วันพุธที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ตาดีกา (อุทยานอบรมจริยธรรมเด็ก)


คำว่า ตาดีกา เอามาจากภาษามาเลเซีย คำว่า ตา ย่อมาจากคำว่า ตามัน หมายถึง สวน อุทยาน ดี ย่อมาจาก ดีเดะกัน แปลว่า อบรม สั่งสอน กา ย่อมาจากคำว่า กาเนาะกาเนาะ แปลว่าเด็กๆ สามคำนี้รวมกันหมายถึงอุทยานอบรมจริยธรรมเด็ก 


ตาดีกา มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมให้เด็กๆ เยาวชนมุสลิมมีความรู้ทางด้านศาสนาขั้นพื้นฐาน ทุกวันหลังเลิกเรียนสามัญ หรือวันเสาร์อาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุดเด็กๆเหล่านี้จะไปรวมตัวกันที่มัสยิดเพื่อเรียนหนังสือศาสนา โดยที่ครูผู้สอน หรืออุซตะ จะทำการสอนโดยมีหนังสือเรียนเป็นภาษามลายู ภาษามาเลย์ และภาษาอาหรับ การอธิบายของครูและการสื่อสารจะใช้ภาษามลายู การศึกษาของเด็กๆ ในชนบทยังไม่มีการพัฒนาและรัฐก็ยังไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในเรื่องนี้มากนัก


ทำให้การเรียนการสอนยังคงใช้ความเป็นบ้านๆ ของครูชนบท แบบไม่มีพิธีรีตองในการสอนเป้าหมายมุมมองชีวิตของการศึกษาก็ยังมีเป้าหมายไม่ชัดเจนนอกเสียจากการเป็นคนดีอยู่ในคำสอนศาสนาเท่านั้นเอง วิถีชีวิตของเด็กตัวน้อยๆ ถูกห้อมล้อมไปด้วยธรรมชาติชนบท ทั้งภาษาพูดเขียนและขนบธรรมเนียมประเพณี ชีวิตเต็มไปด้วยความบริสุทธิ์เรียบง่าย


ปัจจุบันนี้ ตาดีกา กลายเป็นสถานที่อบรมสอนเฉพาะวิชาทางศาสนา และเข้าใจพื้นฐานอิสลามและความรู้ที่จำเป็นในการเป็นมุสลิมและจำเป็นที่จะต้องเรียน หรือเรียกว่าอีกชื่อว่า ฟัรฎูอีน (จำเป็นต้องเรียนเป็นรายบุคคล) วิชาต่างๆ ที่ใช้เรียนในปัจจุบันพอจะแยกออกดังนี้ 

1.กลุ่มวิชา ชารีอัต อิสลามียะห์ ฟิก/ วิชาว่าด้วยเรื่องกฎหมายอิสลาม ตัฟซีร/การอธิบายความหมายกุรอ่าน อัลฮาดิษ/ พระวัจนะของศาสดา

2.กลุ่มวิชาอาดาบีย๊ะห์ นาฮู/ เรื่องไวยากรณ์ภาษาอาหรับ ซอรัฟ/การผันคำและการสร้างประโยคอาหรับ บาลาเฆ๊าะห์/สำนวนโวหารภาษาอาหรับ อัตตาริค/วิชาประวัติศาสตร์

3.กลุ่มวิชาเตาฮีด เนื้อหาหลักการรู้จักพระเจ้า หลักการศาสนา หลักความเชื่อ และการศรัทธาต่อพระเจ้า 

4.กลุ่มวิชาอัลอัคล๊าค เนื้อหาวิชาจะว่าด้วยเรื่องคุณธรรม จริยธรรม การอยู่ร่วมกับสังคมและการมีมารยาทที่ดี

สี่กลุ่มวิชาหลักที่จะต้องเรียนรู้และมีการเชื่อมโยงสู่ระดับซากอเลาะห์ และเลยไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย หากแต่วิชาเรียนของตาดีกาอาจมีความเบาบางในเรื่องเนื้อหาของหนังสือเรียนซึ่งจะค่อยๆ เพิ่มเนื้อหามากขึ้นเมื่อเข้าสู่ระดับซากอเลาะห์หรือในระดับมัธยม


จะเห็นได้ว่าการเปิดเรียนตาดีกา คือ การเปิดสมองและมุมมองเรื่องศาสนาที่กว้างขึ้นเด็กในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในวัยประถมสามารถเรียนรู้ควบคู่ไปกับสามัญโดยเฉพาะภาษาคือสิ่งที่สร้างความกว้างขวางให้พวกเขาได้ดีกว่านักศึกษาในจังหวัดอื่นๆ ของประเทศไทย เมื่อเด็กๆ เหล่านี้จบระดับชั้นประถมปีที่ 6 ก็สามารถต่อยอดไปศึกษาทั้งด้านศาสนาและสามัญในโรงเรียนเอกชนได้ในระดับที่สูงขึ้นไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น