วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

สัมผัสกลิ่นอายธรรมชาติของชุมชน ในม่านหมอกกลางหุบเขาวิถีชุมชนหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12​

        “ นราธิวาส อีกหนึ่งจังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติหลากหลาย ประกอบกับทุนมนุษย์และวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์ของความเป็นมลายู เชื่อมโยงกับประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังมีชุมชนน่าเที่ยวอย่าง หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12” ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีความน่าสนใจในหลายด้าน อาทิ พิพิธภัณฑ์ชุมชน ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมภาพถ่าย อาวุธยุทโธปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ในช่วงที่คนในชุมชนเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา กรม 10 ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติการย่อย ที่ได้ทำการสู้รบกับรัฐบาลมาเลเซีย เนื่องจากมีความขัดแย้งทางอุดมการณ์การเมืองการปกครอง นำไปสู่การสู้รบระหว่างกันนานหลายสิบปี จากนั้นได้มีการเจรจาสันติภาพในปี 2532 มีการลงนามในสัญญายุติการสู้รบอย่างเป็นทางการ โดยมีรัฐบาลไทยเป็นตัวกลางในการเจรจา และสลายกองกำลังเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย และจัดตั้งหมู่บ้าน ชื่อ บ้านรัตนกิตติ 4” ที่ ต.สุคิริน อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ต่อมาสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี ทรงมีพระประสงค์ที่จะพัฒนาโครงการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับ หมู่บ้านรัตนกิตติ 4” เข้าร่วมโครงการของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และพระราชทานชื่อใหม่ว่า หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12” เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2536



          เมื่อมาถึงหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 สถานที่ที่แนะนำให้มาสัมผัส คือ เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ที่จะได้เรียนรู้ร่องรอยและเรื่องราวจากการถ่ายทอดของอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา ในเรื่องอนุสรณ์สถาน สถานที่รำลึกถึงวีรชนผู้ร่วมกันสร้างสันติสุขและเอกภาพ อุโมงค์เก่า เตาไร้ควันขนาดใหญ่ ร่องทางเดินที่ขุดล้อมรอบฐานเพื่อใช้เป็นทางเดินเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน ที่สร้างขึ้นจากภูมิปัญญาเพื่ออำพรางฝ่ายตรงข้ามไม่ให้รู้แหล่งที่ตั้งของกรม 10 และไม่ควรพลาดกับกิจกรรมไฮไลท์ของที่นี่คือ การล่องแก่งพายเรือคายัค ที่จะได้ใกล้ชิดกับสายน้ำและธรรมชาติอันรื่นรมย์ พร้อมชมความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติอันเขียวชอุ่มซึ่งถูกปกคลุมด้วยร่มไม้เย็นสบาย ดื่มด่ำกับธรรมชาติรอบตัวที่บริสุทธิ์ ผ่อนคลายได้เต็มที่ ซึ่งแม้ภาพสิ่งที่เห็นคือความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ แต่ในอดีตที่นี่ต้องเผชิญกับวิกฤติความแห้งแล้ง และความเสื่อมโทรมจากการทำลายป่าชุมชน มาสู่ยุคปัจจุบันที่มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบจนทำให้ได้รับรางวัลต่างๆมากมาย ที่แสดงให้เห็นถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างยั่งยืน



          นอกจากนี้ หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 ยังมีจุดเด่นในด้านอาหารที่ใช้วัตถุดิบที่สามารถหาได้ในท้องถิ่นมาใช้ในการประกอบอาหาร เช่น ไก่บ้าน ใบตาหมาดที่ใช้ทำขนมโบราณ สมุนไพรท้องถิ่น และผักป่าอื่นๆ เป็นต้น สำหรับจุดเด่นด้านการแสดง ที่สร้างความประทับใจและรอยยิ้มให้แก่ผู้มาเยือน คือ ระบำพัด ที่ประยุกต์ทั้งเนื้อร้อง และทำนองเพลงเพื่อสื่อถึงเรื่องราวความเป็นมาของชุมชน ผสมผสานความเป็นจีนและมลายูเข้าด้วยกันอย่างลงตัว



        หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 เป็นชุมชนที่มีต้นทุนทางด้านประวัติศาสตร์ชุมชน รวมทั้งมีวัฒนธรรมด้านอาหาร ทั้งยังมีร่องรอยแห่งประวัติศาสตร์ที่น่าค้นหา อีกทั้งชุมชนแห่งนี้ยังมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่ช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ประกอบกับความเข้มแข็งของชุมชน จึงทำให้หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 สามารถพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น