วันพฤหัสบดีที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

"สีสันชายแดนใต้" ละเล่นพื้นบ้าน “กลองยาว” สร้างความสามัคคีคนในชุมชน



ที่เวทีถนนสายวัฒนธรรม ข้างศาลจังหวัดยะลา งานสมโภชหลักเมือง และงานกาชาด จ.ยะลา ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 พ.ค. 61- 4 มิ.ย. 61 สำนักงานวัฒนธรรม จ.ยะลา ได้จัดการประกวดศิลปะการแสดงพื้นบ้าน “กลองยาว” ภายใต้โครงการเสริมสร้างภาพลักษณ์จังหวัดยะลา ประจำปี 2561 กิจกรรมถนนสายวัฒนธรรม วิถีไทย วิถีถิ่นจังหวัดยะลา ขึ้น โดยมีทีมคณะกลองยาว จาก อ.เมืองยะลา อ.กาบัง และ อ.ธารโต เข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 4 ทีม ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก และสนุกสนาน โดยนางรำ และกลองยาว ของแต่ละทีมซึ่งมีสมาชิกไม่เกิน 30 คน ทั้งรุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ ต่างแต่งกายด้วยเสื้อผ้าชุดไทยที่มีสีสันสวยงาม เข้าร่วมประชันฝีมือด้วยความพร้อมเพรียง ในการรำ และการตีกลองยาว ตามจังหวะเสียงร้อง และเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ ซึ่งมีทั้ง ฉิ่ง ฉาบ กรับไม้ โหม่ง เครื่องเป่า และกลองยาว ซึ่งแต่ละทีมก็จะใช้ระยะเวลาการแสดงทีมละ 10-15 นาที และไม่ทำให้บรรดากองเชียร์ และประชาชนที่มาร่วมเชียร์ ร่วมชมผิดหวัง แต่ละคนต่างส่งเสียงเชียร์ด้วยความสนุกสนานคึกคัก สร้างบรรยากาศความสุข และเสียงหัวเราะ ให้กับทั้งผู้เล่น ผู้ชม เป็นอย่างยิ่ง


สำหรับเกณฑ์การตัดสิน นั้น จะมีคณะกรรมการจำนวน 5 คน ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ และมีความรู้ หลากหลายสาขา เป็นผู้ให้คะแนน โดยพิจารณาจากการบรรเลงกลองยาว จังหวะ / ท่วงที ความไพเราะของเสียงกลอง การแต่งกาย / ความพร้อมเพรียง ทำนองเพลงประกอบกลองยาว ความคิดสร้างสรรค์ ทำนองสอดคล้อง ความกลมกลืนการบรรเลง ผู้รำประกอบกลองยาว จังหวะลีล่าท่ารำ
โดยทีมที่ชนะเลิศการประกวดกลองยาว เป็นคณะกลองยาวศิษย์หลวงพ่อดำ (บ้านทุ่งยามู) อ.เมือง จ.ยะลา ได้รับโล่ และเงินรางวัล จำนวน 9,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 1 เป็นทีมบ้านบังนังกระแจะ อ.ธารโต จ.ยะลา ได้รับโล่ และเงินรางวัล จำนวน 7,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 2 เป็นทีมลูกทุ่งกลองยาวบ้านกาบัง อ.กาบัง จ.ยะลา ได้รับโล่ และเงินรางวัล จำนวน 5,000 บาท ส่วนรางวัลชมเชย เป็นกลองยาวคณะสันติภาพ (วัดตรีมิตร) อ.เมือง จ.ยะลา ได้รับเงินรางวัล จำนวน 4,000 บาท โดยมีนายอนุชิต ตระกูลมุทุตา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ให้เกียรติ เป็นผู้มอบรางวัลการประกวด พร้อมด้วย นางสาวลิปิการ์ กำลังชัย วัฒนธรรมจังหวัดยะลา


    ทั้งนี้ การประกวดศิลปะการแสดงพื้นบ้าน “กลองยาว” จัดขึ้น โดยมุ่งเน้นการอนุรักษ์ฟื้นฟูศิลปะ การละเล่นพื้นบ้านให้คงอยู่ อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความรัก ความสามัคคี ของประชาชนในพื้นที่อีกด้วย









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น