กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ร่วมกับภาควิชาภาษาไทย
คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ "วายังกูเละ" สื่อพื้นบ้านเพื่อการสื่อสารจริยธรรมร่วมสมัย
และการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมมลายูชายแดนใต้ ขึ้น ระหว่างวันที่ 25-26 พฤศจิกายน
2562 ณ ศูนย์การเรียนรู้ศิลปะพื้นบ้านมลายู ตำบลท่าสาป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา
โดยนำนักเรียนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 45 คน
ที่มีความสนใจทางศิลปะการแสดงหนังตะลุงมลายู "วายังกูเละ" เข้ารับการอบรมเรียนรู้
เพื่ออนุรักษ์ สืบสาน และต่อยอด "วายังกูเละ"
มรดกทางวัฒนธรรมชายแดนใต้ให้เป็นที่รับรู้
และยอมรับของเยาวชนรุ่นใหม่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดทำบันทึก
เผยแพร่รูปแบบและเนื้อหาศิลปะการแสดง "วายังกูเละ" ที่ทันสมัย
เหมาะแก่การสื่อสารจริยธรรมร่วมสมัย และเป็นพหุวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ส่งเสริมให้เยาวชนในพื้นที่เกิดความรัก ความสามัคคี ความภาคภูมิใจ
และเห็นคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนเอง
อันสะท้อนประวัติศาสตร์และตัวตนของผู้คนที่มีมาอย่างยาวนาน
ตลอดจนสนับสนุนให้สังคมไทยได้ประจักษ์ถึงคุณค่าของการแสดง "วายังกูเละ"
ของจังหวัดชายแดนภาคใต้
ในฐานะเป็นสื่อพื้นบ้านที่สื่อสารจริยธรรมร่วมสมัยที่สามารถปรับใช้ได้กับการดำรงชีวิตปัจจุบัน
ในกิจกรรมมีการบรรยายในหัวข้อ "ศิลปะวายังกูเละ ประวัติ เอกลักษณ์
และศิลปะการแสดง" การเรียนรู้เครื่องดนตรี และวิธีดาแล การแบ่งกลุ่มปฏิบัติ
สาธิตการเชิดวายังกูเละ การระดมความคิดเห็นเยาวชนผู้เข้าร่วม
เกี่ยวกับศิลปะการแสดงวายังกูเละ การอบรมศิลปะการแกะรูปหนัง การเชิดรูป
การขับบทและการสาธิต โดยมีวิทยากรจากทีมงานของ คณะหนังเต็งสาคอ ตะลุงบันเทิง
นำโดยนายนายมะยาเต็ง สาเมาะ เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้
ผศ.ดร.พิเชฐ แสงทอง อาจารย์ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์
หาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี บอกว่า โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ
"วายังกูเละ" สื่อพื้นบ้านเพื่อการสื่อสารจริยธรรมร่วมสมัย
และการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมมลายูชายแดนใต้ เป็นโครงการที่
ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มาเรียนรู้
ทำความรู้จักกับรากเหง้า วัฒนธรรมสังคม คนในพื้นที่ดั้งเดิม มรดกทางวัฒนธรรม
ความเป็นมลายู ซึ่งช่วงหลังคนรุ่นใหม่เริ่มห่างจากสิ่งเหล่านี้ไปมาก เพราะมีสื่อออนไลน์เข้ามา
จากการถามเด็ก ๆ ซามะ ซาอิ เด็ก ๆ ก็ไม่รู้จัก ซึ่งอาจเป็นเพราะวิถีชีวิต
หรือโดยความเชื่อ จึงทำให้ห่างไกลจากความเป็นพื้นบ้านดั้งเดิม โครงการนี้ฯ
พยายามที่จะนำสื่อพื้นบ้านเหล่านี้กลับมา สำหรับ "วายังกูเละ"
แล้วในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็จะเหลืออยู่เพียง 2 คณะ จึงได้นำเด็ก ๆ
เหล่านี้ ลงมาที่จังหวัดยะลา มาอบรม สัมผัส เครื่องดนตรีจริง ทีมงานเล่นหนัง
ซึ่งจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก ๆ ได้ไปชม มีส่วนร่วม
หรือชักชวนเพื่อนๆมาเล่น หรือเล่นเอง หลายคนที่ได้เข้ามาดูเครื่องดนตรี
ตัวหนังก็อยากเชิด อยากตีเครื่องดนตรี ซึ่งจะทำให้เด็ก ๆ ได้ใกล้ชิดกับ
"วายังกูเละ" ยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถต่อยอดได้ มีความรู้พื้นฐาน
บอกเพื่อน บอกลูกหลาน คนที่ไม่ได้เข้ามาเรียนรู้ได้ ว่ารากฐานทางสังคม
ความเชื่อเหล่านั้นมีสิ่งเหล่านี้ด้วย
สำหรับโครงการนี้ ก็จะจัดต่อเนื่อง 1 ปี จำนวน 3 ครั้ง
ซึ่งครั้งสุดท้ายก็จะคัดเด็ก 10 คน ให้ทำการแสดงจริง ๆ จะมีการเล่นหนังโดยเด็กเอง
เรื่องที่เล่นเด็กก็จะต้องสร้างเรื่องขึ้นมาเอง ตามความเชื่อ ความสนใจ
หรือถ้าเห็นว่าอยากได้ตัวหนังเพิ่ม ก็จะเปิดโอกาสให้คิดเอง ทางโครงการฯ ก็จะไปแกะหนังมาให้เด็ก
ได้เล่น เรื่องที่อยากจะเล่น ตัวหนังที่อยากจะเล่น สิ่งเหล่านี้ จะทำให้เด็ก ๆ
รู้สึกว่า "วายังกูเละ" เป็นหนึ่งเดียวของตัวเด็กเองด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น