วันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ร้อยเรียงเรื่องราว ‘รัฐฟ้อง 3 NGOs’ เวที“สันติภาพจอมปลอม” หวิดล่มกล่าวหาทหารแทรกแซง

ลมใต้ สายบุรี


กลับกลายเป็นเรื่องราวดราม่าต้อนรับเดือนรอมฏอน เมื่อจุดเล็กๆ ความเห็นต่างนำไปสู่ความไม่เข้าใจ ระหว่างหน่วยงานความมั่นคงกับกลุ่มคนที่ได้ชื่อว่าทำงาน เพื่อสิทธิมนุษยชนชายแดนใต้ที่มีการทำรายงานสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเรื่องของการ ซ้อมและ ทรมาน

เมื่อฝ่ายความมั่นคงกลับมองเห็นว่าการจัดทำรายงานสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเรื่องของ การซ้อม และ ทรมานของ 3 นักสิทธิเป็นเท็จเกินความจริงที่ไม่สามารถยอมรับได้ มีการเปิดโอกาสให้หันหน้ามาพูดคุยหาทางออกของปัญหาร่วมกัน ในขณะที่ฝ่ายนักสิทธิผู้จัดทำรายงานกลับไม่ให้ความร่วมมือ ผลในที่สุดทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถที่จะ พูดคุยกันรู้เรื่อง สุดท้ายลงเอยด้วยการพึ่ง กระบวนการยุติธรรมในการ พิสูจน์ความจริงให้ปรากฏด้วยการ แจ้งความดำเนินคดีต่อกลุ่มผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ในเมื่อผู้เสียหายที่ถูกกล่าวหาได้ให้โอกาสในการ พูดคุยหาทางออก แต่อีกฝ่ายกลับ หันหลังหนี เมื่อมาถึงทางตัน กระบวนการยุติธรรมเท่านั้นคือทางออก เพื่อหาข้อพิสูจน์กันในชั้นศาลว่าสิ่งที่ฝ่ายสิทธิมนุษยชนจัดทำรายงาน และได้มีการเผยแพร่ไปนั้นเป็น เรื่องจริง หรือ เท็จ

จากการแถลงข่าวของโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้กล่าวถึงมูลเหตุการณ์ฟ้อง 3 นักสิทธิมนุษยชนว่า รัฐได้ใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องในการประสานความร่วมมือกับองค์กรที่จัดทำรายงานเพื่อร่วมกันตรวจสอบความจริงให้ปรากฏแต่ไม่ได้รับความร่วมมือแต่อย่างใด จึงถือเป็นการเจตนาจงใจปกปิดข้อมูลโดยใช้เหยื่อเป็นเครื่องมือในการจัดทำรายงาน มิใช่การนำไปสู่การตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อเยี่ยวยา และหาแนวทางแก้ไขตามที่กล่าวอ้าง

และในขณะเดียวกันองค์กรที่จัดทำรายงานได้นำเอกสารดังกล่าวออกไปเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ อย่างกว้างขวาง ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งอาจทำให้สังคมเข้าใจผิดส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงเกียรติภูมิ และความเชื่อมั่นต่อเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน นอกจากยังนี้มีบางประเด็นที่สำคัญเช่น โดนให้เปลือยกายในห้องเย็นต่อหน้าเจ้าหน้าที่ทหารพรานหญิงและโดนทหารพรานหญิงเอาหน้าอกมาแนบที่ใบหน้าถือเป็นการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และ ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของสตรีอย่างร้ายแรง

เพื่อธำรงและรักษาไว้ซึ่งการแก้ไขปัญหาตามแนวทางสันติวิธี จึงจำเป็นต้องอาศัยกลไกทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเพื่อนำไปสู่การแสวงหาความจริงร่วมกันในชั้นศาลด้วยการเข้าร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานสอบสวน โดยเชื่อมั่นว่าหากพยานหลักฐานมีอยู่จริงผู้จัดทำรายงานต้องนำมาเป็นข้อต่อสู้ในชั้นศาล แต่หากข้อมูลไม่มีอยู่จริงหรือมีเจตนาบิดเบือนผู้จัดทำรายงานก็สมควรได้รับโทษตามกฎหมายในฐานะที่เป็นผู้ละเมิดสิทธิ ทำลายเกียรติยศ ศักดิ์ศรีและสิทธิขั้นพื้นฐานของเจ้าหน้าที่รัฐผู้ปฏิบัติงานด้วยความทุ่มเทเสียสละและหน่วยงานของรัฐที่พยายามมุ่งมั่นตั้งใจเพื่อลดเงื่อนไขหล่อเลี้ยงความรุนแรงพร้อมทั้งขอยืนยันว่ารัฐจะให้ความคุ้มครองทางกฎหมายต่อประชาชนทุกคนอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม แต่รัฐไม่สามารถเพิกเฉยหรือเลือกปฏิบัติต่อผู้ที่ละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น หรือกระทำผิดกฎหมายได้


การนำข้อมูลดังกล่าวไปเผยแพร่ในสื่อสาธารณะของ น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ในฐานะ ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม มีความจงใจที่จะทำลายภาพลักษณ์ของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่จากกระบวนการซักถามผู้ต้องสงสัย ทั้งๆ ที่ฝ่ายความมั่นคงยื่นข้อเสนอพร้อมให้ความร่วมมือในการตรวจสอบหาความจริง แต่ทั้งสามคนกลับไม่ให้ความร่วมมือในการช่วยกันตามหาความจริง ซึ่งถ้าเป็นจริงตามข้อกล่าวหาในรายงาน รัฐยินดีดำเนินการต่อกำลังพลที่ไปทรมานอย่างเคร่งครัดตามกฎหมาย ไม่มีการปกป้องผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาด

หลังหน่วยงานความมั่นคงฟ้องร้องดำเนินคดีสามนักสิทธิมนุษยชน กลุ่มแนวร่วมไม่ยอมรับความจริง โดยกลุ่ม LAMPAR และ ฮิวแมนไรท์วอทช์ กลับออกแถลงการณ์กดดันให้หน่วยงานความมั่นคงถอนฟ้อง อีกทั้งได้กล่าวหารัฐแบบข้างๆ คูๆ ว่าเป็นการทำลายบรรยากาศสันติสุขชายแดนใต้ แล้วการเอาข้อมูลที่ยังไม่พิสูจน์ความจริงไปทำการโฆษณากล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐในสายตาของกลุ่ม และองค์กรเหล่านี้เป็นการ สร้างสรรค์หรืออย่างไร?

ในเวลาต่อมาได้มีการเชิญชวนรับฟังเสวนาสาธารณะ หัวข้อ สันติภาพจอมปลอม เมื่อรัฐคุกคามนักสิ่งแวดล้อมและนักสิทธิโดยมี นายตูแวดานียา ตูแวแมแง ผอ.LAMPAR อีกทั้งเป็นผู้ประสานงานเครือข่าย PERMATAMAS น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผอ.มูลนิธิผสานวัฒธรรม น.ส. อัญชนา หีมมีหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ ร่วมอภิปราย

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้สมาชิกขององค์กรทั่วโลกส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทยขอให้ล้มเลิกความพยายามที่จะดำเนินคดีกับนักสิทธิ หลังจากที่เจ้าหน้าที่ทหารได้ไปแจ้งความว่านักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน 3 คน คือ นายสมชาย หอมลออ น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ  น.ส.อัญชนา หีมมีหน๊ะ กรณีหมิ่นประมาทเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะจัดทำและเผยแพร่รายงานเรื่องการซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนใต้ การเผยแพร่ข้อมูลยังทำให้มีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิด พ.ร.บ.ทางคอมพิวเตอร์อีกด้วย

เว็บไซท์แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เชิญชวนให้สมาชิกทั้งในไทยและต่างประเทศส่งจดหมายไปยังรัฐบาลไทยเพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกความพยายามดังกล่าวอย่างทันทีและโดยไม่มีเงื่อนไข ตลอดจนยุติการข่มขู่คุกคามใดๆ และกระตุ้นให้ทางการไทยสอบสวนตามข้อมูลเรื่องของการซ้อมทรมานในรายงาน รวมทั้งให้นำตัวผู้กระทำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และเยียวยาผู้เสียหาย

ทำไม? แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้สมาชิกขององค์กรทั่วโลกส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทยขอให้ล้มเลิกความพยายามที่จะดำเนินคดีกับนักสิทธิ โดยไม่มีเงื่อนไขตลอดจนยุติการข่มขู่คุกคามใดๆ ต่อนักสิทธิทั้งสาม
อย่าลืมว่า น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ยังสวมหมวกอีกใบคือการดำรงตำแหน่ง ประธานแอมแนสตี้ international ประจำประเทศไทย เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกที่พวกเดียวกันเอง ย่อมออกมาเคลื่อนไหว ปกป้องกันเองด้วยการยืมมือองค์กรทั่วโลกกดดันรัฐบาลไทย

ในขณะที่องค์กรระหว่างประเทศออกมารณรงค์เพื่อปกป้องนักสิทธิในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ การแจ้งความดำเนินคดีนักเคลื่อนไหวก็กลายเป็นประเด็นให้ถกเถียงกันเรื่องการขาด พื้นที่กลางในการทำงานด้านสิทธิในภาคใต้
ในเวลาต่อมาเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2559  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง ม.อ.ปัตตานี ขอยืนยันการเป็นพื้นที่กลางเพื่อหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้

เนื้อหาของแถลงการณ์ จากกรณี ม.อ.ปัตตานี ขอความร่วมมือให้เลื่อนการจัดการเสวนาวิชาการของกลุ่มเครือข่ายประชาชนชายแดนใต้ปกป้องสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมานั้น และได้มีการรายงานข้อมูลจากผู้จัดการเสวนา โดยระบุว่าได้มีนายทหารระดับสูงเข้าพบ รองศาสตราจารย์ ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และอธิการบดีได้แจ้งคณะวิทยาการสื่อสาร ซึ่งเป็นผู้อนุญาตการขอใช้สถานที่ให้ยกเลิกการเสวนาดังกล่าวนั้น ม.อ.ปัตตานี และคณะวิทยาการสื่อสาร ขอชี้แจงให้ทราบว่า ไม่มีนายทหารระดับสูงเข้าพบอธิการบดีแต่อย่างใด

อธิการบดีมิได้ขอให้มีการยกเลิกการใช้สถานที่ เพียงแต่ได้แสดงความกังวลใจต่อ ชื่อของการเสวนา ที่สื่อความหมายรุนแรง จึงได้ประสานไปยังผู้จัดงานเพื่อขอความร่วมมือให้เลื่อนการจัดเสวนาดังกล่าวออกไปก่อน รวมทั้งพิจารณาการปรับชื่อการเสวนาที่มีการสื่อความหมายเชิงลบ ซึ่งอาจไม่เป็นผลดีต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ในภาพรวม

ม.อ.ปัตตานี ขอแสดงจุดยืนในการเป็น พื้นที่กลางในกระบวนการสันติภาพโดยไม่เลือกข้าง เพื่อเอื้ออำนวยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ที่มีบทบาทเป็น คนกลางได้หยิบยกประเด็นความขัดแย้งหรือประเด็นความอ่อนไหวสู่วงพูดคุยให้มากขึ้น และเพื่อเปิดโอกาสในการค้นหาแนวทางก้าวพ้นความขัดแย้งในวิถีที่ไม่ใช้ความรุนแรง และมุ่งมั่นร่วมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสังคมที่พร้อมยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรม ความคิด และอุดมการณ์

พื้นที่กลาง ท่ามกลางความขัดแย้งทางความคิดที่ผ่านมีอยู่บ่อยครั้งที่กลุ่มและองค์กรได้ใช้พื้นที่กลางเป็นสัญลักษณ์ในการจัดเสวนาหรือแสดงสัญลักษณ์การแสดงออกบางอย่างเพื่อทำลายภาพลักษณ์ของรัฐ ซึ่งเป็นมิติที่ดีที่ ม.อ.ปัตตานี ได้แสดงจุดยืนปฎิเสธการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบไม่ว่าจากฝ่ายใดและขอเรียกร้องให้ผู้ที่ต้องการใช้ พื้นที่กลางแห่งนี้ทุกฝ่าย ได้ร่วมกันรักษายึดมั่นหลักการสำคัญดังกล่าวร่วมกัน ในการก้าวข้ามผ่านความขัดแย้งของสังคมในทุกมิติ การเปิด พื้นที่กลางของมหาวิทยาลัยให้มีบทบาทในการเอื้อให้ทุกฝ่ายได้มีพื้นที่มีเสรีภาพและเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็น เสนอความต้องการ หรือเสนอทางออกของปัญหาในประเด็นสาธารณะอย่างแท้จริง ไม่ใช่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเหมือนอดีตที่ผ่านมา โดยการใช้ สถานที่ราชการกล่าวหาด่าทอรัฐ
***********
ที่มา:http://www.southernreports.com/


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น