วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2559

“ม.อ.โพล” สำรวจความเชื่อมั่น โครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง 3 เมืองหลัก



คณะทำงานการสำรวจความคิดเห็น ม.อ.โพลมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกี่ยวกับประเด็นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและความเชื่อมั่นของประชาชนต่อแผนงาน ต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน พัฒนาชายแดนใต้ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งเป็นการร่วมมือกับทุกภาคส่วนกำหนดกรอบการพัฒนาเมืองเศรษฐกิจ 3 เมือง คือ เมืองหนองจิก จังหวัดปัตตานี เมืองเบตง จังหวัดยะลา และ เมืองสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ภายใต้แนวคิด สานพลังประชารัฐผ่านการลงทุนขนาดใหญ่ของธุรกิจเอกชน พัฒนาให้มีความโดดเด่นทั้งด้านเอกลักษณ์และด้านเศรษฐกิจ

โดยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งหมดจำนวน 580 กลุ่มตัวอย่างในทุกตำบล ของอำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอเบตง และอำเภอหนองจิก โดยคำถามประกอบด้วยข้อมูลการรับรู้ข้อมูลข่าวสารโครงการ ความเชื่อมั่นต่อโครงการและข้อเสนอแนะต่อโครงการ
ในด้านการรับรู้ข้อมูลโครงการดังกล่าว ประชาชนในพื้นที่เมืองต้นแบบได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารโครงการ ถึงร้อยละ 80.10 โดยผ่านสื่อสารมวลชน เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่อออนไลน์ มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 51.90 และประชาชนอายุ 60 ปี ขึ้นไปมีการรับรู้มากที่สุด โดยประชาชนในพื้นที่อำเภอสุไหงโก-ลก มีการรับรู้ข้อมูลข่าวสารโครงการฯ มากที่สุด


จากการสำรวจพบว่า ค่าคะแนนความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมของโครงการต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน พัฒนาชายแดนใต้ อยู่ที่ระดับค่าคะแนน 3.79 โดยประเด็นที่ประชาชนในพื้นที่มีความเชื่อมั่นสูงสุด อันดับแรกคือ เชื่อมั่นว่าแผนงานจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนในพื้นที่ มีระดับค่าคะแนน 3.86 อันดับที่สอง คือ เชื่อมั่นว่าแผนงานจะนำพาอำเภอสุไหงโก-ลก เป็นศูนย์กลางการค้าชายแดนระหว่างประเทศซึ่งจะมีการจับจ่ายใช้สอยของคนทุกระดับทั้งในและนอกประเทศ มีระดับค่าคะแนน 3.85 และประเด็นที่สาม คือ เชื่อมั่นว่าแผนงานจะนำพาอำเภอเบตงเป็นเมืองต้นแบบการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน มีระดับค่าคะแนน 3.83

นอกจากนั้นยังพบว่า อำเภอเบตง เป็นพื้นที่ที่ประชาชนมีระดับค่าคะแนนความเชื่อมั่นต่อโครงการสูงที่สุด โดยมีระดับค่าคะแนน 3.82 รองลงมาคือ อำเภอหนองจิก ส่วนอำเภอสุไหงโก-ลก ซึ่งมีการรับรู้โครงการมากที่สุด กลับมีระดับความเชื่อมั่นน้อยที่สุด คือ 3.75

ผู้ทำแบบสอบถาม ยังให้ข้อเสนอแนะต่างๆ เพิ่มเติม เช่น การพัฒนาอยากให้คำนึงถึงความเป็นจริงในพื้นที่ให้มากที่สุด อยากให้คำนึงถึงอัตลักษณ์ของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ครอบคลุมในทุกศาสนา และอยากให้แผนดังกล่าวมีการดำเนินการได้อย่างจริงจังดังที่ได้ประชาสัมพันธ์ไว้ เพื่อสันติสุขและเกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ




-----------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น