ชุมชนในจังหวัดนราธิวาส
ซึ่งคนในชุมชนได้รังสรรค์สถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ อย่าง ตลาดน้ำยะกัง
สืบสานขนมโบราณ ๑๐๐ ปี ซึ่งกลายเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของจังหวัดนราธิวาสไปแล้ว
ชุมชนตลาดน้ำบ้านยะกัง ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองนราธิวาส ห่างจากใจกลางเมืองเพียง 4
กม. เท่านั้น เล่ากันว่า เดิมเคยเป็นท่าเรือขนาดใหญ่
มีพ่อค้าแม่ขายจากหลากหลายพื้นที่แวะเวียนกันมาทำมาค้าขายที่ท่าเรือแห่งนี้
ทำให้ชุมชนบ้านยะกังมีความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจมาแต่อดีต
และเรื่องราวในประวัติศาสตร์ก็สะท้อนอยู่ในสถาปัตยกรรมของอาคารบ้านเรือนที่อยู่อาศัย
สถานที่สำคัญทางศาสนา วัฒนธรรมอาหาร
วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในปัจจุบันนั่นเอง เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นมาตลอดระยะเวลาเกินกว่าสิบปี
ทำให้เศรษฐกิจของชุมชนซบเซาลงไม่เหมือนแต่ก่อน การพัฒนาชุมชนก็ถดถอย
อีกทั้งชุมชนก็มีความเสี่ยงที่กลุ่มเยาวชนจะถูกชักพาไปในเส้นทางที่ไม่ถูกต้อง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหายาเสพติด ชาวชุมชนยะกังประกอบด้วยผู้นำชุมชน และชาวบ้านในพื้นที่จึงร่วมกันระดมสมองคิดหากิจกรรมที่จะช่วยฟื้นฟูชีวิตชีวาให้กับชุมชนทั้งในด้านเศรษฐกิจและทำให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับคนในชุมชน
จึงเกิดการปรับปรุงสถานที่ทางประวัติศาสตร์ของชุมชนอย่างท่าเรือให้กลายเป็น “ตลาดน้ำยะกัง” เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดนราธิวาส
ที่จะนำความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจ และความสุขของชุมชนกลับมาเหมือนในครั้งอดีต
จุดเด่นภูมิปัญญาคู่ชาวยะกัง
ด้วยทัศนียภาพที่สวยงามร่มรื่น
บรรยากาศที่เย็นสบายริมฝั่งคลอง
ทำให้สถานที่แห่งนี้มีนักท่องเที่ยงทั้งจากในพื้นที่ พื้นที่จังหวัดใกล้เคียง
และนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ ประเทศเพื่อนบ้าน แวะเวียนมาอย่างไม่ขาดสาย ส่งผลต่อความคึกคักทางเศรษฐกิจชุมชนบ้านยะกังอย่างมากทีเดียว
ทุกท่านที่ได้มาเยือนตลาดน้ำบ้านยะกัง หรือที่มีชื่อเรียกเต็มๆ ว่า ตลาดน้ำยะกัง
ขนมโบราณหนึ่งร้อยปี ความประทับใจแรกพบคือการได้สัมผัสกับบรรยากาศชุมชนริมคลอง
และเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวยะกัง ที่สำคัญคือการได้เลือกซื้อขนมโบราณ
และอาหารท้องถิ่นที่มีพ่อค้าแม่ค้าที่นำมาให้นักท่องเที่ยวเลือกชิมเลือกชมอย่างหลากหลาย
เอร็ดอร่อยในราคาสบายกระเป๋า สะอาดปลอดภัยไร้สารพิษ ได้รู้จักอาหาร
และขนมพื้นเมืองสูตรโบราณที่หายากมากมาย
ตลาดน้ำยะกังเปิดทุกวันเสาร์-อาทิตย์
ภายใต้ร้านค้ามากกว่า 50 ร้านที่ขายสินค้าไม่ซ้ำกันเลย ขนมร้อยปี
และขนมร้อยชนิดถูกนำมาเป็นจุดเด่นของตลาดแห่งนี้
เนื่องจากชุมชนยะกังเป็นที่รู้จักของชุมชนท้องถิ่นจังหวัดนราธิวาส
ขึ้นชื่อในเรื่องของขนมโบราณ อาทิเช่น ขนมอาเกาะ ขนมเปียนา ขนมบาตาบูโระ
ขนมปูตูฮัลลือบอ ขนมจูจอ ขนมเจ๊ะแม๊ะ นาซิตาแฆ เป็นต้น ล้วนแล้วแต่เป็นสูตรขนมที่มีมาแต่โบราณ
ถือเป็นภูมิปัญญาสำคัญของชุมชน
นักท่องเที่ยวที่มีโอกาสได้มาเยือนตลาดน้ำยะกังแห่งนี้
สามารถเลือกซื้ออาหารและขนมโบราณ
มานั่งรับประทานริมน้ำในบรรยากาศเย็นสบายของคลองยะกังที่โอบล้อมไปด้วยทิวไม้นานาพรรณ
เพลิดเพลินไปกับภาพวิถีชีวิต และยังมีการแสดงจากเยาวชนในท้องถิ่น
ทั้งอิ่มท้องและอิ่มอกอิ่มใจไปพร้อมๆ กัน นอกจากนี้ยังมีเรือถีบให้ปั่นเที่ยวละ 40
บาท และเรือท่องเที่ยวนำชมวิถีชีวิตชุมชนริมสองฝั่งคลองยะกังในราคาที่ย่อมเยา
พลังแห่งการมีส่วนร่วม
การดำเนินงานตลาดน้ำยะกัง
บริหารจัดการโดยชาวบ้านในชุมชนยะกังเข้ามาเป็นคณะกรรมการบริหารตลาดน้ำยะกัง
ซึ่งคณะกรรมการเหล่านี้ทำงานแบบจิตอาสา ไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ
ร้านค้าในตลาดก็มาจากชุมชนต่างๆ ในพื้นที่นั่นเอง
กลุ่มเยาวชนในท้องถิ่นก็ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการ ขับเคลื่อนการดำเนินงานตลาดน้ำยะกังแห่งนี้
ได้เปิดโอกาสให้เยาวชนได้เข้ามาร่วมเรียนรู้การทำงานเป็นทีม
โดยมีภารกิจในการดูแลแพปรับปรุงซ่อมแซม การจัดการขยะ อำนวยความสะดวกเรื่องการจอดรถ
ให้บริการเรือถีบ เรือนำเที่ยว มีมัคคุเทศก์เยาวชนนำชมชุมชน และการแสดงบนเวที นอกจากนี้กลุ่มเยาวชนยังมีหน้าร้านสำหรับพวกเขาหนึ่งร้านที่ขายน้ำมะพร้าวปั่น
สร้างรายได้เข้ากลุ่มเยาวชน ช่วยให้เยาวชนมีรายได้
และนำรายได้ส่วนหนึ่งไปทำกิจกรรมพัฒนาเยาวชน กลุ่มเยาวชนเกิดความภาคภูมิใจ
และรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่ เกิดแรงบันดาลใจที่จะสร้างสรรค์พัฒนาต่อไปให้ดียิ่งๆ
ขึ้น และห่างไกลจากยาเสพติด และผู้ไม่หวังดี
การที่ตลาดน้ำแห่งนี้เป็นพื้นที่กลางที่คนในพื้นที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมสร้างสรรค์
สมาชิกในชุมชนที่ยินดีอย่างยิ่งที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความสุขให้พี่น้องทุกคนที่มาเยือน
ผู้ที่ได้ไปเยือนตลาดน้ำจึงสามารถมองเห็น
และสัมผัสได้ชัดเจนถึงมวลความสุขผ่านดวงตา และรอยยิ้มของทุกคน
ทำให้คนมีชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น จากการที่คนมากมายมาเที่ยว
ซื้อหาอาหารรับประทานกันอย่างมีความสุข
และสนุกสนานกับบริการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
พื้นที่แห่งสันติสุข
ตลาดน้ำยะกัง ขนมโบราณ ๑๐๐
ปีแห่งนี้จึงเปรียบเสมือนภาพจำลองที่สมบูรณ์ของการใช้ชีวิตที่พอเพียง
การดำรงชีวิตที่เรียบง่าย มีความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์พื้นถิ่นที่ดำรงมาอย่างยาวนาน
ความมั่งคงทางเศรษฐกิจของชาวบ้านเป็นที่มาของความมั่นคงของชุมชน
เพราะถ้าคนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดี สิ่งที่ตามมาก็คือสันติสุขของชุมชน
ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทุกคนหวาดกลัวความรุนแรง
ในความเป็นจริงอาจไม่ใช่อย่างที่ท่านคิดหากทุกคนเปิดใจเข้ามาเยี่ยมชมจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อุดมไปด้วยธรรมชาติ
และวัฒนธรรมที่งดงาม เป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยความสุขที่ทุกคนจะหลงรัก
และหลงเสน่ห์อย่างแน่นอน
---------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น