ความงดงามของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่คุณยังไม่ได้สัมผัส จะนำคุณไปดูวิถีชีวิตของชาวบ้านในตำบลบุดี
อำเภอเมืองยะลา ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นั่นคือ “ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าวของชาวบุดี”
เทศบาลตำบลบุดี
มีประชากรนับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 98.67
และนับถือศาสนาพุทธร้อยละ 1.33 ภาษาที่ใช้มีทั้งภาษามาลายู
ไทยกลาง และภาษาท้องถิ่นภาคใต้ การดำเนินชีวิตเป็นไปตามแบบสังคมชนบท คือนิยมอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเครือญาติ
คำว่า “บุดี” แปลว่า “ต้นโพธิ์”
ซึ่งในอดีตหมู่บ้านแห่งนี้มีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่
จึงเป็นที่มาของคำว่าบ้าน “บุดี” ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันชาวบ้านที่นี่ประกอบอาชีพทำนา
สำหรับพันธุ์ข้าวที่นำมาปลูกก็จะเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมือง และจากวิถีของการทำนานี่เองที่ทำให้เกิดการช่วยเหลือเพื่อนบ้านทางด้านแรงงานด้วยการลงแขกเกี่ยวข้าว
ซึ่งประเพณีการลงแขกเกี่ยวข้าวนี้ภูมิภาคอื่นๆ ก็คงจะมีเช่นกันครับ
แต่ของชาวบ้านที่นี่มีความพิเศษตรงที่ไม่ว่าเจ้าของผืนนาจะนับถือพุทธหรืออิสลาม
ทุกๆบ้านก็จะมาลงแขกช่วยเหลือกันอย่างพร้อมเพรียง
โดยหน้าเก็บเกี่ยวของชายแดนใต้ปีนี้จะอยู่ในช่วงเดือนเมษายน
ซึ่งวัฒนธรรมจังหวัดยะลาได้ประสานงานให้ชาวบ้านในตำบลบุดีร่วมรักษาประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าวเอาไว้เป็นประเพณีท้องถิ่นและมีชาวนาในตำบลบุดีเข้าร่วมโครงการกว่า
200 คน
นายนิมะ มะกาเจ
รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ให้ข้อมูลกับทีมงานว่า “ความน่าสนใจคือ
เป็นการสืบสานประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าวที่เป็นวัฒนธรรมท้องถิ่น
ซึ่งปัจจุบันขาดการถ่ายทอดไปสู่คนรุ่นใหม่
ในขณะที่วัฒนธรรมจากสังคมภายนอกได้เข้ามาคุกคามวัฒนธรรมท้องถิ่นมากขึ้น
ดังนั้นการสืบสานและอนุรักษ์พื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนเป็นผู้สืบทอดประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าวเอาไว้
ซึ่งจะเป็นการสร้างความรักความสามัคคีในชุมชนได้เป็นอย่างดี”
แม้ว่าความเจริญทางด้านวัตถุจะรุกไล่ประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมของคนในพื้นที่
แต่การพยายามรักษาประเพณีที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษอย่างเช่นการลงแขกเกี่ยวข้าวของชาวบ้านตำบลบุดี
อำเภอเมืองยะลา
ก็เป็นอีกหนึ่งในการช่วยเหลือกันและกันของชาวบ้านซึ่งอาจมีหลายคนยังไม่รู้
และนี่คือเรื่องราวของชีวิตดี๊ดีที่ชายแดนใต้
---------------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น