วันอังคารที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

ย้อนเรื่องเล่า "สะพานป๋าเปรม" ที่ยาวที่สุดในภาคใต้



       "จำได้ว่าสมัยยังเรียนอยู่ชั้นประถม ขณะนั้นได้ใช้ชีวิตอยู่ในครอบครัวที่จังหวัดสงขลากับพ่อแม่ แต่ทุกวันหยุดครอบครัวของเราจะใช้เวลาเดินทางไปเยี่ยมคุณปู่คุณย่าที่ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยรถยนต์ของพ่อ และทุกครั้งต้องไปต่อคิวขึ้นแพขนานยนต์ เพื่อเอารถพ่อลงแพข้ามทะเลสาบสงขลาไปฝั่งสิงหนคร ซึ่งต้องต่อคิวรถติดยาวเป็นหางว่าวระยะเวลายาวนานหลายชั่วโมง เพราะเป็นเส้นทางเดียวที่เหมือนจะใกล้สุดในการข้ามไปอีกฝั่ง" เด็กสงขลา เล่าเรื่องในวัยเยาว์

       สะพานติณสูลานนท์ สร้างทอดข้ามทะเลสาบสงขลา เพื่อเชื่อมแผ่นดินระหว่างฝั่งสงขลาคือบ้านเขาเขียว อำเภอสิงหนคร กับฝั่งเกาะยอคือบ้านน้ำกระจาย อำเภอเมืองสงขลา จุดประสงค์ของการสร้างสะพานแห่งนี้ คือ การรองรับการคมนาคมทางรถยนต์ โดยไม่ต้องรอข้ามแพขนานยนต์ซึ่งมีไม่เพียงพอกับปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้การเดินทางต้องใช้เวลานาน ทั้งเมื่อข้ามฝั่งมาแล้วก็ยังทำให้การจราจรติดขัดในตัวเมืองอีกด้วย

       "4 ปี ระหว่างที่สะพานกำลังสร้าง จำได้ว่าพ่อมักจะพาพี่สาว-พี่ชาย ไปตีแบดออกกำลังกายใกล้ๆ ตีนสะพานเพราะว่าเป็นพื้นที่ว่าง และสามารถจอดรถได้สะดวกสบาย และพ่อเคยเล่าให้ฟังว่าถ้าไม่เอารถยนต์ข้ามแพไปฝั่งหัวเขาแดง (สิงหนคร) ก็จะมานั่งเรือหางยาวข้ามทะเลไปยังเกาะยอ แล้วไปต่อรถโดยสารอีกทอดหนึ่งซึ่งถือเป็นการเดินทางที่ลำบากมากๆ ระหว่างที่สะพานกำลังสร้างก็มีเรื่องเล่ามากมาย ผิดบ้างถูกบ้างชาวบ้านก็ร่ำลือกันไป เช่น เสาสะพานแต่ละต้นต้องเซ่นศีรษะคนตายฝังไว้ หรือ การก่อสร้างสะพาน มีคนงานต้องสังเวยชีวิตหลายศพ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแล้วเป็นเรื่องราวที่ไม่มีข้อเท็จจริงปรากฏ แต่ก็ยังจำได้เสมอว่าเป็นเรื่องที่โด่งดังมากในยุคนั้น" เธอรื้อฟื้นความหลัง

นั่นคือวิถีชีวิตการเดินทางข้ามไปอีกจังหวัดของชาวสงขลา ก่อนที่จะมีการสร้าง สะพานติณสูลานนท์ขึ้นมาในปี พ.ศ.2524 และเปิดให้ใช้บริการช่วงปี พ.ศ.2527 ซึ่งใช้เวลายาวนานถึง 4 ปีเต็ม แต่นับเป็นการรอคอยที่คุ้มค่า ทว่าชาวสงขลาได้ใช้ประโยชน์นานัปการจากสะพานแห่งนี้

        "รัฐบาลยุคนั้น ต้องการจะพัฒนาจังหวัดสงขลา และอำเภอหาดใหญ่ให้เป็นเมืองหลักที่มีความเจริญในด้านการท่องเที่ยว เมื่อสะพานสร้างเสร็จ คนไทยอีกจำนวนมากนิยมเรียกสะพานติณสูลานนท์ว่า สะพานติณ” “สะพานเปรมหรือ สะพานป๋าเปรม ต่อมาครอบครัวเราก็ไม่ต้องไปต่อคิวลงแพขนานยนต์ยาวเหยียดเป็นกิโลเหมือนเมื่อก่อน แต่ก็มีบ้างเหมือนกันที่ต้องการจะใช้เส้นทางลัดข้ามไปหัวเขาแดง จึงนำรถลงแพไป เพราะว่าท่าแพขนานยนต์อยู่ในตัวเมืองสงขลา แต่ถ้าจะข้ามสะพานติณฯ นั้นหมายความว่า เราต้องขับรถวนออกไปนอกเมืองทาง 5 แยกเกาะยอ ซึ่งไกลพอสมควร เพราะบ้านเราอยู่ในเมือง ช่วงนั้นพ่อบอกว่า ป๋าเปรม ใส่ใจในรายละเอียดมากๆและมาคุมงานก่อสร้างเองหลายครั้ง หลังจากสะพานเสร็จ วิถีชีวิตของชาวสงขลาก็เปลี่ยนไป สะดวกสบายในการเดินทางยันรุ่นลูกหลาย"

สะพานติณสูลานนท์ เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงหมายเลข 4146 ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างทางหลวงหมายเลข 4083 (ระโนด-เขาแดง) กับทางหลวงหมายเลข 407 (สงขลา-หาดใหญ่) สะพานแห่งนี้สร้างเป็นสะพานคอนกรีตคู่ มีความยาวของสะพานแบ่งเป็น 2 ช่วง คือยาว 940 เมตร และ 1,700 เมตร รวมความยาวทั้งหมด 2,640 เมตร นับเป็นสะพานคอนกรีตคู่ที่ยาวที่ของเมืองไทยในยุคนั้น ด้วยความโดดเด่นและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติอันสวยงามของสะพานติณสูลานนท์ ทำให้สะพานแห่งนี้เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อของจังหวัดสงขลา

        "จำได้ว่าตอนสะพานสร้างเสร็จใหม่ๆ มีแต่คนจอดรถริมสะพาน เพื่อลงไปถ่ายรูปกัน สมัยนั้นต้องซื้อฟิล์มใส่กล้องไปถ่าย แล้วไปล้างที่ร้าน ก่อนจะอัดรูปเป็นขนาดต่างๆ ใส่ซองจดหมายส่งไปให้เพื่อน หรือญาติชื่นชม เพราะเรารู้สึกว่าสะพานแห่งนี้เป็นความภาคภูมิใจของเรา เพราะเห็นตั้งแต่สะพานเพิ่งเริ่มสร้างจนกระทั่งสร้างเสร็จ ที่สำคัญทางโรงเรียนมีกิจกรรมให้ส่งจดหมายไปพูดคุยกับเพื่อนต่างจังหวัดต่างโรงเรียนโดยระบุแค่เลขที่ในห้องเรียน ซึ่งเราไม่เคยรู้มาก่อนว่าหน้าตาเพื่อนคนนั้นเป็นยังไง ผู้หญิงหรือผู้ชาย เพียงแค่สุ่มเขียนจดหมายไปถึงคนเลขที่เดียวกับเรา แน่นอนว่า เราได้ส่งรูปที่ถ่ายคู่กับสะพานติณไปให้เพื่อนดู วันที่จดหมายตอบกลับมาหา รู้สึกดีใจมาก เพราะเพื่อนคนนั้นตื่นตาตื่นใจกับภาพถ่ายและเรื่องเล่าของสะพานที่ยาวที่สุดในประเทศไทยที่มีขึ้นในสงขลาเป็นจังหวัดแรก" เธอทิ้งท้ายเอาไว้

***สะพานแห่งนี้ ถือเป็นเพียงแค่สิ่งเล็กน้อยที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี รัฐบุรุษ และประธานองคมนตรีในพระมหากษัตริย์ถึง 2 พระองค์ ได้สร้างไว้ให้ลูกหลานชาวสงขลาและคนในบ้านเกิดของท่าน ทว่ายังมีอีกมากมายหลายสิ่งที่ท่านได้ทิ้งไว้ให้ชาวสงขลา ได้ใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง จึงไม่แปลกที่ใครๆ ก็รู้สึกรักและเคารพระลึกถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่ ในวันที่ท่านได้จากโลกนี้ไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ***
---------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น