วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ศิลปินผู้รังสรรค์​ลวดลาย​บนเรือกอและที่อำเภอปะนาเระ​ จังหวัด​ปัตตานี​

         ด้วยภูมิประเทศของชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่มีพื้นที่ติดทะเล โดยเฉพาะจังหวัดนราธิวาสและจังหวัดปัตตานี ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่มีวิถีที่ผูกพันกับทะเล ที่สำคัญมีความสามารถในการออกเรือประมงทะเลหาปลามาแต่โบราณ โดยเรือฆอแระที่เป็นอัตลักษณ์ที่เด่นชัด นอกเหนือไปจากรูปทรงเรือที่มีความเฉพาะตัวแล้วยังมีลวดลายที่สวยงาม สีสันฉูดฉาด และลายเส้นยังบอกเล่าเรื่องราววิถีของชาวประมงพื้นบ้าน



         ชื่อของเรือกอและ มาจากคำว่า ฆอและเป็นภาษามลายู หมายถึง โคลงเคลง หรือล่องลอย ลักษณะของเรือฆอและ มีท้องเรือกลมรับกันกับลักษณะของคลื่นในทะเล มีความคล่องตัวสูง โต้คลื่นได้ดี และคว่ำยาก มีใช้ตามชายฝั่งทะเลของแหลมมาลายูอย่างแพร่หลาย จากการบอกเล่าสันนิษฐานว่า เรือฆอแระน่าจะมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ไปพร้อมๆกับการเผยแผ่ศาสนาอิสลาม และการเข้ามาตั้งรกรากของชาวมุสลิม ในภาคใต้ตอนล่างของไทย โดยเรือฆอแระนิยมใช้ในปัตตานีและนราธิวาส ซึ่งลายฆอแระ เกิดจากอิทธิพลจากทั้งสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และบริบททางวัฒนธรรม ที่มีทั้งชาวไทยพุทธ ชาวไทยมุสลิมและชาวจีน จึงเกิดการผสมผสานระหว่าง ลายไทย ลายจีน ลายมลายู อย่างลงตัวงดงาม



         นายซามาน อูมา (แบมัง) ช่างเขียนลายเรือฆอแระ ชาวอำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี เล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่จำความได้สิ่งที่ตนเองเห็นได้แจ่มชัดที่สุดคือวิถีประมง ชีวิตส่วนใหญ่จะผูกพันกับคลื่นลม ทะเล และเรือฆอแระ ซึ่งตนเองรู้ตัวว่าชอบลายเรือฆอแระเป็นอย่างมาก มีความสุขใจทุกครั้งเมื่อเห็นเรือฆอแระกลับจากการหาปลาในทะเล เพราะจะได้เข้าไปดูลวดลาย ดูลำเรือ ก่อนที่จะใช้ผืนทราย และผืนกระดาษหัดวาดลายเรือฆอแระด้วยตนเอง เริ่มตั้งแต่การแกะลาย ฝึกหัดทุกวัน ศึกษาด้วยตัวเองทุกวัน ฝึกการใช้พู่กันจนปวดแขน เจ็บป่วย แต่จะหายเป็นปลิดทิ้ง ถ้าได้ลงมือวาดลายเรือฆอแระ 💯จนเมื่ออายุ 20 ปี จึงมีความกล้าที่จะวาดลายลงบนเรือของญาติอย่างจริงจัง ซึ่งครั้งแรกของการรับจ้างวาดลายเรือฆอแระ ได้ค่าแรง 250 บาท ซึ่งสร้างภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ในปัจจุบัน ราคาค่าจ้างวาดลายเรือฆอแระมีตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักหมื่น



         ศิลปะที่ใช้ในการตกแต่งบนเรือฆอแระ เป็นลายไทย ผสมผสานกับ วัฒนธรรมจีน มลายู ตกผลึกมาเป็นลายอัตลักษณ์ประจำเรือ นอกจากนี้ยังมีลายที่มาจากจินตนาการ ถาพสัตว์น้ำ ภาพวิถีชีวิต ซึ่งก็เกิดขึ้นตามแต่ช่างวาดลายเรือจะรังสรรค์ออกมา



            แม้ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่มีเข้ามา ทำให้เรือฆอแระเหลือน้อยลง ช่างวาดก็น้อยลงเช่นกัน ซึ่งตนเองได้รวบรวมลายต่างๆ พร้อมที่จะถ่ายทอดวิชาความรู้ไปสู่ผู้ที่สนใจเพื่อไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา โดยปัจจุบันนี้ ช่างวาดลายฆอแระ ก็ได้นำลายเรือฆอแระไปปรับ ด้วยการวาดลงบนผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ เสื้อผ้า ร่ม รองเท้า ของที่ระลึก และ เรือฆอแระจำลอง เป็นต้น ซึ่งได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน โดยแบมังได้เปิดเพจสำหรับผู้ที่ชื่นชอบและสนใจการวาดลายเรือฆอแระ ที่เฟซบุคเพจ zaman ouma (ซามาน อูมา) เพื่อเป็นสื่อกลางการส่งต่อการวาดลายเรือฆอแระ ให้อยู่ได้นานสืบไป


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น