วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

หมู่บ้านจีนในหุบเขา ชุมชนจุฬาภรณ์พัฒนา 10 จ.ยะลา


 

        ชุมชนจุฬาภรณ์พัฒนา 10จ.ยะลา ที่เที่ยวใหม่ ตื่นตาตื่นใจมาก เป็นการเที่ยวเมืองไทยที่นึกว่าอยู่เมืองจีนตลอดเวลาใครกำลังหาที่เที่ยวแปลกๆ ใหม่ๆ ไม่ซ้ำใคร ขอเชิญมารวมกันตรงนี้ แล้วจะพบว่าอยู่เมืองไทยก็ได้ฟิลเที่ยวแบบจีนๆ ได้ไม่ยากเลย

       เห็นชื่อยะลา อย่าเพิ่งถอดใจว่ามันไกล เพราะประสบการณ์ที่ได้มันคุ้มจริงๆ เที่ยวเมืองไทยมาตั้งนาน เพิ่งค้นพบว่ามันมีที่เที่ยวแบบนี้อยู่ในเมืองไทยด้วย ณ จุดนี้ ไกลแค่ไหนก็คุ้ม! ระหว่างทางจะเห็นวิว สวยมากๆ เราก็มาถึงชุมชนจุฬาภรณ์พัฒนา 10 กันแล้ว และนี่คือกลิ่นอายความจีนแรกที่เราเจอ ก้อนหินก้อนเบ้อเริ่ม มีรูปต้นไม้ ตัวหนังสือจีน นึกว่าวาร์ปมาเมืองจีน มันจีนไปหมดเลย

        หมู่บ้านนี้สงบมากๆ อยู่ในหุบเขาของจริง มองไปทางไหนก็มีแต่เขา เขา เขา และก็เขา! อีกเหตุผลที่หมู่บ้านนี้สงบก็คือ ที่นี่มีแต่คนสูงอายุ 60 อัพ บรรยากาศในหมู่บ้านเลยชิลมากๆ ความว้าวของจุฬาภรณ์ยะลา 10 คือ ทุกคนในหมู่บ้านคืออดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา ที่สมัยก่อนซุ่มอยู่ในป่าด้วยกันมาเป็นสิบๆ ปี เพิ่งออกจากป่ามาได้เมื่อปี พ.ศ. 2532 นี่เอง และแน่นอนว่า ทุกคนพูดจีนกลางกันหมดเลย! (บางคนจะพอฟังไทยพูดไทยได้ แต่ก็จะได้แค่นิดหน่อยเท่านั้น)

        ที่แห่งนี้เหมือนพาเราย้อนเวลาไปสมัยที่ทุกคนในหมู่บ้านที่นี่ยังใช้ชีวิตอยู่ในป่า มันมหัศจรรย์มากๆ เพราะทุกคนอยู่กันมาตั้งแต่ยังหนุ่มยังสาว มีอุดมการณ์ร่วมกัน พอออกมาก็มาอยู่หมู่บ้านเดียวกันอีก อยู่กันจนแก่จนเฒ่า อยู่กันมาทั้งชีวิต (เรื่องการเดินทางถ้าอยากรู้รายละเอียดสามารถสอบถามเข้ามาถามได้ หรือจะโทรไปถามชุมชนเลยก็ได้นะจ๊ะเบอร์ 080-204-1181/073 263 037)













----------------------------

วันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ร่วมสืบสานสื่อพื้นบ้าน "วายังกูเละ" มรดกทางวัฒนธรรมมลายูชายแดนใต้ ที่จังหวัดยะลา

         กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ร่วมกับภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ "วายังกูเละ" สื่อพื้นบ้านเพื่อการสื่อสารจริยธรรมร่วมสมัย และการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมมลายูชายแดนใต้ ขึ้น ระหว่างวันที่ 25-26 พฤศจิกายน 2562 ณ ศูนย์การเรียนรู้ศิลปะพื้นบ้านมลายู ตำบลท่าสาป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา โดยนำนักเรียนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 45 คน ที่มีความสนใจทางศิลปะการแสดงหนังตะลุงมลายู "วายังกูเละ" เข้ารับการอบรมเรียนรู้ เพื่ออนุรักษ์ สืบสาน และต่อยอด "วายังกูเละ" มรดกทางวัฒนธรรมชายแดนใต้ให้เป็นที่รับรู้ และยอมรับของเยาวชนรุ่นใหม่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดทำบันทึก เผยแพร่รูปแบบและเนื้อหาศิลปะการแสดง "วายังกูเละ" ที่ทันสมัย เหมาะแก่การสื่อสารจริยธรรมร่วมสมัย และเป็นพหุวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งเสริมให้เยาวชนในพื้นที่เกิดความรัก ความสามัคคี ความภาคภูมิใจ และเห็นคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนเอง อันสะท้อนประวัติศาสตร์และตัวตนของผู้คนที่มีมาอย่างยาวนาน ตลอดจนสนับสนุนให้สังคมไทยได้ประจักษ์ถึงคุณค่าของการแสดง "วายังกูเละ" ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในฐานะเป็นสื่อพื้นบ้านที่สื่อสารจริยธรรมร่วมสมัยที่สามารถปรับใช้ได้กับการดำรงชีวิตปัจจุบัน



          ในกิจกรรมมีการบรรยายในหัวข้อ "ศิลปะวายังกูเละ ประวัติ เอกลักษณ์ และศิลปะการแสดง" การเรียนรู้เครื่องดนตรี และวิธีดาแล การแบ่งกลุ่มปฏิบัติ สาธิตการเชิดวายังกูเละ การระดมความคิดเห็นเยาวชนผู้เข้าร่วม เกี่ยวกับศิลปะการแสดงวายังกูเละ การอบรมศิลปะการแกะรูปหนัง การเชิดรูป การขับบทและการสาธิต โดยมีวิทยากรจากทีมงานของ คณะหนังเต็งสาคอ ตะลุงบันเทิง นำโดยนายนายมะยาเต็ง สาเมาะ เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้



          ผศ.ดร.พิเชฐ แสงทอง อาจารย์ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ หาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี บอกว่า โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ "วายังกูเละ" สื่อพื้นบ้านเพื่อการสื่อสารจริยธรรมร่วมสมัย และการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมมลายูชายแดนใต้ เป็นโครงการที่ ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มาเรียนรู้ ทำความรู้จักกับรากเหง้า วัฒนธรรมสังคม คนในพื้นที่ดั้งเดิม มรดกทางวัฒนธรรม ความเป็นมลายู ซึ่งช่วงหลังคนรุ่นใหม่เริ่มห่างจากสิ่งเหล่านี้ไปมาก เพราะมีสื่อออนไลน์เข้ามา จากการถามเด็ก ๆ ซามะ ซาอิ เด็ก ๆ ก็ไม่รู้จัก ซึ่งอาจเป็นเพราะวิถีชีวิต หรือโดยความเชื่อ จึงทำให้ห่างไกลจากความเป็นพื้นบ้านดั้งเดิม โครงการนี้ฯ พยายามที่จะนำสื่อพื้นบ้านเหล่านี้กลับมา สำหรับ "วายังกูเละ" แล้วในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็จะเหลืออยู่เพียง 2 คณะ จึงได้นำเด็ก ๆ เหล่านี้ ลงมาที่จังหวัดยะลา มาอบรม สัมผัส เครื่องดนตรีจริง ทีมงานเล่นหนัง ซึ่งจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก ๆ ได้ไปชม มีส่วนร่วม หรือชักชวนเพื่อนๆมาเล่น หรือเล่นเอง หลายคนที่ได้เข้ามาดูเครื่องดนตรี ตัวหนังก็อยากเชิด อยากตีเครื่องดนตรี ซึ่งจะทำให้เด็ก ๆ ได้ใกล้ชิดกับ "วายังกูเละ" ยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถต่อยอดได้ มีความรู้พื้นฐาน บอกเพื่อน บอกลูกหลาน คนที่ไม่ได้เข้ามาเรียนรู้ได้ ว่ารากฐานทางสังคม ความเชื่อเหล่านั้นมีสิ่งเหล่านี้ด้วย



        สำหรับโครงการนี้ ก็จะจัดต่อเนื่อง 1 ปี จำนวน 3 ครั้ง ซึ่งครั้งสุดท้ายก็จะคัดเด็ก 10 คน ให้ทำการแสดงจริง ๆ จะมีการเล่นหนังโดยเด็กเอง เรื่องที่เล่นเด็กก็จะต้องสร้างเรื่องขึ้นมาเอง ตามความเชื่อ ความสนใจ หรือถ้าเห็นว่าอยากได้ตัวหนังเพิ่ม ก็จะเปิดโอกาสให้คิดเอง ทางโครงการฯ ก็จะไปแกะหนังมาให้เด็ก ได้เล่น เรื่องที่อยากจะเล่น ตัวหนังที่อยากจะเล่น สิ่งเหล่านี้ จะทำให้เด็ก ๆ รู้สึกว่า "วายังกูเละ" เป็นหนึ่งเดียวของตัวเด็กเองด้วย   
    



วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ไม้ดอกเมืองหนาว @เบตง จ.ยะลา

       โครงการไม้ดอกเมืองหนาวเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งอยู่ในบริเวณหมู่บ้านปิยะมิตร 2 อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ด้วยสภาพภูมิประเทศที่อยู่สูงจากระดับทะเลปานกลางราว 800 เมตร มีอากาศเย็นสบายตลอดปี ระบบน้ำเพียงพอ จึงมีความเหมาะสมกับการปลูกไม้ดอกเมืองหนาวนานาชนิด เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ เป็นต้นแบบสำหรับชาวบ้านในพื้นที่ได้เปลี่ยนจากการปลูกยางพารามาเป็นการเพาะปลูกพืชเมืองหนาวตามแนวพระราชดำริโดยวัตถุประสงค์หลักของโครงการฯ นี้เพื่อทดสอบและพัฒนาการปลูกไม้ดอกเมืองหนาว สร้างทางเลือกในการประกอบอาชีพให้แก่เกษตรกร และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นการรวบรวมพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับในภาคใต้มาปลูกรวมไว้ในพื้นที่ของโครงการฯ เพื่ออนุรักษ์พันธุกรรม และขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณให้มากขึ้น อีกทั้งยังเป็นแหล่งศึกษาค้าคว้าวิจัยไม้ดอกชนิดต่างๆตลอดจนศึกษาชนิดพันธุ์ไม้ดอกที่มีศักยภาพในการเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์เพื่อส่งเสริมให้ราษฎรโดยรอบพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติ เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรป่าไม้ให้แก่ประชาชนที่สนใจ มีการปรับภูมิทัศน์สวนไม้ดอกเมืองหนาวให้สวยงามเพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเกษตรเชิงนิเวศ เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญ เป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดยะลาที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศให้มาเยี่ยมยลความงดงามของพื้นที่ใต้สุดแดนสยามแห่งนี้


เที่ยวเพลินในโครงการ
           ภาพความงดงามของขุนเขาที่ในยามเช้ามีสายหมอกลอยปกคลุม รายล้อมด้วยธรรมชาติของป่าไม้ เป็นทิวทัศน์ที่แทบไม่เชื่อสายตาว่านี่คือใต้สุดแดนสยาม ณ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ที่มีสภาพอากาศหนาวเย็นเหมือนดั่งภาคเหนือเลยทีเดียว โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่โครงการไม้ดอกเมืองหนาวที่เต็มไปด้วยสีสันของไม้ดอกไม้ประดับที่งดงามละลานตากับแปลงทดสอบสาธิตต่างๆ ดังนี้


        สวนหมื่นบุปผา ประดับตกแต่งด้วยดอกไม้เมืองหนาวนานาชนิด สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระอักษรจีนคำว่านฮัวหยวน (สวนหมื่นบุปผา)  โดยได้มีการนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการตกแต่งสวนไม้ดอก พร้อมดำเนินการปรับภูมิทัศน์อย่างสวยงาม ด้วยการปรับระดับพื้นที่และปลูกไม้ดอกไม้ประดับชนิดต่างๆ เพื่อให้เกิดความสวยงามและเหมาะสมสำหรับเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ แปลงทดลองการปลูกพืชผัก ได้แก่ ผักโขม ผักกาดแก้ว กะหล่ำปลี มะระหวาน เป็นต้น


       แปลงไม้ดอกกลางแจ้ง เช่น แกลดิโอลัส บานไม่รู้โรย ดาวเรือง ซัลเวีย รักเร่ ซ่อนกลิ่น ฮอลลีฮ็อก ผีเสื้อ พีค็อก สร้อยทอง แอสเตอร์จีน เสี้ยนฝรั่ง เป็นต้น แปลงไม้ดอกในโรงเรือน ได้แก่ เบญจมาศ กุหลาบ คาร์เนชั่น ลิลี เยอร์บีรา และหน้าวัว ซึ่งจากการทดลองปลูกพบว่าไม้ดอกทุกชนิดมีคุณภาพดี โดยเฉพาะดอกเบญจมาศและแกลดิโอลัส ที่มีศักยภาพในการผลิตเชิงพาณิชย์


รู้แล้วเที่ยวสนุก
         เบตง ชื่อนี้มาจากภาษามาลายู คือ Buluh Betong หมายถึงไม้ไผ่ เนื่องจากในอดีตพื้นที่บริเวณนี้อุดมไปด้วยต้นไผ่ แต่ปัจจุบันต้นไผ่เหล่านั้นได้สูญหายไปตามสภาพเมืองที่เจริญเติบโตขึ้น ทำให้ทางเทศบาลเมืองเบตงต้องสร้างต้นไผ่จำลองขึ้นมาไว้เป็นสัญลักษณ์เพื่อเตือนความจำ



แหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง
        ไม่ไกลจากโครงการฯ มีบ่อน้ำร้อน เป็นน้ำพุร้อนธรรมชาติขนาดใหญ่ที่ผุดขึ้นมาจากใต้ดิน อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 80 องศาเซลเซียส มีสระน้ำขนาดใหญ่ที่สร้างไว้เพื่อกักเก็บน้ำจากน้ำพุร้อนให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ใช้อาบและแช่เท้า ถัดจากบ่อน้ำร้อนมีน้ำตกอินทสร เป็นน้ำตกขนาดเล็กที่รายล้อมด้วยต้นไม้สูงใหญ่ บรรยากาศร่มรื่น เย็นสบาย มีแอ่งน้ำสามารถว่ายน้ำเล่นได้ อุโมงค์ปิยะมิตร เป็นอุโมงค์ประวัติศาสตร์ของโจรคอมมิวนิสต์มลายา มีลักษณะคดเคี้ยวไปในภูเขายาว 1 กิโลเมตร ใช้เวลาในการขุดราว 3 เดือน ในอดีตมีทางออกถึง 9 ทาง แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 6 ทาง บรรดาโจรคอมมิวนิสต์ใช้อุโมงค์เป็นที่หลบภัยทางอากาศ สะสมเสบียงอาหาร คลังอาวุธ ห้องกระจายข่าว และห้องปฐมพยาบาล ปัจจุบันอุโมงค์ปิยะมิตรถูกปรับปรุงเป็นสถานที่ท่องเที่ยว
ตัวอย่างโปรแกรมเที่ยว 2 วัน 1 คืน
วันแรก
เช้า-บ่าย เดินทางไปยังโครงการไม้ดอกเมืองหนาว เยี่ยมชมแปลงไม้ดอกไม้ประดับและพืชผักภายในโครงการฯ
เย็น พักผ่อนสัมผัสบรรยากาศยามเย็น ภายในโครงการฯ
วันที่สอง
เช้า สัมผัสสายหมอกและเที่ยวชมความงามของไม้ดอกในบรรยากาศยามเช้า ก่อนจะออกเดินทางไปเที่ยวต่อ
บ่าย เที่ยวชมบ่อน้ำร้อน น้ำตกอินทสรและอุโมงค์ปิยะมิตร
เย็น เดินทางกลับ
โครงการไม้ดอกเมืองหนาว
หมู่บ้านปิยะมิตร 2  ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา
โทร : 08 7899 1153, 08 1738 9417
เปิดทำการ : ทุกวัน เวลา 07.30-17.30 น.
ฤดูกาลท่องเที่ยว : ตลอดปี
หมายเหตุ :มีบ้านพักรับรองไว้บริการควรติดต่อสำรองล่วงหน้ามีค่าเข้าชมสถานที่

การเดินทาง กรุงเทพฯ-โครงการไม้ดอกเมืองหนาว
พิกัดภูมิศาสตร์ : N5° 53.074" E101° 01.339"
จากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดยะลา โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) ผ่านจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร จากนั้นเข้าทางหลวงหมายเลข 41 ผ่านจังหวัดสุราษฎร์ธานี พัทลุง หาดใหญ่ แล้วเดินทางต่อไปทางจังหวัดปัตตานี จนถึงยะลา จากยะลาไปตามเส้นทางสาย 410 (ยะลา-เบตง) ก่อนเข้าอำเภอเบตง บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 4 เลี้ยวขวาไปตามเส้นทางอีกประมาณ 10 กิโลเมตร

วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

“เขาเล่สะเดา” ทะเลหมอกสองแผ่นดิน ไทย-มาเลเซีย

          ทะเลหมอกบนยอดเขาหัวล้าน เขาเล่สะเดา อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ซึ่งเรียกได้ว่า "ทะเลหมอกสองแผ่นดินเพราะสามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้แบบ 360 องศา ทั้งฝั่งประเทศไทย และประเทศมาเลเซีย รับรองว่าท่านจะได้สัมผัสกับการได้เดินทางไปทำกิจกรรมแบบแอดเวนเจอร์ครบรสกันเลยทีเดียว ทั้งเหนื่อย ทั้งสนุก ทั้งมันส์ กว่าจะได้ไปเห็นวิวทะเลหมอกสวย ๆ ยามเช้า



          สำหรับพิกัดเขาเล่ ตั้งอยู่ ณ พุทธอุทยานเขาเล่สะเดา ปาดังเบซาร์ 2 ตำบลสะเดา อำเภอสะเดา สงขลา เมื่อมาถึงก็จะพบกับพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่กำลังก่อสร้าง ตั้งสง่าอยู่บนเขา สถานที่แห่งนี้จะเป็นที่จอดรถ และเป็นจุดลงทะเบียนของนักท่องเที่ยว เพื่อติดต่อกับเจ้าหน้าที่ในการนำทางขึ้นเขา หากใครสนใจอยากชมทะเลหมอกสวย ๆ วิวดี ๆ และได้ทำกิจกรรมแอดเวนเจอร์สนุก ๆ ท้าทาย ขอแนะนำเขาเล่เลย ที่นี่จะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแล มีเส้นทางบอกชัดเจน และยังมีน้ำดื่มไว้บริการอีกด้วย เตรียมแค่ใจ และร่างกายมาพร้อมลุย และสนุกกับการขึ้นเขา ต้องลองมาชมสักครั้งในชีวิตสวยงามมากจริง ๆ



         โดยเปิดให้บริการทุกวัน แต่แนะนำว่าควรมา "วันเสาร์ - วันอาทิตย์" เพราะจะมีเจ้าหน้าที่คอยบริการ แต่หากเป็นวันธรรมดา จะต้องเดินทางกันเอง



        “เขาเล่สะเดาพร้อมให้นักท่องเที่ยวไปสัมผัสความสวยงามบนยอดเขา ชมทะเลหมอก 360 องศา ตะลุยขึ้นเขาเดินป่าเส้นทางท่องเที่ยวธรรมชาติ ถ่ายภาพพระอาทิตย์สวย ๆ ยามเช้า สอบถามข้อมูลได้ที่ ☎ 074-411400 ต่อ 101 และ074-411400 ต่อ 114 (งานท่องเที่ยว)

วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

สัมผัสกลิ่นอายธรรมชาติของชุมชน ในม่านหมอกกลางหุบเขาวิถีชุมชนหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12​

        “ นราธิวาส อีกหนึ่งจังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติหลากหลาย ประกอบกับทุนมนุษย์และวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์ของความเป็นมลายู เชื่อมโยงกับประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังมีชุมชนน่าเที่ยวอย่าง หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12” ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีความน่าสนใจในหลายด้าน อาทิ พิพิธภัณฑ์ชุมชน ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมภาพถ่าย อาวุธยุทโธปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ในช่วงที่คนในชุมชนเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา กรม 10 ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติการย่อย ที่ได้ทำการสู้รบกับรัฐบาลมาเลเซีย เนื่องจากมีความขัดแย้งทางอุดมการณ์การเมืองการปกครอง นำไปสู่การสู้รบระหว่างกันนานหลายสิบปี จากนั้นได้มีการเจรจาสันติภาพในปี 2532 มีการลงนามในสัญญายุติการสู้รบอย่างเป็นทางการ โดยมีรัฐบาลไทยเป็นตัวกลางในการเจรจา และสลายกองกำลังเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย และจัดตั้งหมู่บ้าน ชื่อ บ้านรัตนกิตติ 4” ที่ ต.สุคิริน อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ต่อมาสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี ทรงมีพระประสงค์ที่จะพัฒนาโครงการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับ หมู่บ้านรัตนกิตติ 4” เข้าร่วมโครงการของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และพระราชทานชื่อใหม่ว่า หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12” เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2536



          เมื่อมาถึงหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 สถานที่ที่แนะนำให้มาสัมผัส คือ เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ที่จะได้เรียนรู้ร่องรอยและเรื่องราวจากการถ่ายทอดของอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา ในเรื่องอนุสรณ์สถาน สถานที่รำลึกถึงวีรชนผู้ร่วมกันสร้างสันติสุขและเอกภาพ อุโมงค์เก่า เตาไร้ควันขนาดใหญ่ ร่องทางเดินที่ขุดล้อมรอบฐานเพื่อใช้เป็นทางเดินเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน ที่สร้างขึ้นจากภูมิปัญญาเพื่ออำพรางฝ่ายตรงข้ามไม่ให้รู้แหล่งที่ตั้งของกรม 10 และไม่ควรพลาดกับกิจกรรมไฮไลท์ของที่นี่คือ การล่องแก่งพายเรือคายัค ที่จะได้ใกล้ชิดกับสายน้ำและธรรมชาติอันรื่นรมย์ พร้อมชมความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติอันเขียวชอุ่มซึ่งถูกปกคลุมด้วยร่มไม้เย็นสบาย ดื่มด่ำกับธรรมชาติรอบตัวที่บริสุทธิ์ ผ่อนคลายได้เต็มที่ ซึ่งแม้ภาพสิ่งที่เห็นคือความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ แต่ในอดีตที่นี่ต้องเผชิญกับวิกฤติความแห้งแล้ง และความเสื่อมโทรมจากการทำลายป่าชุมชน มาสู่ยุคปัจจุบันที่มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบจนทำให้ได้รับรางวัลต่างๆมากมาย ที่แสดงให้เห็นถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างยั่งยืน



          นอกจากนี้ หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 ยังมีจุดเด่นในด้านอาหารที่ใช้วัตถุดิบที่สามารถหาได้ในท้องถิ่นมาใช้ในการประกอบอาหาร เช่น ไก่บ้าน ใบตาหมาดที่ใช้ทำขนมโบราณ สมุนไพรท้องถิ่น และผักป่าอื่นๆ เป็นต้น สำหรับจุดเด่นด้านการแสดง ที่สร้างความประทับใจและรอยยิ้มให้แก่ผู้มาเยือน คือ ระบำพัด ที่ประยุกต์ทั้งเนื้อร้อง และทำนองเพลงเพื่อสื่อถึงเรื่องราวความเป็นมาของชุมชน ผสมผสานความเป็นจีนและมลายูเข้าด้วยกันอย่างลงตัว



        หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 เป็นชุมชนที่มีต้นทุนทางด้านประวัติศาสตร์ชุมชน รวมทั้งมีวัฒนธรรมด้านอาหาร ทั้งยังมีร่องรอยแห่งประวัติศาสตร์ที่น่าค้นหา อีกทั้งชุมชนแห่งนี้ยังมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่ช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ประกอบกับความเข้มแข็งของชุมชน จึงทำให้หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 สามารถพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน




วันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

พิพิธภัณฑ์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว แหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และอารยธรรมของจังหวัดปัตตานี

         สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดปัตตานี แจ้งว่า "ศาลเจ้าเล่งจูเกียง และองค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว" คือ ศูนย์รวมความเชื่อ ความศรัทธา ที่มีความสำคัญยิ่ง สำหรับชาวไทยเชื้อสายจีนในจังหวัดปัตตานี รวมถึงชาวไทยและต่างประเทศ โดยมีความเชื่อว่า "เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว" มีต้นกำเนิดในจังหวัดปัตตานี เป็นเทพเจ้าแห่งความเมตตา โชคลาภและค้าขาย จึงเป็นความผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวไทยเชื่อสายจีนเป็นอย่างมาก ต่างยกย่องนับถือในความบริสุทธิ์ ทรงคุณธรรม และความกตัญญูกตเวที



            ปัจจุบัน ได้มีการรวบรวมศิลปะภาพถ่าย วิชาการต่างๆ เป็นแหล่งศึกษาทางประวัติศาสตร์ ไว้ในหอนิทรรศน์สานอารยธรรมจังหวัดปัตตานี (พิพิธภัณฑ์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว) เน้นถึงการเดินทางของชาวจีนโบราณ ที่เข้ามาอยู่อาศัยในภูมิภาคนี้ คุณค่าแห่งความเชื่อ ความศรัทธา มุ่งหวังให้มีการเรียนรู้และเข้าใจวิถีชีวิตชุมชนในรูปแบบที่หลากหลายวัฒนธรรม และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข



        หอนิทรรศน์สานอารยธรรม มีอาคารด้านหน้า 1 ชั้น 1 หลัง และอาคารด้านหลัง 2 ชั้น 1 หลัง อาคารด้านหน้า เป็นส่วนจัดแสดงประวัติปัตตานี และชุมชนจีน (จุดเปลี่ยนแห่งยุคสมัย) และแผนผังการจัดแสดงรวม เรื่องราวประวัติพระหมอเชงจุ้ยโจวซือกง แสดงประวัติ และรูปปั้นจำลององค์พระ โดยแกะสลักลงบนหินแกรนิตสีเขียวจากประเทศจีน เรื่องราวของการเดินทางข้ามแผ่นดิน เป็นโมเดลจำลองบ้านเมืองชุมชนจีนเมืองฮกเกี้ยน วิถีชีวิตความเป็นอยู่ การเดินทางทางทะเลสู่ดินแดนเมืองปัตตานี อยู่ด้วยกันด้วยวัฒนธรรมที่หลากหลาย  เรื่องราวประวัติความเป็นมาของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวและการถือกำเนิดเป็นเทพเจ้า สถิตที่ศาลเจ้าเล่งจูเกียง และมีป้ายฮวงซุ้ยจากสุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว



            อาคารด้านหลัง (ชั้นล่าง) เป็นส่วนจัดแสดงเกี้ยว และงานพิธีสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เป็นการจัดแสดงเกี้ยวมหามงคล เกี้ยวองค์พระต่างๆ ที่ใช้ประกอบพิธีลุยน้ำข้ามแม่น้ำปัตตานี และพิธีลุยไฟ ในงานสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว และงานพิธีกรรมอื่นๆ การจัดแสดงมัลติมีเดีย 1 หรือห้องบรรยาย อาคารด้านหลัง (ชั้นบน) เป็นห้องคนรักปัตตานี แสดงถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนจีนในสมัยอดีต ภาพบุคคลสำคัญ ที่มีชื่อเสียงในภูมิภาค ห้องรำลึกมหาราช เป็นการจัดแสดงภาพถ่ายการเสด็จของพระมหากษัตริย์ เจ้านายพระองค์ต่างๆ พระราชกรณียกิจ และพระกรณียกิจ อันเป็นประโยชน์แก่ชาวปัตตานี และจัดแสดงของใช้มงคล ซึ่งใช้ประกอบพิธีทางศาสนกิจ ห้องตลาดจีนเมืองปัตตานี จัดแสดงภาพและบันทึกเก่าๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตชุมชนจีน 




            สำหรับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่สนใจ สามารถเข้าชมได้ฟรี ระหว่างเวลา 09.00-16.30 น. หรือสอบถามรายละเอียด เกี่ยวกับหอนิทรรศน์สานอารยธรรมจังหวัดปัตตานี ได้ที่มูลนิธิเทพปูชนียสถาน (เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว) ถนนอาเนาะรู ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมืองปัตตานี โทรศัพท์. 073-332851