเก่า) ผู้คนที่ยืนรอคิวนั้นทุกคนจะถือบัตรคิวที่ทางร้านได้ให้ไว้ และรอฟังการเรียกคิวอย่างใจจดใจจ่อ


          กะดะห์ ฟารีดะห์ สะแลแม เจ้าของร้านเล่าให้ฟังว่า ร้านโรตีมะตะบะ"กะดะห์" เปิดขายมาตั้งแต่รุ่นพ่อซึ่งเมื่อก่อนชื่อร้านตะเย๊าะแอ และตนคือรุ่นที่สืบต่อซึ่งผ่านการผัดโรตีขายมาแล้ว 24 ปี แต่หากรวมๆกับรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าแล้วมะตะบะสูตรนี้น่าจะไม่ต่ำว่า 40 ปี "...สูตรความอร่อยเข้มข้นที่แตกต่างจากเจ้าอื่นๆ ทำให้มีลูกค้าประจำอยู่จำนวนมาก ทุกๆวันในช่วงเดือนรอมฎอนจะมีผู้คนมายืนรอซื้อกันไม่ขาดสาย เราทำกันสดใหม่ทุกวัน ใน 1 วัน ใช้แป้งทำโรตี 3 กระสอบ นั่นเท่ากับ 3000 กว่าลูกต่อวัน ใช้กระทะแบนๆสำหรับเป็นเตาทอด 4 เตา ใช้พนักงานทั้งหมด 20 คน เริ่มงานกันตั้งแต่ 8 โมงเช้าจนถึง 6 โมงเย็น ใช้เนื้อวัว 40 กิโลกรัมต่อวัน ราคาลูกละ 10 บาทเท่านั้น สำหรับจุดเด่นที่ทำให้ลูกค้าติดใจและยอมรอคิวกันเยอะขนาดนี้ก็คือโรตีของที่ร้านกะดะห์มีเนื้อแป้งที่หอมนุ่มบวกกับรสกลมกล่อมพอเหมาะพอดีของใส้ที่อัดแน่นอยู่ภายใน คือไม่หวานและไม่เค็มเกินไป ทำให้ใครไปใครมาที่ได้ลิ้มลองเป็นต้องติดใจและหวนกลับมาซื้อเป็นประจำ..."


          บรรยากาศการค้าขายในแต่ละตลาดช่วงเดือนรอมฎอนในปีนี้เป็นไปด้วยความคึกคัก พี่น้องประชาชนออกมาจับจ่ายกันมากขึ้น บรรดาร้านค้าแต่ละร้านก็เฟ้นหาเมนูอาหารใหม่ๆมาวางจำหน่ายที่หลากหลายเพื่อดึงดูดให้ลูกค้าได้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม "โรตีมะตะบะ"ก็ยังคงเป็นอาหารยอดฮิต ที่ทุกบ้านต้องหาซื้อมาทานในช่วงละศีลอดเดือนรอมฎอน เพราะฉะนั้นหากอยากจะลิ้มลองมะตะบะเจ้าเก่าสูตรดั้งเดิมก็ต้องมาหาซื้อที่ปูยุด จังหวัดปัตตานีค่ะ ส่วนพี่น้องต่างพื้นที่ถ้าได้แวะเวียนผ่านมาก็ไม่ควรพลาดนะคะ เพราะถ้าไม่ได้ทานโรตีมะตะบะปูยุด ก็จะถือว่ามาไม่ถึงปัตตานีจ้า







"สีสันชายแดนใต้" ละเล่นพื้นบ้าน “กลองยาว” สร้างความสามัคคีคนในชุมชน



ที่เวทีถนนสายวัฒนธรรม ข้างศาลจังหวัดยะลา งานสมโภชหลักเมือง และงานกาชาด จ.ยะลา ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 พ.ค. 61- 4 มิ.ย. 61 สำนักงานวัฒนธรรม จ.ยะลา ได้จัดการประกวดศิลปะการแสดงพื้นบ้าน “กลองยาว” ภายใต้โครงการเสริมสร้างภาพลักษณ์จังหวัดยะลา ประจำปี 2561 กิจกรรมถนนสายวัฒนธรรม วิถีไทย วิถีถิ่นจังหวัดยะลา ขึ้น โดยมีทีมคณะกลองยาว จาก อ.เมืองยะลา อ.กาบัง และ อ.ธารโต เข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 4 ทีม ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก และสนุกสนาน โดยนางรำ และกลองยาว ของแต่ละทีมซึ่งมีสมาชิกไม่เกิน 30 คน ทั้งรุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ ต่างแต่งกายด้วยเสื้อผ้าชุดไทยที่มีสีสันสวยงาม เข้าร่วมประชันฝีมือด้วยความพร้อมเพรียง ในการรำ และการตีกลองยาว ตามจังหวะเสียงร้อง และเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ ซึ่งมีทั้ง ฉิ่ง ฉาบ กรับไม้ โหม่ง เครื่องเป่า และกลองยาว ซึ่งแต่ละทีมก็จะใช้ระยะเวลาการแสดงทีมละ 10-15 นาที และไม่ทำให้บรรดากองเชียร์ และประชาชนที่มาร่วมเชียร์ ร่วมชมผิดหวัง แต่ละคนต่างส่งเสียงเชียร์ด้วยความสนุกสนานคึกคัก สร้างบรรยากาศความสุข และเสียงหัวเราะ ให้กับทั้งผู้เล่น ผู้ชม เป็นอย่างยิ่ง


สำหรับเกณฑ์การตัดสิน นั้น จะมีคณะกรรมการจำนวน 5 คน ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ และมีความรู้ หลากหลายสาขา เป็นผู้ให้คะแนน โดยพิจารณาจากการบรรเลงกลองยาว จังหวะ / ท่วงที ความไพเราะของเสียงกลอง การแต่งกาย / ความพร้อมเพรียง ทำนองเพลงประกอบกลองยาว ความคิดสร้างสรรค์ ทำนองสอดคล้อง ความกลมกลืนการบรรเลง ผู้รำประกอบกลองยาว จังหวะลีล่าท่ารำ
โดยทีมที่ชนะเลิศการประกวดกลองยาว เป็นคณะกลองยาวศิษย์หลวงพ่อดำ (บ้านทุ่งยามู) อ.เมือง จ.ยะลา ได้รับโล่ และเงินรางวัล จำนวน 9,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 1 เป็นทีมบ้านบังนังกระแจะ อ.ธารโต จ.ยะลา ได้รับโล่ และเงินรางวัล จำนวน 7,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 2 เป็นทีมลูกทุ่งกลองยาวบ้านกาบัง อ.กาบัง จ.ยะลา ได้รับโล่ และเงินรางวัล จำนวน 5,000 บาท ส่วนรางวัลชมเชย เป็นกลองยาวคณะสันติภาพ (วัดตรีมิตร) อ.เมือง จ.ยะลา ได้รับเงินรางวัล จำนวน 4,000 บาท โดยมีนายอนุชิต ตระกูลมุทุตา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ให้เกียรติ เป็นผู้มอบรางวัลการประกวด พร้อมด้วย นางสาวลิปิการ์ กำลังชัย วัฒนธรรมจังหวัดยะลา


    ทั้งนี้ การประกวดศิลปะการแสดงพื้นบ้าน “กลองยาว” จัดขึ้น โดยมุ่งเน้นการอนุรักษ์ฟื้นฟูศิลปะ การละเล่นพื้นบ้านให้คงอยู่ อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความรัก ความสามัคคี ของประชาชนในพื้นที่อีกด้วย









วันพุธที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

จ.ปัตตานี จัดกิจกรรมปลูกป่าชายเลน ตามโครงการประชารัฐร่วมใจปลูกต้นไม้ให้แผ่นดิน



        ที่บริเวณป่าชายเลน หลังมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นประธานเปิดกิจกรรมปลูกต้นไม้ ตามโครงการประชารัฐร่วมใจปลูกต้นไม้ให้แผ่นดิน ประจำปี 2561 โดยมีนักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ หัวหน้าส่วนราชการ และแขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วมกิจกรรม จำนวนกว่า 500 คน


     นายมงคล ไข่มุกด์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 7 กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ดำเนินโครงการนี้ขึ้นเพื่อร่วมสืบสานแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 เพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้ภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนร่วมกันปลูกต้นไม้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความรักความสามัคคี ร่วมกันทำความดีเพื่อประเทศชาติ และปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ต้นไม้และทรัพยากรป่าไม้อีกด้วย


     สำหรับต้นไม้ที่ปลูกในครั้งนี้เป็นกล้าไม้โกงกาง ปลูกในบริเวณริมทะเลรูสะมิแล ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งมีสภาพเป็นป่าชายเลน และกำลังมีการปลูกต้นโกงกางเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อป้องกันการกัดเซาะตลิ่ง และฟื้นฟูระบบนิเวศป่าชายเลน

















ชาวไทยพุทธ - มุสลิมร่วมจัดโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ



       วันที่ 29 พฤษภาคม 2561 ที่บ้านป่ายาง หมู่ที่ 3 ต.ทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประธานเปิดโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กิจกรรมบวชต้นไม้และละหมาดฮายัต ครั้งที่ 1 ประจำปี 2561


     โดยมีนายลือชัย เจริญทรัพย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายเศวต เพชรนุ้ย นายอำเภอโคกโพธิ์ ร่วมกับประชาชนชาวไทยพุทธ และมุสลิม ตำบลทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จัดโครงการขึ้นเพื่ออนุรักษ์พันธุกรรมพืชประจำถิ่น อนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ทั้งในที่ดินของทางราชการ ของชุมชน และของส่วนบุคคลเพื่อไว้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารและแหล่วออกซิเจนของชาติ เพื่อสืบสานให้เป็นประเพณีและวัฒนธรรมของชุมชนสืบไป เพื่อปลูกจิตสำนึกให้เยาวชน ชุมชน รักพันธ์พืชต้นไม้ และอนุรักษ์ให้ยาวนานที่สุด และเพื่อสนองพระราชดำริ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีกิจกรรมการทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง การแห่ริ้วขบวนผ้าสบงทำพิธีบวชต้นไม้ และกิจกรรมปลูกต้นไม้ ในส่วนของประชาชนขาวไทยมุสลิมที่ร่วมโครงการได้ทำพิธีละหมาดฮายัตขอพรเพื่อให้เกิดความสงบสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้














วันอังคารที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

จ.นราธิวาส จัดโครงการรอมฎอนสัมพันธ์ "รินน้ำใจเพื่อเด็กกำพร้าและคนพิการ"



      นายสุรพร พร้อมมูล ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส นายสมหวัง เรืองเพ็ง ปลัดจังหวัดนราธิวาส ว่าที่ ร.ต.จิรัสย์ ศิริวัลลภ นายอำเภอบาเจาะ ร่วมละศีลอดเดือนรอมฎอน ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1439 ร่วมกับเด็กกำพร้าในพื้นที่อำเภอบาเจาะ ตามโครงการรอมฎอนสัมพันธ์ "รินน้ำใจเพื่อเด็กกำพร้าและคนพิการ" พร้อมกันนี้ ได้ร่วมกันมอบเงินช่วยเหลือให้แก่เด็กกำพร้าในพื้นที่ ณ บริเวณด้านหน้าที่ว่าการอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส


      หลังจากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส และคณะ ได้ร่วมและศีลอดเดือนรอมฎอนกับพี่น้องชาวมุสลิมในพื้นที่อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส พร้อมทั้งพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน บรรยากาศเป็นไปอย่างอบอุ่น           

                                                          
      สำหรับโครงการรอมฎอนสัมพันธ์ "รินน้ำใจเพื่อเด็กกำพร้าและคนพิการ" ได้จัดต่อเนื่องมาเป็นครั้งที่ 4 เพื่อช่วยเหลือเด็กกำพร้าและคนพิการในพื้นที่ ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคม ซึ่งถือเป็นการทำบุญในช่วงเดือนรอมฎอน เดือนอันประเสริฐของพี่น้องชาวมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้








วันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

จ.นราธิวาส จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ เนื่องในวันต้นไม้ประจำปีของชาติ ปี 2561



      วันที่ 28 พ.ค. 61 นายมะรอปี มาปะ รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วยข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัด ร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้ เนื่องในวันต้นไม้ประจำปีของชาติ ปี 2561 เพื่อเสริมสร้างความรักและความสามัคคีในหมู่คณะ ตลอดจนเพื่อให้มีความร่มรื่น ความสวยงาม เพิ่มพื้นที่สีเขียว ตามโครงการประชารัฐร่วมใจปลูกต้นไม้ให้แผ่นดินของรัฐบาล พร้อมกันนี้ ได้ขอบคุณศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธิน กองทัพเรือ ที่ให้การสนับสนุนพันธุ์กล้าไม้ในการจัดกิจกรรมฯ ด้วย


สำหรับวันต้นไม้ประจำปี ครั้งแรกของโลกถือกําเนิดมาร้อยกว่าปีแล้วในมลรัฐเนบราสกา (Nebraska) ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2515 ประชาชนในมลรัฐได้ร่วมกันปลูกต้นไม้กว่าหนึ่งล้านต้น และถือปฏิบัติเป็นประเพณีสืบต่อมา และต่อมาได้แพร่หลายไปทั่วโลก


      ในส่วนของประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2481 ซึ่งตรงกับวันชาติ กรมป่าไม้ ได้จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ตามแบบฉบับที่ปฏิบัติกันในต่างประเทศซึ่งเรียกว่า “วันปลูกต้นไม้ในสหรัฐอเมริกา” (Arbor Day) จนกระทั่งเมื่อปี 2532 คณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2532 ให้วันวิสาขบูชา เป็นวัน “ต้นไม้ประจำปีของชาติ” ของประเทศไทยสืบมา ซึ่งปีนี้ (2561) ตรงกับวันที่ 29 พฤษภาคม 2561









วันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ศปบ.จชต. สร้างความเข้าใจ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร เพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา จชต. ครั้งที่ 10/2561



         ณ ห้องประชุมกระทรวงศึกษาธิการ (ส่วนหน้า) ค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี นายศรีชัย พรประชาธรรม ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประธานการประชุมสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร เพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 10/2561 พร้อมด้วยนายสนิท แย้มเกษร และนายสิทธิพงศ์ นกแอนหมาน รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ บุคลากรในหน่วยงานทางการศึกษาที่เกี่ยวข้อง และบุคลากรของศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 30 คน


        ศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ดำเนินการประชุมสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยพลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีบัญชาการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเพื่อให้เข้าถึงประชาชนกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง จะต้องมีหน่วยงานทางการศึกษาออกหน่วยบริการไปยังประชาชนภายใต้แนวคิด ศึกษาธิการจังหวัดพบปะประชาชน โดยมอบให้ศึกษาธิการจังหวัดวางแผนรูปแบบกิจกรรมที่นำลงไปการสร้างการรับรู้ให้ประชาชน


       ภายในงานจะมีการบูรณาการระหว่างองค์กรในท้องถิ่นและหน่วยงานในพื้นที่ เช่น สาธารณสุขชุมชน อำเภอ โดยมีการแสดงเชิงพหุวัฒนธรรมของนักเรียน นักศึกษา มีการบริการประชาชน การซ่อมรถจักรยานยนต์ การแสดงนิทรรศการของนักเรียนที่ผ่านการแข่งขันในระดับต่าง ๆ นิทรรศการภาพวาด บูธโรงเรียนประชารัฐ และโรงเรียนสานฝันการกีฬาฯ เพื่อเผยแพร่รางวัลต่าง ๆ ของเด็กนักเรียนให้ประชาชนภายนอกได้รับทราบ