วันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2562

มลายูปาตานีบนผืนผ้า ที่สามจังหวัดชายแดนใต้

          ชาว มลายูปาตานีถือเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย แต่ถ้าหากตัดความเป็นรัฐชาติออกแล้วมองความเป็นชาติพันธุ์มลายู ดินแดนปาตานีแห่งนี้ได้ถือว่าเป็นประตูสู่อารยธรรมโลกมลายูที่กว้างใหญ่ มีความเชื่อมโยงกันในด้านอัตลักษณ์วัฒนธรรมร่วมกับหลายประเทศ นับตั้งแต่มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน อินโดนีเซีย (บางส่วนในฟิลิปปินส์ และกัมพูชา) ปาตานีที่นี่ถือว่าเป็นห้องเรียนหนึ่งที่คนไทยสามารถเข้ามาเรียนรู้ความเป็นมลายูได้เหมาะสมอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการแต่งกายที่สะท้อนถึงวิถีวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ผ่านรสนิยมการแต่งกาย และพลวัตทางสังคมของชาติพันธ์ได้เป็นอย่างดี


          คนมลายูถือเป็นพวกที่มีรสนิยมที่ดีในการแต่งกายมาตั้งแต่อดีตกาล พวกเขาให้ความสำคัญในการแต่งกายเสื้อผ้าอาภรณ์และเครื่องประดับเป็นอย่างมาก ดังที่มีคำกล่าวของคนเฒ่าคนแก่ว่า คนมลายูถึงบ้านจะสร้างไม่เสร็จไม่เป็นไรสร้างให้ใช้หลับนอนได้ก็พอ แต่ถ้าต้องออกงานสังคมเรื่องการแต่งกาย เครื่องประดับ ต้องโดดเด่นต้องสง่าไม่น้อยหน้าใครเพราะผู้คนในโลกมลายูมีการติดต่อการค้าการค้ากับโลกตะวันออกและตะวันตกมานาน เป็นสังคมที่เปิดรับแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและมีการผสมผสานเข้ากับวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิม ทำให้พวกเขาสร้างสรรค์รูปแบบการแต่งกายของตัวเองขึ้นเพื่อให้ดูมีอารยะสูสีเท่าเทียมกับผู้คนจากโลกภายนอกข้างนอก การแต่งกายของคนมลายูจึงมีหลายรูปแบบ และถูกพัฒนาให้เป็นชุดที่มีฟอร์มและเป็นทางการมากขึ้น อย่างเช่นชุด มลายูชายสันนิษฐานว่าเป็นการนำมาปรับจากชุด Raj pattern แต่ใช้เนื้อผ้าที่มีความพริ้วบางนิยมหรือไม่ก็ใส่เสื้อมลายูกับกับผ้าโสร่งและสวมหมวก เรียกว่า ซอเกาะส่วนของของฝ่ายหญิงมีชุด มลายูกูรงกูรงแปลว่าครอบ ชุดนี้จึงถูกออกแบบให้มีลักษณะโปร่งปิดบังทรวดทรงส่วนเว้าส่วนโค้งของสตรีในลักษณะชุดถูกออกแบบให้ดูสำรวมเรียบร้อย และชุด บานงซึ่งเป็นชุดที่ได้รับความนิยมใส่กันมานาน ชื่อนี้เพี้ยนมาจากคำว่า บันดุง’ (bandung) เมืองท่าเก่าแก่บนเกาะชวาอินโดนีเซียนั่นเอง


         ในอดีตชุดบานงถือว่าเป็นเครื่องแต่งกายของหญิงชนชั้นกลาง เช่นครอบครัวพ่อค้า การสวมใส่ชุดบานง จึงมีให้เห็นในวัฒนธรรมการแต่งของคนจีนในสังคมมลายู เช่นชุดที่คนไทยรู้จักกันว่าชุด บาบ๋าย่าหยา’ (Baba-nyonya) ของคนเปอรานากันแถบจังหวัดภูเก็ต แม้ว่าปัจจุบันการแต่งกายชุดมลายูเป็นที่นิยมแพร่หลายมากในพื้นที่ปาตานี(สามจังหวัดชายแดนภาคใต้) แต่ถ้าหากมองย้อนกลับไปเมื่อหลายปีที่แล้ว การแต่งกายแบบดั้งเดิมแทบจะหายไปและถูกแทนที่ด้วยการแต่งกายสมัยใหม่หรือการแต่งกายแบบอาหรับ เช่นเดียวกันความเป็นชาติพันธ์ ก่อนจะถูกแทนที่ด้วยคำว่ามุสลิมไทยในการอธิบายความเป็นมลายูแทน


         เมื่อช่วงห้าปีที่ผ่านมา เราได้รวมตัวกันในชื่อ Saiburi looker โดยมีความคิดว่าควรแสดงออกเพื่อสื่อสารกับผู้คนให้ได้รู้จัก และบอกสังคมว่าเราไม่ได้เป็นเหมือนใคร เราไม่ใช่ไทยมุสลิมอย่างที่คนไทยส่วนใหญ่ใช้เรียกพวกเรา ตัวตนของเราคือมลายูมุสลิม และอธิบายให้คนเข้าใจให้ถูกต้องโดยการรื้อฟื้นการแต่งกายชุดมลายูขึ้นมา และรวมตัวกันสร้างแคมเปญรณรงค์การแต่งกายชุดมลายูในช่วงเทศกาลวันอีด (วันเฉลิมฉลองทางศาสนามุสลิม)ผ่านในโลกโซเชียล ไม่ต่างอะไรกับ เจมส์ ดีน อดีตนักแสดงชายสุดเท่ ผู้สวมกางเกงยีนส์ที่แสดงภาพลักษณ์ของวัยรุ่นขบถต่อต้านสังคมในสมัยนั้น เพราะเป็นการสวนกระแสสังคมในพื้นที่ซึ่งขณะนั้นกำลังนิยมการแต่งกายด้วยชุดโต๊ปรัดรูป และชุดเสื้อผ้าผู้หญิงอาบาย่าแบบสาวอาหรับกันมากกว่า


          สิ่งที่เราทำมันเป็นความแปลกแยกที่สร้างสรรค์ เพราะมันไม่ใช่เพียงแค่การแต่งตัวเพื่อประชันความสวยความงามอย่างเดียวมันถูกพ่วงด้วยคำอธิบายว่าเหตุไฉนการแต่งกายชุดมลายูถึงเหมาะสมกับเรา มันมาพร้อมกับการบอกว่านี่คือมรดกทางวัฒนธรรมคือตัวตนของเราที่ควรอธิบายให้คนส่วนใหญ่เข้าใจ ในความขบถของพวกเราผลที่เกิดขึ้นมันกลับกลายเป็นสีสันโดดเด่นกลายเป็นจุดสนใจ เกิดการตื่นรู้ของคนข้างใน และได้รับการตอบรับในสังคมมลายูมุสลิมเป็นอย่างดีและกลายเป็นกระแสนิยมมากขึ้น สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นส่วนเล็กๆส่วนหนึ่งที่เราคนในพื้นที่พยายามให้คนมลายูได้เข้าใจตัวตนและคนข้างนอกได้เรียนรู้เรียนในความเป็นมลายูปาตานี เปรียบได้เฉกเช่นพัฒนาการของเสื้อผ้าการแต่งกายของคนมลายูก็มีการรับวัฒนธรรมจากข้างนอกเข้ามาปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมในความเป็นตัวเองอย่างไม่เคอะเขิน สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องสะท้อนว่าสังคมมลายูตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเป็นสังคมที่เปิดรับความแตกต่าง เป็นสังคมที่พร้อมจะให้ผู้คนต่างวัฒนธรรมได้เรียนรู้ แลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจอย่างสร้างสรรค์ และยอมรับในการมีตัวตนของกันและกัน



2 ความคิดเห็น:

  1. คุยได้เอางานผมไปโพสในเวปของคุณโดยไม่ได้ขออนุญาติ และยังระบุว่า เขียนโดย ปัตตานีบ้านฉัน มันคืออะไรครับ อย่างงี้ไม่โอเคน่ะครับ

    ตอบลบ
  2. คุณควรให้เคดิดแหล่งที่มาด้วย

    ตอบลบ