วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

“ศาลหลักเมืองยะลา” ใจกลางผังเมืองสวยที่สุดในประเทศไทย



         เดิมจังหวัดยะลา ไม่ได้อยู่ในที่ปัจจุบัน ยะลาแต่ก่อนนั้นมีการโยกย้ายสถานที่ตั้งถึง 4 ครั้ง ครั้งแรกอยู่ที่ตำบลยะลอกูเบ (อยู่ระหว่างเขตอำเภอยะหากับอำเภอเมืองยะลา) ครั้งที่ 2 ย้ายตัวเมืองมาตั้งที่ตำบลท่าสาป ริมฝั่งแม่น้ำปัตตานี ครั้งที่ 3 ย้ายไปตั้งที่ตำบลสะเตง ครั้งที่ 4 ย้ายมาตั้งที่ตำบลบ้านนิบง อันเป็นที่ตั้งเมืองในปัจจุบัน และนี่คือจุดเริ่มต้นของ ศาลหลักเมืองยะลา ด้วยเหตุการณ์โยกย้ายบ่อยครั้งในสมัยนั้น ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอย่างเช่นการบริหารบ้านเมือง เมื่อมีการย้ายครั้งที่ 4 มีที่ตั้งที่ชัดเจนแล้วและเพื่อเป็นสิริมงคลแก่พี่น้องชาวยะลา ทำให้ข้าราชการภายใต้การดำริของ พ.ต.อ.ศิริ คชหิรัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาขณะนั้น และประชาชนชาวยะลาได้พร้อมใจกันก่อสร้างหลักเมืองขึ้นที่บริเวณศูนย์วงเวียนหน้าศาลากลางจังหวัด โดยเริ่มวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2505 เวลา 10.30 น. ด้วยพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระสุหร่ายประพรมและทรงเจิม และพระราชทานแก่ พ.ต.อ.ศิริ คชหิรัญ เมื่อวันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2505 และได้ฤกษ์ประกอบพิธีฝังเสา และปักยอดหลักเมือง เมื่อ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2505 เวลา 12.11 น. จากการก่อสร้างหลักเมืองขึ้นในวันนั้นยะลาก็ไม่ย้ายไปที่ไหนอีกเลย

       สำหรับลักษณะทางสถาปัตยกรรมเสาหลักเมืองยะลานั้น ทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ มีช่างจากกรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบแกะสลักเสาหลักเมือง ลักษณะของเสาเป็นแท่งกลมต้นเสาวัดโดยรอบ 105 เซนติเมตร ปลายเสา 48 เซนติเมตร สูง 1.25 เมตร เสานี้วางอยู่บนฐานซึ่งมีลักษณะกลม แกะสลักลวดลายแบบไทย ลงรักปิดทองรอบฐานชั้นบน และกลาง แกะสลักเป็นรูปนักรบโบราณถือโล่และดาบ ยอดเสาหลักเมืองแกะเป็นรูปพระพรหม มี 4 หน้า ลงรักปิดทองทั้งองค์ตัวศาลหลักเมืองก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ตกแต่งด้วยหินขัดทั้งหลังเป็นรูปจตุรมุขหันหน้าไปตามทิศทั้ง 4 มีบันไดขึ้นทั้ง 4 ทิศ รูปลักษณ์ 4 เหลี่ยม ย่อมุมไม้สิบสอง หลังคามุงด้วยกระเบื้องสลับสี ตัวศาลากว้าง 6 เมตร ยาว 6 เมตร สูง 6.50 เมตร ตั้งอยู่บนเนินดินซึ่งถมปรับเป็นวงกลมรัศมีห่างจากตัวศาลโดยรอบ 10 เมตร สูงจากระดับถนน 1.50 เมตร มีถนนทางเข้า 4 ทิศ รอบๆตัวศาล จะมีสระน้ำ มีปลาชุกชุม และนักท่องเที่ยวสามารถให้อาหารปลาได้ และมีการปลูกไม้ประดับร่มรื่น เป็นสวนที่มีความสวยงาม นอกจากนี้ทางจังหวัดยะลาจะจัดงานฉลองสมโภชศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเป็นประจำทุกปี มีการออกร้าน ของหน่วยราชการต่าง ๆ การแสดงสินค้าและงานอาชีพมากมายตลอดแนววงเวียนของศาลหลักเมือง และยังมีมหรสพที่น่าสนใจให้ชมกันตลอดระหว่างวันที่ 24 พฤษภาคม ถึงวันที่ 4 มิถุนายนของทุกปี

        จังหวัดยะลาได้รับยกย่องว่าเป็นจังหวัดที่มีการวางผังเมืองแบบใยแมงมุมสวยที่สุดของเมืองไทย โดยมีลักษณะเป็นวงเวียนซ้อนกันเป็นชั้น วงเวียนชั้นในสุดเป็นที่ทำการของส่วนราชการต่าง ๆ เช่นศาลากลางจังหวัด ศาล สำนักงานที่ดิน สถานีวิทยุกระจายเสียง และที่ว่าการอำเภอเมืองยะลา ชั้นต่อๆไปเป็นบ้านเรือนของประชาชน อย่างเป็นลำดับ และถนนทุกสายจากต่างอำเภอที่มาบรรจบกันนั้นจะสิ้นสุด ณ ศูนย์กลางเมือง ซึ่งหากดูจากภาพถ่ายทางอากาศของเมืองยะลา จะพบว่าตรงใจกลางผังเมืองนั้น คือ ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองยะลานั่นเอง



----------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น