ท่ามกลางสถานการณ์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จากการนำเสนอผ่านทางรูปแบบต่างๆ มาเป็นระยะเวลา 10 กว่าปีนั้น นอกจากจะสร้างความเสียหายทั้งทรัพย์สินและผลกระทบทางจิตใจแล้วนั้น ก็ยังสร้างความวิตกกังวลต่างๆ ให้กับคนในพื้นที่ด้วยว่า ในทั้งวิถีชีวิตความเป็นอยู่และพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจของพวกเขาในพื้นที่นั้นเป็นอย่างไรต่อไป
หลังจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อเดือนตุลาคม
พ.ศ.2559 ให้มีโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”
ที่ครอบคลุมในช่วงปี พ.ศ. 2560 ถึง พ.ศ. 2563 โดยมีหน่วยงานต่างๆ
มาร่วมกันพัฒนาโครงการในพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี, อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และ อำเภอสุไหง-โกลก จังหวัดนราธิวาส
ให้เป็นพื้นที่พัฒนาพิเศษลักษณะเฉพาะ
เพื่อให้มีการลงทุนจากภาคเอกชนที่จะให้สามารถสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่
และสร้างความเชื่อมั่นในด้านความปลอดภัยนั่นเอง
ทั้งนี้ในส่วนของอำเภอหนองจิก
จังหวัดปัตตานี จากการดำเนินงานเบื้องต้นนั้น นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา
นายอำเภอหนองจิก และ พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการ
ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอบต.
ได้บอกกล่าวเล่าถึงเป้าหมายรวมทั้งผลลัพธ์จากการดำเนินงานดังกล่าวให้เราฟัง
ด้วยความที่ อำเภอหนองจิก
จังหวัดปัตตานี เป็นเมืองหน้าด่านที่ครอบคลุมทุกภาคส่วน
ไม่ว่าจะเป็นชุมทางแรกของประตูสู่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้,
ภาคอุตสาหกรรมด้านปาล์มน้ำมัน
หรือจุดสำคัญที่ถือว่าเป็นปัจจัยหลักของพื้นที่ อย่างด้านเกษตรกรรมจำพวกข้าว
และด้านการประมง จึงทำให้พื้นที่แห่งนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของโครงการดังกล่าว
ซึ่ง นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอหนองจิก
ก็ได้สรุปผลการดำเนินงานคร่าวๆ ดังนี้
“ในภาคการเกษตร
ปัญหาที่สำคัญของอำเภอหนองจิกก็คือว่า เราปลูกพืชเชิงเดี่ยว ปลูกข้าวหรือปลูกยางก็ปลูกอย่างเดียว
ซึ่งเมื่อราคาตลาดโลกมีปัญหา ก็ส่งผลกระทบ มีปัญหา
เราไม่ได้มีความสามารถที่จะปลูกได้หลากหลาย แล้วการปลูกเชิงเดี่ยวอย่างว่า
ซึ่งถ้าปลูกอย่างเดียว ต้นทุนก็สูง ข้าว 1 ไร่ มีต้นทุน 5,000 กว่าบาท ซึ่งวันนี้สิ่งที่เรามาขับเคลื่อน ก็คือเราเน้นไปในเรื่องการลดต้นทุนการผลิต
สอง เน้นเรื่องเกษตรแปลงใหญ่ รวมคน รวมเครื่องมือ
“เพราะถ้าเกษตรกรหลายคนรวมกันหลายๆ ราย
จ้างไถ ซื้อปุ๋ย หรือทำอะไร ค่าใช้จ่ายต่อหน่วยก็จะถูกลง
สอดรับกับการทำเกษตรในทฤษฎีใหม่ในรัชกาลที่ 9 ด้วย ฉะนั้น
เมื่อพบว่าเกิดการรวมกลุ่มในเกษตรแปลงใหญ่ หรือเกษตรในลักษณะ Smart
Farmer ต้นทุนที่เราพูด จะเหลือ 3,000 ต่อไร่
การลดต้นทุน คือการทำให้เงินในกระเป๋ามันเพิ่มขึ้นนั่นเอง
ตรงนี้ก็เป็นโจทย์ที่เราได้ขับเคลื่อนไปแล้ว
“ด้วยพื้นที่ของเราเป็นปลายน้ำ
เรามีคลองส่งน้ำที่ค่อนข้างดี คือเรื่องของภาคการเกษตร ปลูกอะไรก็แปรรูปได้ทั้งหมด
แต่เราจะเน้นเรื่องของมะพร้าว ทั้งผลอ่อนและแก่
ก็ส่งเสริมให้ประชาชนปลูกเช่นเดียวกัน เพราะปัญหาเรื่องการใช้มะพร้าวมีเยอะ
“หรือเรื่องของข้าว
พูดง่ายๆ ที่นี่จะเน้นเป็นเกษตรอินทรีย์ จะไม่ใช้สารเคมี เมื่อไม่ใช้
คุณภาพทั้งดิน น้ำ และข้าวก็จะดีขึ้น ราคาสูงขึ้น แล้วก็ส่งเสริมในการจำหน่าย
ตามที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงมีพระราชดำรัสในเรื่องการแก้ไขราคาข้าว
หรือราคาพืชผลของคนกลาง กลุ่มหรือพืชผลที่ขายกันเอง ช่วยกันขาย
วันนี้ต้องพัฒนาเกษตรกร อย่างที่บอกไป ที่ทำงานแบบมีการวางแผน ยึดตลาดเป็นตัวตั้ง
ผลิตต้องมีตลาด และต้องอยู่ในห่วงโซ่อุปทาน
ก็คือการสร้างราคาของผลผลิตทุกอย่างที่มีตลาดรองรับ แล้วต้องแปรรูปได้
นั่นคือโจทย์ที่อำเภอจะต้องทำให้บรรลุผล
“ส่วนด้านการประมง
อย่างที่ผมบอกคือเราเป็นปลายน้ำ และติดกับทะเลอ่าวไทย ฉะนั้น วิถีชีวิตที่ความเหลื่อมล้ำยังเป็นปัญหา
ทำให้ครอบครัวไม่อบอุ่น ทั้งพ่อหรือแม่ หรือทั้งคู่
ต้องไปทำงานที่ประเทศเพื่อนบ้าน แล้วปัญหาต่างๆ เช่น เรื่องยาเสพติด
เรื่องการทำประมงชายฝั่ง ทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ก็ยังมี แต่ตอนนี้ก็ลดจำนวนลง
กลุ่มชาวประมงในส่วนหลัง เขามีความเชื่อว่า ถ้าเขาเปลี่ยนวิถีชีวิต
รายได้เขาจะไม่พอเลี้ยงตัวเอง
“แต่วันนี้
ด้วยการส่งเสริมแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ในรัชกาลที่ 9
ที่พระองค์ท่านทรงเล็งเห็นในเรื่องการฟื้นฟู สภาพความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำ
ได้ทำเรื่องของปะการังเทียม เพื่อเป็นแหล่งของชุมปลา ทำให้แหล่งปลาของเรามีความอุดมสมบูรณ์
แล้วก็เกิดการแปรรูปจากด้านสินค้าทางการเกษตรหรือสัตว์น้ำเกิดขึ้น
ซึ่งดั้งเดิมก็มาจากปลาแห้ง แต่วันนี้ยกระดับขึ้นมาเป็นปลากุเลา ปลาอินทรี
หลายคนคงรู้จักปลากุเลาจากอำเภอตากใบ แต่ตอนนี้ทางเราก็เริ่มทำมาในระยะหนึ่ง
ซึ่งก็นับเป็นอีกความภาคภูมิใจที่ช่วยให้พี่น้องประชาชนมีอาชีพ มีรายได้
วันนี้มีการสั่งจองมากมาย
“นี่คือจากผลงานเมืองต้นแบบ
ในเฟสแรก ปี 2559 - 2560 ก็เริ่มจากที่นี่
แต่ไม่ได้หมายความว่าหนองจิกจะเป็นเมืองต้นแบบอย่างเดียว
เพราะหนองจิกไม่สามารถที่จะจับปลาได้ตามความต้องการของตลาด
เพราะหนองจิกก็ต้องสร้างเครือข่าย ใน มติ ครม. ชี้ว่าต้องเป็นเมืองบริวาร แต่พอมาทำจริงๆ
แล้วไม่ใช่ เพราะมันต้องอาศัยความร่วมมือกัน ทั้งสายบุรี ยะหริ่ง ก็มีการจับปลา
“สมมุติว่า
สายบุรีไม่มีความรู้ในเรื่องแปรรูป สายบุรีก็สามารถส่งให้หนองจิก
ซึ่งก็มาแปรรูปแล้วขาย กระบวนการทำปลากุเลา ที่เรียกว่า ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
ทุกคนจะต้องเข้ามาร่วมกัน และระบผลประโยชน์จากสิ่งที่ทำ ชาวประมงที่ขายปลาให้กลุ่ม
ก็คิดกันไป กลุ่มที่ทำแปรรูป ก็มีรายได้ กลุ่มที่ 3 ก็ทำเรื่องการตลาด
ก็มีรายได้เช่นเดียวกัน ก็ทำให้เกิดผลดีในเรื่องรายได้มากยิ่งขึ้น”
จากเป้าหมายที่ต้องการมีการพัฒนาพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในทุกภาคส่วน
ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของภาคการเกษตร, ภาคอุตสาหกรรม,
ภาคการท่องเที่ยว และ ภาคการค้า เพื่อการยกระดับของคนในพื้นที่
นั่นจึงเป็นแผนแม่บทคร่าวๆ ที่ต้องทำซึ่ง พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร
รองเลขาธิการ ศอบต. กล่าวโดยสรุปพอสังเขป ถึงองค์ประกอบภาพรวมของโครงการดังกล่าว
“ในเรื่องการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
ในฐานะเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ ทั้งอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี อำเภอเบตง
จังหวัดยะลา และอำเภอสุไหง-โกลก จังหวัดนราธิวาส จริงๆ เราต้องการพัฒนาทุกอำเภอ
แต่เราวางต้นแบบให้กับ 3 อำเภอนี้ก่อน โครงการนี้นะครับ
อำเภอหนองจิกต้องการให้เป็นเมืองเกษตรอุตสาหกรรม
ทางเบตงมุ่งเน้นในส่วนของการท่องเที่ยว
ซึ่งจะมีการพัฒนาให้เป็นต้นแบบของเมืองท่องเที่ยว ขณะที่สุไหง-โกลก
จะเป็นเมืองเชื่อมการค้าชายแดน
โดยจะมีการพัฒนาในด้านคมนาคมเพื่อรองรับในด้านการค้า ทั้งสามส่วนนี้จะเชื่อมโยงถึงกัน
“ในหลวง
ร.9 เสด็จลงพื้นที่หนองจิก 3 ปีติดต่อกัน คือ พ.ศ. 2519 - 2520 - 2521 และตรัสว่า
พื้นที่ตรงนี้เหมาะสมในด้านการเกษตร ให้ปรับปรุงในด้านการเกษตรให้ดี เพราะฉะนั้น
เราจะเน้นด้านการเกษตร ณ ที่ตรงนี้
“ด้านการท่องเที่ยวนั้น
เราจะปรับในเรื่องโรงแรมที่พัก อาหาร ท่าเรือ สนามบิน และเส้นทางต่างๆ
ในพื้นที่ของเบตง มีการพูดถึงการท่องเที่ยวใหม่ๆ
ซึ่งนอกจากจะมีการสร้างสกายวอล์กทั้งที่ปัตตานีและเบตงแล้ว
ก็มีการสร้างแหล่งท่องเที่ยวชุมชน และยังมีการสร้างสนามบินเบตง แล้วก็เส้นทางใหม่
และมีการสร้างความมั่นคงในด้านพลังงาน
“ส่วนสุไหง-โกลก
ก็ให้เป็นเมืองการค้าระหว่างประเทศ นี่คือโครงสร้างพื้นฐาน
เป็นศูนย์ด้านการค้าในด้านพาณิชย์ ศูนย์กระจายสินค้า
แล้วก็สะพานเชื่อมทางรถไฟกับประเทศเพื่อนบ้าน
“นี่คือเป้าหมายของเมืองต้นแบบ
ที่ต้นทุนต่ำลง แต่มูลค่าเพิ่มขึ้น ไม่อย่างนั้นก็ยังจะมีรายได้น้อยและจนเหมือนเดิม
และที่สำคัญที่สุด คือการสร้างห่วงโซ่การผลิตและภาคการตลาดให้ครบวงจร
สมัยก่อนส่งเสริม แต่ไม่รู้ว่าไปที่ไหนต่อ ทุกอย่างก็หยุดชะงัก การตลาดขาดช่วง
ฉะนั้น ต้นแบบนี้ก็เป็นแบบครบวงจร สร้างเมืองต้นแบบ ลดต้นทุน เพิ่มมูลค่า
แล้วก็เชื่อมโยงการตลาดให้ครบวงจร”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น