วันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2559

“ลองกองซีโป” ของดีเมืองนราธิวาส

“ลองกองซีโป” ของดีเมืองนราธิวาส พร้อมเชิญชวนชิม
             “ทักษิณราชตำหนัก ชนรักศาสนา นราทัศน์เพลินตา ปาโจตรึงใจ แหล่งใหญ่แร่ทอง ลองกองหอมหวาน” คือ คำขวัญประจำจังหวัดนราธิวาส ซึ่งแน่นอนว่า นอกจากจะหมายถึงสถานที่ตั้งของพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ประชาชนเคร่งครัดในศาสนา และการร่ำรวยความงามตามธรรมชาติแล้ว ยังจะบ่งบอกว่า ที่นี่เป็นแหล่งกำเนิดผลไม้รสหวาน หอมและเย็นตามธรรมชาติ ที่มีชื่อมากที่สุด นั่นก็คือ “ลองกองซีโป” ในอำเภอระแงะ นั่นเอง
              จังหวัดนราธิวาส เป็นจังหวัดที่มีการปลูกลองกองมากที่สุดในประเทศไทย และเป็นถิ่นกำเนิดลองกองคุณภาพดีที่มีชื่อเสียง คือ “ลองกองซีโป” ตำบลเฉลิม อำเภอระแงะ เพราะมีคุณสมบัติเด่น คือ เมื่อผลสุกจะมีรสชาติหวานหอม โดยลองกองต้นแรกที่ปลูกอยู่ที่บ้านซีโป ปัจจุบันยังคงยืนต้นอยู่ แต่ไม่มีใบ มีเพียงลำต้นอย่างเดียวเท่านั้น และมีอายุกว่าร้อยปี
                ต่อมา เกษตรกรในพื้นที่ได้มีการนำลองกองซีโปมาปลูกที่บ้านตันหยงมัส ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟตันหยงมัส อำเภอระแงะ และเนื่องจากการขนส่งลองกองในสมัยก่อนนิยมส่งทางรถไฟ ผู้บริโภคจึงรู้จักลองกองรสชาติดีว่า มาจากตันหยงมัส จึงเรียกกันว่า ลองกองตันหยงมัส แต่แหล่งผลิตสำคัญยังคงอยู่ที่บ้านซีโป ตำบลเฉลิม อำเภอระแงะ   ลองกอง (longkong) เป็นพันธุ์ไม้ชนิดเดียวกับลางสาด มีเปลือกหนา และไม่มียางเหมือนลางสาด มีเนื้อน้อยกว่า แต่มีรสหวานกว่า มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lansium domesticum Corr ซึ่งพืชที่อยู่ในชนิดเดียวกันนี้คือ ดูกู (duku) ส่วนลังสาด (ลางสาด) แยกเป็นชนิดหนึ่งต่างหาก โดยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า A. Domesticum Pelleg ส่วนชื่อ ลองกอง มาจากภาษายาวีว่า ดอกอง

 ลองกอง ดูกู และลางสาด เป็นไม้ผลในสกุลเดียวกัน ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
 
       1.กลุ่มลองกอง เป็นกลุ่มที่ผลผลิตมีคุณภาพดีที่สุด มีเมล็ดน้อย หรืออาจจะไม่มีเมล็ดเลย ใบมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก คือ มีสีเขียวเข้ม และมีร่องใบลึก ทำให้ดูเหมือนกับว่า ใบหยักเป็นคลื่น ซึ่งกลุ่มนี้แบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด คือ
     
       - ลองกองแห้ง ผลสุกจะมีเนื้อใสเป็นแก้ว เนื้อแห้ง หวาน และมีกลิ่นหอมชวนรับประทาน ส่วนเปลือกหนามีสีเหลืองคล้ำ และไม่มียาง
       - ลองกองน้ำ ผลสุกจะมีเนื้อค่อนข้างฉ่ำน้ำ สีเปลือกเหลืองสว่างกว่า
       - ลองกองปาลาแม หรือลองกองแปร์แมร์ ผลสุกจะมีเนื้อนิ่ม กลิ่นไม่หอมเหมือนลองกองน้ำ เปลือกบางและมียางบ้าง
     
       2.กลุ่มดูกู หรือลูกู ลักษณะใบค่อนข้างหนา และมีสีเขียวเข้มคล้ายลองกอง แต่หยักเป็นคลื่นน้อยกว่า ขนาดผลค่อนข้างใหญ่ และมีเปลือกหนากว่าลองกอง มีเมล็ดมาก และมีเนื้อฉ่ำน้ำ ที่พบมี 2 ชนิด คือ
     
       - ดูกูแปร์แมร์ มีผลค่อนข้างรี ก้นผลแหลม ผิวย่นเล็กน้อย
       - ดูกูน้ำ มีผลค่อนข้างกลม มีผิวสดใสกว่าดูกูแปร์แมร์
     
       3.ลางสาด ใบบางกว่าลองกอง คลื่นใบไม่เด่นชัด ผลเล็กกว่าลองกอง ผลสุกมีสีเหลืองนวล เปลือกบางมียางเหนียว มีเมล็ด 2-3 เมล็ดต่อผล
       ลองกองเป็นไม้ผลเศรษฐกิจเขตร้อนชื้น ในเขตภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยเป็นประเทศที่สามารถผลิตลองกองที่มีคุณภาพดีที่สุด
           เนื่องจากลองกองมีความต้องการสภาพพื้นที่ที่มีความชุ่มชื้น มีความชื้นในอากาศสูง พื้นที่การปลูกลองกองจึงถูกจำกัดโดยสภาพแวดล้อม ผลผลิตของลองกองจึงมีปริมาณน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ราคาผลผลิตจึงสูง ทำให้การปลูกลองกอง ได้รับผลตอบแทนสูงกว่าการปลูกไม้ผลอื่นๆ หลายชนิด
            โดยผลของลองกอง จะมีลักษณะเป็นช่อสวยงาม เปลือกผลนุ่มคล้ายกำมะหยี่ เนื้อล่อนออกจากเปลือกได้ทั้งผล เมล็ดน้อย หรือไม่มีเลย มีกลิ่นหอม และมีรสหวานชื่นใจ อีกทั้งยังอุดมไปด้วยวิตามินบี และฟอสฟอรัส มีสรรพคุณในการลดความร้อนที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย เมื่อรับประทานเป็นประจำจะช่วยป้องกันไม่ให้เป็นไข้ ตัวร้อน ลดอาการร้อนในช่องปาก จึงเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั้งตลาดภายใน และตลาดต่างประเทศ

แต่ในปีนี้ ปรากฏว่า ลองกองมีราคาตกต่ำมาก โดยมีราคารับซื้อหน้าสวนประมาณ 5-10 บาทต่อ กิโลกรัม ขณะที่ราคาจำหน่ายในท้องตลาด เกรดเอ อยู่ที่กิโลกรัมละ 25-30 บาท เกรดบี กิโลกรัมละ 15-20 บาท และเกรดซี กิโลกรัมละ 10 บาทขึ้นไป ซึ่งถือว่าราคาลองกองในปีนี้ตกต่ำกว่าทุกปีที่ผ่านมา จังหวัดนราธิวาส จึงเตรียมนำนวัตกรรมใหม่เกี่ยวกับการแปรรูปผลผลิตลองกอง มาแนะนำให้แก่กลุ่มเกษตรกร ทั้งการแปรรูปด้วยการแช่อิ่ม แยม และผลิตภัณฑ์ดูแลหน้า เพื่อส่งเสริมการแปรรูปหารายได้เพิ่มแก่ครอบครัว
     
       การแปรรูปลองกอง จึงน่าจะเป็นการสร้างตลาดให้แก่กลุ่มผู้ปลูกลองกองอีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะการแปรรูปแล้วส่งไปจำหน่ายยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นการเสริมสร้างรายได้ และช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนเท่านั้น แต่ยังช่วยเปิดโอกาสให้มีการนำผลผลิตที่เลื่องชื่อของจังหวัดมาพลิกวิกฤตราคาที่ตกต่ำในอีกทางด้วย
     
       จากการสำรวจตัวเลขการปลูกลองกองในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ของสำนักงานเกษตรจังหวัดนราธิวาส พบว่า ปลูกใน 13 อำเภอ จำนวน 40,458 ราย คิดเป็นเนื้อที่ทั้งสิ้น 75,881 ไร่ สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตออกจำหน่ายสู่ท้องตลาดได้ 66,172 ไร่ ขณะที่ส่วนลองกองขนานแท้ในตำบลตันหยงมัส อำเภอระแงะ มีเพียง 15,219 ไร่ ให้ผลผลิตเพียง 14,360 ไร่ แต่ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ และสร้างชื่อเสียงให้แก่ท้องถิ่นเป็นอย่างดี
เครดิต : http://www.manager.co.th/South/ViewNews.aspx?NewsID=9560000126147

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น