วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2562

หนังปลากะพงขาวทอดกรอบ​ OTOP​ ยอดนิยมที่สงขลา​

        การรวมกลุ่ม ของชาวบ้าน หมู่ที่ 4 ตำบลเกาะยอเพื่ือ พัฒนาผลิตภัณฑ์จากปลากะพงขาวที่ขึ้นชื่อ สำหรับเกาะยอนับว่าแหล่งการเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชังที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นปลากะพงขาวที่อร่อยที่สุด จนได้รับความนิยมแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ กลายเป็นสินค้าโอทอป ระดับ 5 ดาว ที่สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และสร้างเอกลักษณ์ของชาวเกาะยอ ให้เป็นที่จดจำกันได้ดี ในชื่อ หนังปลากะพงขาวทอดกรอบ



           ปัจจุบันคุณพงศ์สวัสดิ์ ยอดสุรางค์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เกาะยอที.เอ็ม.พี.โปรดักส์ บอกว่ากลุ่มเกาะยอฯ ได้ทำการคิดค้นผลิตภัณฑ์หนังปลากะพงขาวทอดกรอบ ให้มีหลายรสชาติ เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคให้มากยิ่งขึ้น ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ทุกระดับอายุ เช่น รสธรรมดา รสเผ็ด รสต้มยำ และรสมันเค็ม ซึ่งเป็นรสชาติที่ลูกค้านิยมมากที่สุด ผลิตภัณฑ์หนังปลากะพงขาว ผลิตเป็นสินค้า OTOP ที่ขึ้นชื่อ และมียอดจำหน่ายที่สูงของจังหวัดสงขลา เนื่องจากปลากะพงขาวที่เลี้ยงโดยรอบบริเวณเกาะยอ เป็นปลา 3 น้ำ ทั้งน้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย เปลี่ยนแปลงตามช่วงฤดูกาลในรอบแต่ละปี จึงเป็นแหล่งปลากะพงขาวที่ขึ้นชื่อเป็นที่นิยม รวมทั้งโรงงานอุตสาหกรรมแช่เย็น นิยมนำปลากะพงขาว ที่เลี้ยงรอบเกาะยอมาชำแหละ นำเนื้อปลา ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น




           สำหรับวัตถุดิบและส่วนประกอบ คือ หนังปลากะพงขาว กระเทียม พริกไทย เกลือ อุปกรณ์ในการผลิต ได้แก่ อุปกรณ์ในการขูดหนังปลา เครื่องอบ และขั้นตอนการผลิต อันดับแรกคือ ขอดเกล็ดและเนื้อ ต่อด้วยตัดชิ้นหนังปลา นำไปตากแดด หมักเครื่องปรุง และบรรจุใส่ถุงบรรจุภัณฑ์ที่ทำขึ้นมา เพื่อวางจำหน่าย ตามร้านอาหาร ตามท้องถิ่น หรือตามงานสินค้าโอทอป ในราคาเพียงถุงละ 25 บาท เท่านั้น​ ถ้ามาสงขลาอย่าลืมมาชิมหนังปลากะพง​ทอดกรอบที่เกาะยอนะครับ

วันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2562

"บ้านเดือนฉาย" สถาปัตยกรรมเก่าแก่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ย่านเมืองเก่าสงขลา

        บ้านเดือนฉาย Ban duan chay” บ้านเก่าสถาปัตยกรรมแบบ โคโลเนียล Colonial Style ผสมผสานด้วยศิลปะและสิ่งของสะสมแบบจีน มลายู และยุโรปอย่างกลมกลืน อายุกว่า 80 ปี ยุคสงครามโลก ครั้งที่ 2 ณ ย่านเมืองเก่าสงขลา ตรงข้ามโรงเรียนสตรีวชิรานุกูล เป็น Private Museum ด้วยบรรยากาศร่มรื่น สงบ พร้อมกับร้านเดือนฉายคาเฟ่ น่านั่งพักผ่อนเป็นสถานที่ท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์แห่งใหม่ในย่านเมืองเก่าสงขลา ที่เปิดเมื่อต้นเดือน ตุลาคม ที่ผ่านมา


         สองสามีภรรยาเจ้าของ บ้านเดือนฉายคุณวุฒิชัย​ และคุณจินตนา ธรรมปาโล พาชมภายในบ้านและพูดคุยถึงที่มาของบ้านหลังนี้แบบเอ็กซ์คลูซีฟ พร้อมสัมผัสบรรยากาศร้าน เดือนฉายคาเฟ่ลิ้มรสอาหาร เครื่องดื่มอีกด้วย


        สำหรับความเป็นมา บ้านเดือนฉายบ้านหลังนี้เกิดจากความผูกพัน ย้อนไปเมื่อสมัยเด็กเกิดในย่านเมืองเก่าสงขลา เรียนที่โรงเรียนสตรีวชิรานุกูล ตั้งแต่อนุบาลจนถึงประถมศึกษาปีที่ 7 ภาพจำในขณะนั้นก็เห็นบ้านหลังนี้มาโดยตลอด เนื่องจากเป็นบ้านหลังใหญ่ บรรยากาศร่มรื่น ซึ่งบ้านในย่านเมืองเก่าสมัยนั้น ส่วนใหญ่เป็นบ้านตึกแถวค่อนข้างคับแคบ


        คุณวุฒิชัย กล่าวถึงความรู้สึกเมื่อมองบ้านหลังนั้น เกิดความคิดแบบเด็กๆ รู้สึกชื่นชอบ อยากมีเป็นของตนเอง จึงเป็นความฝันตั้งแต่เด็กๆ ที่อยากอยู่บ้านหลังนี้ ซึ่งทราบว่าเป็นบ้านของ คุณหญิงพูนสุข ประธานราษฎร์นิกร ปรีชาพานิช บุตรสาวคนโตของหลวงประธานราษฎร์นิกร ซึ่งเป็นคหบดีที่เก่ง และทำคุณประโยชน์ต่อเมืองสงขลาไว้อย่างมากมาย



         เมื่อชีวิตก้าวสู่ชีวิตการทำงานได้ระดับหนึ่ง มีความสนใจเก็บสะสมของเก่า ข้าวของเครื่องใช้ วัตถุโบราณในจังหวัดสงขลา และปัตตานี อาทิ จาน แจกัน วิทยุ งานไม้ เก็บสะสมมาเรื่อยๆ กว่า 20 ปีของเก่าที่สะสมทุกชิ้นผมรักและหวงแหนมากของทุกชิ้นเปรียบเสมือนมีชีวิต เราต้องดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี


        กระทั่ง 4-5 ปีที่แล้ว เจ้าของบ้านหลังนี้ประกาศขาย เนื่องจากไม่มีเวลาดูแล เมื่อทราบข่าวตนจึงตัดสินใจซื้อในทันที ความใฝ่ฝันตั้งแต่เด็ก ของผมตอนนี้เป็นจริง” เจ้าของบ้านเดิมค่อนข้างหวงบ้านมาก เพราะเป็นบ้านโบราณอายุ 80 ปี ที่เป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ พร้อมกำชับให้ดูแลเป็นอย่างดีสภาพภายในบ้านไม้ผุพังบางชิ้น ตัวบ้านมีห้องหลบภัยใต้ดินที่สร้างไว้ เพื่อซ่อนทหารญี่ปุ่นในยุคสงครามโลก ครั้งที่ 2 จึงปรับปรุงใหม่ แต่โครงสร้างบ้าน เป็นของเดิมทั้งหมด



        จากนั้น นำของสะสมโบราณที่หาดูยากมาจัดแสดงภายในบ้านเพื่อเป็นวิทยาทานแก่คนรุ่นหลัง ซึ่งเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ที่ผ่านมา การที่ใช้ชื่อ บ้านเดือนฉายมาจาก ฉ้ายเป็นชื่อแม่ของตน และเพื่อนๆ ของแม่มักเรียกว่า แม่เดือนฉายประกอบกับคำว่า บ้านเดือนฉายเปรียบเสมือนพระจันทร์ส่องแสง ซึ่งบ้านหลังนี้ปิดมาเป็นเวลานานและอยู่ในซอยลึก จึงใช้ชื่อบ้านเดือนฉาย จะได้ฉายแสงออกมาสว่างจ้า เปิดให้ผู้คนเข้ามาชม และเป็นซิกเนเจอร์ใหม่ของย่านเมืองเก่า



        นอกจากนั้น พื้นที่ด้านหน้าของบ้านสร้างเป็น เดือนฉายคาเฟ่บรรยากาศสำหรับนั่งพักผ่อน ทำงานส่วนตัวโดยเปิดบริการศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เวลา 10.00-19.00 น. ท่านใดที่ต้องการเข้าชมภายในบ้าน ติดต่อได้ที่คาเฟ่ มีเจ้าหน้าที่บรรยายให้ความรู้และนำชมด้วยค่ะ



วันพุธที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2562

อาหารทะเลสด ชิดติดทะเลแหลมนก จ.ปัตตานี

      ร้านครัวมาดาม อยู่ที่หมู่บ้านแหลมนก ม.9 ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี  ตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติมองเห็นทะเลบานาที่กว้างไกลสุดตา บรรยากาศร้านน่านั่งมากๆ มีการตกแต่งร้านโดยใช้ไม้ในโทนสีน้ำตาล เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศทะเล เมนูของทางร้านมีทั้งอาหารทะเลสด อาหารทานเล่น ทั้งเมนูยำ เมนูตำ และอีกมากมาย ซึ่งที่นี่เขาเน้นใช้วัตถุดิบสดใหม่ อาหารทะเลสดๆ อย่าง กุ้ง หอย ปู ปลา ก็รับซื้อมาจากชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งเรือประมงพื้นบ้านที่นำอาหารทะเลมาขายจะมาจอดถึงท่าเรือของครัวมาดามเลยนะ เรียกว่า ซ๊ด สด ของแท้ เลยหละ



         “กะนุชเจ้าของร้านเล่าให้ฟังว่าก่อนที่จะมีร้านครัวมาดาม ที่ตรงนี้เคยเป็นโรงโม่หอยแครงมาก่อน ก็เลยเกิดไอเดียว่าอยากทำอาหารทะเลสดๆขาย เนื่องจากบ้านแหลมนกแห่งนี้โด่งดังเรื่องของอาหารทะเลสดอยู่แล้ว ด้วยความที่ถนัดเรื่องอาหารและมีฝีมือเรื่องการทำอาหารรสจัดจ้าน เลยคิดว่าน่าจะเปิดเป็นร้านอาหารได้ จึงเป็นที่มาของ ครัวมาดามซึ่งการตั้งชื่อว่ามาดามก็เพระว่าอยากให้ชื่อมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ใครเห็นต้องจดจำและนึกถึง เหมือนทานข้าวที่บ้านยังไงยังงั้นเลยคู๊ณ



         อิ่มจากอาหารคาวแล้ว ก็ล้างปากด้วยกาแฟรสชาติกลมกล่อมสักแก้วเป็นไง เพราะนอกจากอาหารถูกปากแล้ว กาแฟก็ถูกใจด้วย ที่นี่เขาก็มีกาแฟสดหอมๆ ให้ลูกค้าได้ดื่มด่ำ พร้อมกับชมวิวทะเลแบบ 360 องศาอีกด้วยนะ ถ้าอิ่มแล้วก็อย่าเพิ่งรีบกลับ อยากให้รอชมดวงอาทิตย์ตกยามเย็นซะก่อน สวยและได้บรรยากาศมาก อิ่มทั้งท้องและอิ่มทั้งใจแบบนี้หาที่ไหนไม่ได้แล้วค่ะ 



         ร้านครัวมาดาม เปิดบริการทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ ตั้งแต่เวลา 10.00 - 20.00 น.  ครัวมาดามตั้งอยู่หมู่บ้านแหลมนก ม.9 ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี สอบถามรายละเอียดได้ที่ คุณอริสมันต์ สะแอเต๊ะ  ร้านครัวมาดาม โทรศัพท์ 073 - 718 599 หรือ 093 – 7607179 หรือติดตามได้ที่ทาง Facebook Fanpage: ครัวมาดาม หากใครไปไม่ถูกก็ไปตามพิกัดร้านนี้ได้เลยจ้า : https://her.is/35GdIil




วันอังคารที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2562

สุดยอดไอเดีย!! “รถไม้ลายเรือกอและ” คันแรกของปัตตานี

         จังหวัดปัตตานีเป็นจังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเดินทางมาสัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยวอยู่สม่ำเสมอ เพราะที่นี่มีทั้งทะเล น้ำตก ภูเขา รวมทั้งการท่องเที่ยวพหุวัฒนธรรมด้วย แต่จะดีหรือไม่หากมีพาหนะในการเดินทางที่บ่งบอกความเป็นปัตตานีพานักท่องเที่ยวสัมผัสความสุขในทุกๆวัน กับที่มาของไอเดีย รถไม้ลายเรือกอและ


        นายยะยา ลาเตะ  เจ้าของรถไม้ลายเรือกอและ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวภาคใต้ชายแดนว่า รถไม้คันนี้ตนได้มาจากจังหวัดระนอง ซึ่งรถคันนี้เคยเป็นรถโดยสารประจำทางของจังหวัดระนองมาก่อน รถเป็นโครงแบบเดิมๆ เก่าตามอายุ ตนรับซื้อมาเพราะเห็นว่าสวยดี และมีไอเดียอยากจะนำรถมาให้บริการนักท่องเที่ยวในพื้นที่ด้วย เลยเป็นที่มาของรถไม้ลายเรือกอและ และคิดว่าปัตตานีน่าจะยังไม่มีใครทำ โดยตนให้ช่างแกะลายเรือกอและในพื้นที่ อ.ยะหริ่ง ออกแบบและทำสี ใช้เวลาในการทำลายนานกว่า 20 วัน มีทั้งลายกอและ ลายนก ลายมังกร โดยจ้างช่างทำตารางเมตรละ 4,000 บาท ใช้สีน้ำมันในการทำลาย


        นายยะยา ลาเตะ   กล่าวเพิ่มเติมว่า วัตถุประสงค์หลักๆในการนำรถมาทำลายในครั้งนี้ ก็เพราะว่าอยากจะพานักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสความสวยงามของปัตตานี ซึ่งตนเป็นคนตะโละกาโปร์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี อยู่แล้ว จึงอยากจะพานักท่องเที่ยวมานั่งรถคันนี้ไปเที่ยวทะเลตะโละกาโปร์ ทะเลยะหริ่ง ซึ่งท้องทะเลปัตตานีมีความสวยงาม ถ้าได้นั่งรถที่เป็นเอกลักษณ์แบบนี้ก็คงจะทำให้นักท่องเที่ยวมีความสุขมากขึ้น แต่ในขณะนี่รถยังไม่ได้เปิดใช้บริการ เพราะว่ารถยังทำไม่แล้วเสร็จ แต่คาดว่าอีกไม่นานจะเปิดให้ใช้บริการแน่นอน ส่วนค่าบริการคิดเป็นเหมารวมครั้งละ 2,500 บาท บริการนำเที่ยวตลอดวัน ซึ่งรถไม้สามารถรองรับผู้โดยสารได้จำนวน 12 คน


        หากใครสนใจอยากจะลองนั่งรถไม้ลายเรือกอเที่ยวปัตตานี สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ นายยะยา ลาเตะ โทรศัพท์ 098-0833677 และ 093-774342


วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ศิลปินผู้รังสรรค์​ลวดลาย​บนเรือกอและที่อำเภอปะนาเระ​ จังหวัด​ปัตตานี​

         ด้วยภูมิประเทศของชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่มีพื้นที่ติดทะเล โดยเฉพาะจังหวัดนราธิวาสและจังหวัดปัตตานี ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่มีวิถีที่ผูกพันกับทะเล ที่สำคัญมีความสามารถในการออกเรือประมงทะเลหาปลามาแต่โบราณ โดยเรือฆอแระที่เป็นอัตลักษณ์ที่เด่นชัด นอกเหนือไปจากรูปทรงเรือที่มีความเฉพาะตัวแล้วยังมีลวดลายที่สวยงาม สีสันฉูดฉาด และลายเส้นยังบอกเล่าเรื่องราววิถีของชาวประมงพื้นบ้าน



         ชื่อของเรือกอและ มาจากคำว่า ฆอและเป็นภาษามลายู หมายถึง โคลงเคลง หรือล่องลอย ลักษณะของเรือฆอและ มีท้องเรือกลมรับกันกับลักษณะของคลื่นในทะเล มีความคล่องตัวสูง โต้คลื่นได้ดี และคว่ำยาก มีใช้ตามชายฝั่งทะเลของแหลมมาลายูอย่างแพร่หลาย จากการบอกเล่าสันนิษฐานว่า เรือฆอแระน่าจะมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ไปพร้อมๆกับการเผยแผ่ศาสนาอิสลาม และการเข้ามาตั้งรกรากของชาวมุสลิม ในภาคใต้ตอนล่างของไทย โดยเรือฆอแระนิยมใช้ในปัตตานีและนราธิวาส ซึ่งลายฆอแระ เกิดจากอิทธิพลจากทั้งสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และบริบททางวัฒนธรรม ที่มีทั้งชาวไทยพุทธ ชาวไทยมุสลิมและชาวจีน จึงเกิดการผสมผสานระหว่าง ลายไทย ลายจีน ลายมลายู อย่างลงตัวงดงาม



         นายซามาน อูมา (แบมัง) ช่างเขียนลายเรือฆอแระ ชาวอำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี เล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่จำความได้สิ่งที่ตนเองเห็นได้แจ่มชัดที่สุดคือวิถีประมง ชีวิตส่วนใหญ่จะผูกพันกับคลื่นลม ทะเล และเรือฆอแระ ซึ่งตนเองรู้ตัวว่าชอบลายเรือฆอแระเป็นอย่างมาก มีความสุขใจทุกครั้งเมื่อเห็นเรือฆอแระกลับจากการหาปลาในทะเล เพราะจะได้เข้าไปดูลวดลาย ดูลำเรือ ก่อนที่จะใช้ผืนทราย และผืนกระดาษหัดวาดลายเรือฆอแระด้วยตนเอง เริ่มตั้งแต่การแกะลาย ฝึกหัดทุกวัน ศึกษาด้วยตัวเองทุกวัน ฝึกการใช้พู่กันจนปวดแขน เจ็บป่วย แต่จะหายเป็นปลิดทิ้ง ถ้าได้ลงมือวาดลายเรือฆอแระ 💯จนเมื่ออายุ 20 ปี จึงมีความกล้าที่จะวาดลายลงบนเรือของญาติอย่างจริงจัง ซึ่งครั้งแรกของการรับจ้างวาดลายเรือฆอแระ ได้ค่าแรง 250 บาท ซึ่งสร้างภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ในปัจจุบัน ราคาค่าจ้างวาดลายเรือฆอแระมีตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักหมื่น



         ศิลปะที่ใช้ในการตกแต่งบนเรือฆอแระ เป็นลายไทย ผสมผสานกับ วัฒนธรรมจีน มลายู ตกผลึกมาเป็นลายอัตลักษณ์ประจำเรือ นอกจากนี้ยังมีลายที่มาจากจินตนาการ ถาพสัตว์น้ำ ภาพวิถีชีวิต ซึ่งก็เกิดขึ้นตามแต่ช่างวาดลายเรือจะรังสรรค์ออกมา



            แม้ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่มีเข้ามา ทำให้เรือฆอแระเหลือน้อยลง ช่างวาดก็น้อยลงเช่นกัน ซึ่งตนเองได้รวบรวมลายต่างๆ พร้อมที่จะถ่ายทอดวิชาความรู้ไปสู่ผู้ที่สนใจเพื่อไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา โดยปัจจุบันนี้ ช่างวาดลายฆอแระ ก็ได้นำลายเรือฆอแระไปปรับ ด้วยการวาดลงบนผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ เสื้อผ้า ร่ม รองเท้า ของที่ระลึก และ เรือฆอแระจำลอง เป็นต้น ซึ่งได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน โดยแบมังได้เปิดเพจสำหรับผู้ที่ชื่นชอบและสนใจการวาดลายเรือฆอแระ ที่เฟซบุคเพจ zaman ouma (ซามาน อูมา) เพื่อเป็นสื่อกลางการส่งต่อการวาดลายเรือฆอแระ ให้อยู่ได้นานสืบไป


วันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2562

มลายูปาตานีบนผืนผ้า ที่สามจังหวัดชายแดนใต้

          ชาว มลายูปาตานีถือเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย แต่ถ้าหากตัดความเป็นรัฐชาติออกแล้วมองความเป็นชาติพันธุ์มลายู ดินแดนปาตานีแห่งนี้ได้ถือว่าเป็นประตูสู่อารยธรรมโลกมลายูที่กว้างใหญ่ มีความเชื่อมโยงกันในด้านอัตลักษณ์วัฒนธรรมร่วมกับหลายประเทศ นับตั้งแต่มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน อินโดนีเซีย (บางส่วนในฟิลิปปินส์ และกัมพูชา) ปาตานีที่นี่ถือว่าเป็นห้องเรียนหนึ่งที่คนไทยสามารถเข้ามาเรียนรู้ความเป็นมลายูได้เหมาะสมอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการแต่งกายที่สะท้อนถึงวิถีวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ผ่านรสนิยมการแต่งกาย และพลวัตทางสังคมของชาติพันธ์ได้เป็นอย่างดี


          คนมลายูถือเป็นพวกที่มีรสนิยมที่ดีในการแต่งกายมาตั้งแต่อดีตกาล พวกเขาให้ความสำคัญในการแต่งกายเสื้อผ้าอาภรณ์และเครื่องประดับเป็นอย่างมาก ดังที่มีคำกล่าวของคนเฒ่าคนแก่ว่า คนมลายูถึงบ้านจะสร้างไม่เสร็จไม่เป็นไรสร้างให้ใช้หลับนอนได้ก็พอ แต่ถ้าต้องออกงานสังคมเรื่องการแต่งกาย เครื่องประดับ ต้องโดดเด่นต้องสง่าไม่น้อยหน้าใครเพราะผู้คนในโลกมลายูมีการติดต่อการค้าการค้ากับโลกตะวันออกและตะวันตกมานาน เป็นสังคมที่เปิดรับแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและมีการผสมผสานเข้ากับวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิม ทำให้พวกเขาสร้างสรรค์รูปแบบการแต่งกายของตัวเองขึ้นเพื่อให้ดูมีอารยะสูสีเท่าเทียมกับผู้คนจากโลกภายนอกข้างนอก การแต่งกายของคนมลายูจึงมีหลายรูปแบบ และถูกพัฒนาให้เป็นชุดที่มีฟอร์มและเป็นทางการมากขึ้น อย่างเช่นชุด มลายูชายสันนิษฐานว่าเป็นการนำมาปรับจากชุด Raj pattern แต่ใช้เนื้อผ้าที่มีความพริ้วบางนิยมหรือไม่ก็ใส่เสื้อมลายูกับกับผ้าโสร่งและสวมหมวก เรียกว่า ซอเกาะส่วนของของฝ่ายหญิงมีชุด มลายูกูรงกูรงแปลว่าครอบ ชุดนี้จึงถูกออกแบบให้มีลักษณะโปร่งปิดบังทรวดทรงส่วนเว้าส่วนโค้งของสตรีในลักษณะชุดถูกออกแบบให้ดูสำรวมเรียบร้อย และชุด บานงซึ่งเป็นชุดที่ได้รับความนิยมใส่กันมานาน ชื่อนี้เพี้ยนมาจากคำว่า บันดุง’ (bandung) เมืองท่าเก่าแก่บนเกาะชวาอินโดนีเซียนั่นเอง


         ในอดีตชุดบานงถือว่าเป็นเครื่องแต่งกายของหญิงชนชั้นกลาง เช่นครอบครัวพ่อค้า การสวมใส่ชุดบานง จึงมีให้เห็นในวัฒนธรรมการแต่งของคนจีนในสังคมมลายู เช่นชุดที่คนไทยรู้จักกันว่าชุด บาบ๋าย่าหยา’ (Baba-nyonya) ของคนเปอรานากันแถบจังหวัดภูเก็ต แม้ว่าปัจจุบันการแต่งกายชุดมลายูเป็นที่นิยมแพร่หลายมากในพื้นที่ปาตานี(สามจังหวัดชายแดนภาคใต้) แต่ถ้าหากมองย้อนกลับไปเมื่อหลายปีที่แล้ว การแต่งกายแบบดั้งเดิมแทบจะหายไปและถูกแทนที่ด้วยการแต่งกายสมัยใหม่หรือการแต่งกายแบบอาหรับ เช่นเดียวกันความเป็นชาติพันธ์ ก่อนจะถูกแทนที่ด้วยคำว่ามุสลิมไทยในการอธิบายความเป็นมลายูแทน


         เมื่อช่วงห้าปีที่ผ่านมา เราได้รวมตัวกันในชื่อ Saiburi looker โดยมีความคิดว่าควรแสดงออกเพื่อสื่อสารกับผู้คนให้ได้รู้จัก และบอกสังคมว่าเราไม่ได้เป็นเหมือนใคร เราไม่ใช่ไทยมุสลิมอย่างที่คนไทยส่วนใหญ่ใช้เรียกพวกเรา ตัวตนของเราคือมลายูมุสลิม และอธิบายให้คนเข้าใจให้ถูกต้องโดยการรื้อฟื้นการแต่งกายชุดมลายูขึ้นมา และรวมตัวกันสร้างแคมเปญรณรงค์การแต่งกายชุดมลายูในช่วงเทศกาลวันอีด (วันเฉลิมฉลองทางศาสนามุสลิม)ผ่านในโลกโซเชียล ไม่ต่างอะไรกับ เจมส์ ดีน อดีตนักแสดงชายสุดเท่ ผู้สวมกางเกงยีนส์ที่แสดงภาพลักษณ์ของวัยรุ่นขบถต่อต้านสังคมในสมัยนั้น เพราะเป็นการสวนกระแสสังคมในพื้นที่ซึ่งขณะนั้นกำลังนิยมการแต่งกายด้วยชุดโต๊ปรัดรูป และชุดเสื้อผ้าผู้หญิงอาบาย่าแบบสาวอาหรับกันมากกว่า


          สิ่งที่เราทำมันเป็นความแปลกแยกที่สร้างสรรค์ เพราะมันไม่ใช่เพียงแค่การแต่งตัวเพื่อประชันความสวยความงามอย่างเดียวมันถูกพ่วงด้วยคำอธิบายว่าเหตุไฉนการแต่งกายชุดมลายูถึงเหมาะสมกับเรา มันมาพร้อมกับการบอกว่านี่คือมรดกทางวัฒนธรรมคือตัวตนของเราที่ควรอธิบายให้คนส่วนใหญ่เข้าใจ ในความขบถของพวกเราผลที่เกิดขึ้นมันกลับกลายเป็นสีสันโดดเด่นกลายเป็นจุดสนใจ เกิดการตื่นรู้ของคนข้างใน และได้รับการตอบรับในสังคมมลายูมุสลิมเป็นอย่างดีและกลายเป็นกระแสนิยมมากขึ้น สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นส่วนเล็กๆส่วนหนึ่งที่เราคนในพื้นที่พยายามให้คนมลายูได้เข้าใจตัวตนและคนข้างนอกได้เรียนรู้เรียนในความเป็นมลายูปาตานี เปรียบได้เฉกเช่นพัฒนาการของเสื้อผ้าการแต่งกายของคนมลายูก็มีการรับวัฒนธรรมจากข้างนอกเข้ามาปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมในความเป็นตัวเองอย่างไม่เคอะเขิน สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องสะท้อนว่าสังคมมลายูตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเป็นสังคมที่เปิดรับความแตกต่าง เป็นสังคมที่พร้อมจะให้ผู้คนต่างวัฒนธรรมได้เรียนรู้ แลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจอย่างสร้างสรรค์ และยอมรับในการมีตัวตนของกันและกัน



วันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2562

เชิญเที่ยวงาน “เดิน กิน ชิม เที่ยว” ถนนคนเดินริมแม่น้ำปัตตานี 22-31 ธ.ค.62

         ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายในการส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วประเทศ โดยได้มอบหมายให้ทุกจังหวัด จัดกิจกรรมในรูปแบบถนนคนเดินที่สร้างรายได้ให้กับประชาชนในระดับพื้นที่ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอัตลักษณ์ วัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ รวมถึงจัดกิจกรรมที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้บูรณาการความร่วมมือในลักษณะประชารัฐ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และสถาบันการศึกษา ให้เกิดการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน


          ทางด้านจังหวัดปัตตานีสานต่อนโยบายรัฐบาล จึงได้กำหนดจัดงาน "เดิน กิน ชิม เที่ยว" ถนนริมแม่น้ำปัตตานี ระหว่างวันที่ 22-31 ธันวาคม 2562 ณ บริเวณริมแม่น้ำปัตตานี ตั้งแต่เวลา 15.00 -22.00 น. กิจกรรมภายในงานพบกับอุโมงค์ไฟ แสง สี ที่สวยงาม สินค้าราคาถูก ผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน ของฝาก ของที่ระลึก กระเช้าของขวัญ  สุดยอดอาหารอร่อย และการแสดงศิลปวัฒนธรรมอีกมากมาย


         โดยสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่นำมาจัดจำหน่ายในถนนคนเดินจะเน้นสินค้าในพื้นที่ ผลิตภัณฑ์โอท็อป ของดีจังหวัด สินค้าเกษตร และเกษตรแปรรูป สินค้าวัฒนธรรม สินค้าพื้นเมือง สินค้าที่ใช้มอบเป็นของขวัญในช่วงเทศกาลปีใหม่ อาหารประจำถิ่น และสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นต้น