วันอังคารที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2559

เปิด “ปัจจัย” ทำเด็กปัตตานีไอคิวต่ำ!!


ผลวิจัยชี้ ปัจจัยทำ เด็กปัตตานี ไอคิวต่ำ เผย การศึกษา - อาชีพ ของพ่อแม่ส่งผลด้วย ไม่ใช่นักธุรกิจ รัฐวิสาหกิจ ราชการ โอกาสไอคิวต่ำกว่าถึง 2.3 เท่า ความผิดปกติแรกคลอด การนมแม่น้อยล้วนส่งผล
พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากการสำรวจระดับสติปัญญาเด็กไทยเมื่อปี 2554 ของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ในนักเรียน อายุ 6 - 18 ปี จำนวน 92,525 คน พบว่า ระดับสติปัญญาเด็กใน จ.ปัตตานี อยู่ในลำดับที่ 75 ของประเทศ มีระดับสติปัญญาเฉลี่ยที่ 91.06 ถือว่าอยู่ในระดับปกติแต่ค่อนไปทางต่ำ และจากปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลกระทบต่อการศึกษาของเด็ก ศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 จ.ปัตตานี ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงดำเนินการศึกษาวิจัยเรื่อง ปัจจัย ที่ส่งผลต่อระดับสติปัญญาของเด็กช่วงอายุ 3 - 5 ปี ใน จ.ปัตตานี โดยทำการศึกษาเชิงสำรวจเด็กอายุ 3 - 5 ปี ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาลรัฐและเอกชน จำนวน 819 คน ผ่านการทำแบบประเมินความสามารถเชาวน์ปัญญาเด็กอายุ 2 - 15 ปี กรมสุขภาพจิต และใช้แบบสอบถามเรื่องปัจจัยที่ส่งผลต่อระดับสติปัญญาเด็กอายุ 3 - 5 ปี ใน จ.ปัตตานี สำหรับครูผู้ดูแลเด็ก / ครูพี่เลี้ยง และ ผู้ปกครอง / ผู้เลี้ยงดูเด็ก
พญ.เพชรดาว กล่าวว่า ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีระดับสติปัญญาหรือไอคิว น้อยกว่า 90 ร้อยละ 16.2 โดยอิทธิพลของปัจจัยต่าง ๆ พบว่า เด็กอนุบาลรัฐมีโอกาสที่จะมีระดับไอคิวน้อยกว่า 90 อยู่ 2.33 เท่าของเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เด็กอนุบาลเอกชนมีโอกาสที่จะมีระดับไอคิวน้อยกว่า 90 อยู่ที่ 1.37 เท่าของเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ผู้ปกครองไม่ใช่อาชีพธุรกิจ รัฐวิสาหกิจ ราชการ มีโอกาสที่เด็กจะมีไอคิวน้อยกว่า 90 อยู่ 2.31 เท่าของ 3 อาชีพนี้ เด็กเรียนน้อยกว่าร้อยละ 90 มีโอกาสที่จะมีระดับไอคิวน้อยกว่า 90 อยู่ 1.8 เท่าของเด็กที่มาเรียนเกินร้อยละ 90 ความผิดปกติแรกคลอดมีโอกาสที่จะมีระดับไอคิวน้อยกว่า 90 อยู่ 2.61 เท่าของเด็กที่ไม่มีความผิดปกติ เด็กรับรู้ข่าวสารความรุนแรงบ่อย ๆ มีโอกาสที่จะมีระดับไอคิวน้อยกว่า 90 อยู่ 1.69 เท่าของเด็กที่ไม่ได้รับรู้ข่าวสารความรุนแรง
โดยสรุปปัจจัยที่ส่งผลต่อระดับสติปัญญาของเด็กช่วงอายุ 3 - 5 ปี ใน จ.ปัตตานี คือ อายุเด็ก ความผิดปกติแรกคลอด ระยะเวลาการดื่มนมมารดา การรับวัคซีน การศึกษาบิดามารดา อาชีพบิดามารดา การสื่อสารด้วยภาษาไทย การได้รับความรักความอบอุ่น การทำกิจวัตรประจำวันส่วนตัวด้วยตนเอง การรับประทานผลไม้ การรับประทานอาหารหมักดอง อำเภอที่ตั้ง สถานศึกษา ประเภทของสถานศึกษา เวลาเข้าเรียน และการรับรู้ข่าวสารสถานการณ์ความไม่สงบ ข้อเสนอแนะ คือ 1. การบริโภคสื่อจากช่องทางต่าง ๆ เช่น สื่อโทรทัศน์ วิทยุ อินเทอร์เน็ตผู้ปกครองควรให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด 2. การบริโภคอาหารผู้ปกครองควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ควรเลี้ยงลูกด้วยนมมารดา รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และงดรับประทานอาหารหมักดอง ขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลมลูกอม 3. การส่งเสริมระดับสติปัญญาของลูกควรเริ่มต้นตั้งแต่ในครรภ์ ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอดูแลสุขภาพจิตขณะตั้งครรภ์ และ 4. ความสามารถทางสติปัญญาสามารถส่งเสริมกระตุ้นได้โดยผู้ที่มีความรู้ ดังนั้น ผู้ปกครอง และครูควรมีความรู้ในเรื่องการส่งเสริมและกระตุ้นสติปัญญา เพื่อสามารถกระตุ้นและส่งเสริมระดับสติปัญญาของลูกและนักเรียนได้พญ.เพชรดาว กล่าว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น