วันพุธที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ชาวยะลา เรียนรู้การเชิด “วายังกูเละ” สืบทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม



       ที่ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาพื้นบ้านวายังกูเละ บ้านสาคอ หมู่ที่ 4 ตำบลท่าสาป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เด็ก ๆ และเยาวชน ในพื้นที่ตำบลสาคอ ซึ่งได้เข้าร่วมอบรมการเชิดวายังกูเละ โครงการสืบทอดและส่งเสริมการแสดงวายังกูเละ ตั้งอกตั้งใจที่จะเรียนรู้ และชมการฝึกสอนการเชิดวายังกูเละ ซึ่งการฝึกครั้งนี้ เด็ก ๆ ได้เรียนรู้และฝึกการเชิดรูปหนังจากตัวหนังจริงบนจอหนัง ซึ่งไว้ใช้ทำการแสดงวายังกูเละ โดยมีการเคาะให้จังหวะ เพื่อให้เด็ก ๆ รู้จังหวะในการเชิดหนัง


นายหนังเต็งสาคอ มะยาเต็ง สาเมาะ กล่าวว่า สำหรับการฝึกอบรมการเชิด "วายังกูเละ" หรือหนังตะลุงมลายูสองภาษานี้ ก็เป็นโครงการต่อเนื่องหลังจากหนังตะลุงปักษ์ใต้ ได้จัดอบรมสืบสานภูมิปัญญาวายังกูเละ ให้กับเด็กและเยาวชนเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยมีการฝึกอบรมไปแล้วขั้นตอนหนึ่ง โดยน้อง ๆ มีความสำเร็จเป็นบางส่วน สามารถที่จะฝึกต่อได้


ซึ่งน้อง ๆ ที่มาเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ จำนวน 20 คน ก็จะมีทั้งเด็กในรุ่นที่แล้วและเด็กใหม่ที่ให้ความสนใจ อยากที่จะมาเรียนรู้ ฝึกการเชิดหนังตะลุง ซึ่งการฝึกให้เด็กเรียนรู้ได้เร็วก็จะต้องให้เด็กรู้จังหวะเครื่องดนตรีพื้นบ้าน สนุก รักในเรื่องนี้ ถ้าจับจังหวะได้แล้วการเชิดหนังก็จะไปตามจังหวะการฝึกก็จะไม่ยาก ซึ่งตนเองก็พยายามที่จะถ่ายทอดความรู้ ภูมิปัญญา ที่มีอยู่ให้กับเด็ก ๆ ให้มากที่สุด แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นกับเด็ก ๆ ที่จะต้องรักและชอบการแสดง "วายังกูเละ" มีไหวพริบ การสังเกตที่ดี ก็สามารถที่จะเรียนรู้การเชิดวายังกูเละได้เร็ว สำหรับวายังกูเละนี้จะยากตรงที่การดำเนินเรื่อง ให้ผู้ชมอินไปตามนายหนังให้ได้ ติดตามชมไปตลอดว่าจะจบตรงไหน


นางปัตติกาญจน์ บรรดาศักดิ์ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดยะลา กล่าวว่า สืบเนื่องจากศิลปะการแสดง "วายังกูเละ" ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ เมื่อปี 2560 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ก็ได้ให้งบสนับสนุนกับทางสำนักงานวัฒนธรรม สภาวัฒนธรรมจังหวัดยะลา ในการส่งเสริมสืบทอดศิลปะวายังกูเละ ทางวัฒนธรรมจังหวัดยะลา จึงได้จัดกิจกรรมสืบทอดศิลปะวายังกูเละ ขึ้นเพื่อให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ได้เข้ามาเรียนรู้และร่วมกันสืบสาน ซึ่งเด็ก ๆ จะได้รับความรู้เกี่ยวกับศิลปะการแสดงที่กำลังจะสูญหายจากพื้นที่และร่วมกันปกป้อง ตลอดจนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน


ด้าน นางสาวซารีน่า สาเมาะ บุตรสาวหนังเต็ง สาคอ กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้สืบทอด "วายังกูเละ" จากคุณพ่อนายหนังเต็ง สาคอ และจะสืบทอดไปโดยตลอด จะทำให้จิตใจของบรรพบุรุษของเรามีความสุข ช่วงนี้ก็ได้ฝึกเครื่องดนตรี เชิดรูปหนังแล้ว ก็อยากเชิญชวนเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ที่จมกับความมืดยาเสพติด อบายมุข ร่วมกันหันกลับมารักษาศิลปวัฒนธรรมที่กำลังจะสูญหาย ให้คงอยู่คู่กับจังหวัดยะลา ต่อไป









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น