วันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

สุสานโต๊ะนิ แหล่งเรียนรู้มรดกทางวัฒนธรรมชายแดนภาคใต้

         อดีตของเมืองรามันมีความเจริญรุ่งเรือง เป็น 1 ใน 7 หัวเมืองภาคใต้ มีเจ้าเมืองปกครองมาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงเปลี่ยนแปลงการปกครองจากพระยาเมืองให้ข้าหลวงปกครองแทน และได้มีการย้ายที่ทำการเมือง ไปอยู่ที่ตำบลโกตาบารูในปี พ.ศ.2474 ทางการได้แต่งตั้ง "ต่วนกาลูแป" เป็นนายอำเภอคนแรกของอำเภอโกตาบารู ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น "หลวงอรรถสิทธิสมบูรณ์" ปัจจุบันยังมีลูกหลานเจ้าเมืองที่สืบตระกูลกันมาโดยใช้นามว่า "ต่วน" โกตาบารู เป็นอำเภอสังกัดจังหวัดยะลา มาจนถึง พ.ศ. 2481 จึงได้เปลี่ยนชื่อกลับไปเป็น "รามัน" ตามเดิม เหตุผลเพื่อรักษาไว้ซึ่งประวัติศาสตร์แห่งท้องถิ่น ตราบจนถึงปัจจุบัน



    ตามประวัติศาสตร์เมืองรามันห์ (อำเภอรามันในปัจจุบัน) มีรายาหรือเจ้าเมืองปกครองดูแลติดต่อกันมาหลายพระองค์ รายาจาวัน หนึ่งในเจ้าเมืองรามัน ชอบการผจญภัย มักจะออกเยี่ยมเยียนราษฎรอยู่เสมอ กินนอน อยู่ง่ายแบบสามัญชน ยามใดที่มีโอกาส ก็มักจะชวนสมัครพรรคพวกตลอดจนข้าราชบริพารออกท่องเที่ยวป่า ล่าสัตว์อยู่เป็นประจำ เป็นที่ทราบว่า รายาจาวัน โปรดที่สุด คือการคล้องช้าง เป็นผู้ที่มีจิตใจโอบอ้อมอารีจึงเป็นที่รักใคร่ของประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะ คนที่เจ็บไข้ได้ป่วย เมื่อมาให้รายาจาวันเป็นผู้รักษา มักจะหายเป็นปกติกลับไปทุกราย จนเป็นที่เลื่องลือทั่วสารทิศ ผู้คนขนานนามยกย่องท่านว่า โต๊ะนิซึ่งโต๊ะนิ เป็นคำที่ชาวบ้านใช้เรียกผู้ใหญ่ผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งมีเชื้อสายเจ้านายราชตระกูลในเมืองปัตตานี เป็นการแสดงถึงการยกย่องนับถือด้วยความเคารพ



          ปัจจุบัน ได้มีการค้นคว้า รวบรวมข้อมูลที่สำคัญทางประวัติศาสตร์พื้นที่แห่งนี้ ผ่านพิพิธภัณฑ์พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมเมืองเก่าโกตาบารู หรือ ( Musium Budaya Kotabaru ) ตั้งอยู่ที่ถนนบายพาส หมู่2 ตำบลโกตาบารู ภายในบ้านดาโอ๊ะมูลียอของทายาทผู้สืบสกุลเจ้าเมืองรามัน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรมท้องถิ่นในฐานะเป็นเมืองอัญมณีแห่งวัฒนธรรมที่เคยรุ่งเรืองมาในอดีต ซึ่งภายใน พิพิธภัณฑ์ มีพื้นที่เรียนรู้ เกี่ยวข้องกับเมืองโกตาบารูในอดีต ตั้งแต่เรือนต่วนจรือนิห์ เรือนสีราชบดินทร์ ศาลารงซันศาลาซูงา โต๊ะหนิ รวมถึงเรือนโกตารามัย และสวนรัตนภักดี ซึ่งทุกมุมการเรียนรู้มีการจัดแสดงด้วย วัตถุโบราณของจริง ภาพถ่าย เอกสารเก่า ภาพวาด ของจำลอง ที่ได้รับการศึกษา ค้นคว้า อย่างถี่ถ้วน



         สำหรับสุสานโต๊ะนิ เจ้าเมืองรามัน ปัจจุบัน ตั้งอยู่ตรงข้ามสถานีตำรวจโกตาบารู เป็นสถานที่ฝังศพของ เจ้าเมืองหรือชนชั้นสูง เรียกว่า มากอมหรือสุสานหลวง ภาษามาลายูถิ่นเรียกว่า ลางา เป็นเป็นสถานที่รำลึกถึงความตาย การปฏิบัติตนต้องสำรวม ทั้งกาย วาจา ใจ ซึ่งภายในสุสานจะบอกตำแหน่งของเจ้าเมือง และลำดับของทายาท ทุกๆปี ในในเทศกาลวันฮารีรายอชาวไทยมุสลิม จะเดินทางมาที่กุโบร์ เพื่อร่วมกันทำความสะอาดหลุมฝังศพบรรพบุรุษ หรือ ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว



          สุสานโต๊ะนิ มรดกทางวัฒนธรรม แห่งนี้ จะเป็นประโยชน์ที่สำคัญ ในการศึกษาเรียนรู้ ร่องรอยประวัติศาสตร์ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น