วันจันทร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2562

น่าทึ่ง!! คนเบตงเลี้ยงปลากือเลาะห์หรือปลาพวงชมพู ขายกิโลกรัมละ 3,000 บาท



        ปลากือเลาะห์ เป็นปลาน้ำจืดประจำท้องถิ่นจังหวัดยะลาและนราธิวาส มีชื่อเรียกตามภาษาท้องถิ่นว่า อีแกกือเลาะห์ หรือปลากือเลาะห์ อยู่ในตระกูลเดียวกับปลาเวียน และปลาพลวงหิน ความโดดเด่นในสีของเกล็ดที่มีลักษณะเป็นสีชมพู ครีบหลังและครีบหางสีแดง เป็นปลาพลวงชนิดเดียวที่สามารถกินได้ทั้งเกล็ด นิยมบริโภคในประเทศแถบอินโดจีน โดยเฉพาะมาเลเซีย ที่ยังไม่สามารถวิจัยเพาะขยายพันธุ์ได้ และมีกฎหมายห้ามจับจากธรรมชาติมาบริโภคสาเหตุที่ทำให้ปลามีราคาสูง เพราะเป็นปลาที่มีรสชาติดี หาได้ยาก อยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ ถึงจะมีหน่วยงราชการนำไปเพาะขยายพันธุ์ แต่การเลี้ยงก็ยังไม่กว้างขวาง เพราะเป็นปลาที่ตกใจง่าย

        คุณการุณ อุไรประสิทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดยะลา ได้อธิบายว่า การขยายพันธุ์ และความยากลำบากของทางเจ้าหน้าที่ต้องใช้ความชำนาญพิเศษ ที่ต้องคอยสังเกตระยะที่มีไข่สุกพร้อมมากที่สุด ถึงจะทำได้สำเร็จ และส่งเสริมให้เกษตรกร 50 ราย ในพื้นที่อำเภอธารโตและอำเภอเบตง จังหวัดยะลา เลี้ยงในบ่อดิน ต่อท่อตรงมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติและปล่อยให้ไหลผ่านระบบออกไป โดยปล่อยลูกปลา ขนาด 2-3 นิ้ว หนัก 20 กรัม ในอัตรา 1-5 ตัว ต่อพื้นที่บ่อ 1 ตารางเมตร ให้อาหารปลาปลาดุก วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น มื้อละ 2-3% ของน้ำหนักตัว ใช้เวลาเลี้ยง 3-5 ปี ถึงจะมีน้ำหนัก 3 - 5 กิโลกรัม ได้ขนาดตรงความต้องการของตลาด

         จากการคำนวณต้นทุนค่าอาหาร ผอ. ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดยะลา บอกว่า ปลาพลวงชมพูให้ผลตอบแทนสูง มีอัตราแลกเนื้ออยู่ที่ 2-3 : 1 ถ้าจะเลี้ยงให้ได้ขนาด 2.3 กิโลกรัม ใช้อาหารไม่เกิน 7 กิโลกรัม เพราะฉะนั้นจะมีต้นทุนค่าอาหารแค่ตัวละ 210-250 บาท แต่สามารถขายได้สูง 4,000-5,000 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งทางศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดยะลา ได้จัดอบรมเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากือเลาะห์ จำนวน 50 ราย โดยทางศูนย์จะสนับสนุนพันธุ์ปลากือเลาะห์ ขนาด 10 เซนติเมตร จำนวน 50 ตัว มอบให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงในบ่อที่ตัวเองได้จัดสร้างเตรียมไว้

สาเหตุที่ปลาชนิดนี้มีราคาแพง เนื่องจากหายากในธรรมชาติ ส่วนการเลี้ยงปลากือเลาะห์ เป็นการเลี้ยงแบบระบบน้ำไหลผ่าน ซึ่งเป็นน้ำจากภูเขา ไม่ใช้เครื่องเติมออกซิเจน สร้างบ่อการเลี้ยงให้คล้ายแหล่งที่อยู่ตามธรรมชาติ และต้องเป็นน้ำที่สะอาดไม่มีมลพิษ ซึ่งใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 3 ปี ถึงจับไปขายได้ ขนาดตัวละประมาณ 2.5-3 กิโลกรัม ราคาขายหน้าฟาร์ม กิโลกรัมละประมาณ 3,000 บาท หากนำไปขายที่มาเลเซีย ราคากิโลกรัมละ 7,000 บาท และที่ไต้หวันราคาจะสูงถึงกิโลกรัมละ 10,000 บาท ปัจจุบัน กำลังการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เนื่องจากเป็นข้อกำจัดของสายพันธุ์ที่ออกไข่เพียง 500-1,000 ฟอง ต่อครั้ง เท่านั้น สอบถามรายละเอียดได้ที่ (073) 297-042 


-------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น