วันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ประเพณีออกพรรษาและประเพณีชักพระจังหวัดชายแดนใต้

ปัตตานีบ้านฉัน

หลังจากพระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา 3 เดือน โดย"วันเข้าพรรษา"เริ่มต้นตั้งแต่ 20 กรกฎาคม 2559 คือว่าเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา  ซึ่งเป็นวันที่พระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดระยะเวลาฤดูฝน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือที่เรียกติดปากกันโดยทั่วไปว่า "จำพรรษา" นั่นเอง ซึ่งวันที่ 16 ตุลาคม 2559 จะครบกำหนด 3 เดือน และเป็น วันออกพรรษา

วันออกพรรษาเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วันมหาปวารณาคำว่า ปวารณาแปลว่า อนุญาตหรือ ยอมให้ใน วันออกพรรษา นี้พระสงฆ์จะประกอบพิธีทำสังฆกรรมใหญ่ เรียกว่า มหาปวารณา เป็นการเปิดโอกาสให้ภิกษุว่ากล่าวตักเตือนกันได้ เพราะในระหว่างเข้าพรรษา พระสงฆ์บางรูปอาจมีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข การให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนได้ ทำให้ได้รู้ข้อบกพร่องของตน และยังเปิดโอกาสให้ซักถามข้อสงสัยซึ่งกันและกันด้วยซึ่งจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11

และวันถัดจาก วันออกพรรษา 1 วัน (แรม 1 ค่ำ เดือน 11) พุทธศาสนิกชนในประเทศไทยยังนิยมไปทำบุญตักบาตรครั้งใหญ่ เรียกว่า ตักบาตรเทโว หรือ ตักบาตรเทโวโรหนะ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในพุทธประวัติที่กล่าวว่า ในวันถัด วันออกพรรษา หนึ่งวัน พระพุทธเจ้าได้เสด็จลงจากเทวโลกกลับจากการโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในพรรษาที่ 7 เพื่อลงมายังเมืองสังกัสสนคร พร้อมกับทรงแสดงโลกวิวรณปาฏิหาริย์เปิดโลกทั้งสามด้วย

กิจกรรมในวันออกพรรษา

วันออกพรรษา นี้พุทธศาสนิกชนถือว่าเป็นโอกาศอันดีที่จะกระทำ การบำเพ็ญกุศล เช่น ทำบุญตักบาตร จัดดอกไม้ ธูป เทียน ไปบูชาพระที่วัดและฟังพระธรรมเทศนา ของที่ชาวพุทธนิยมนำไปใส่บาตรในวันนี้ก็คือ ข้าวต้มมัดไต้ และข้าวต้มลูกโยน และการร่วมกุศล ตักบาตรเทโวในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11
1. ทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ
2. ไปวัดเพื่อปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา
3. ร่วมกิจกรรม ตักบาตรเทโว” (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11)
4. ปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาด ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการและประดับธงชาติ และธงธรรมจักร ตามวัดและสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา
5. ตามสถานที่ราชการ สถานที่ศึกษาและที่วัด ควรจัดให้มีนิทรรศการ การบรรยาย หรือ บรรยายธรรม เกี่ยวกับ วันออกพรรษา เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนและผู้สนใจทั่วไป

งานประเพณีชักพระในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้


งานประเพณีชักพระหรือ ลากพระเป็นประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดจากบรรพบุรุษมาอย่างยาวนาน อันถือเป็นวันที่องค์พระสัมมา สัมพุทธเจ้าเสด็จกลับมาสู่โลกมนุษย์ โดยมีขบวนเทพยดาและมนุษย์ส่งเสด็จและรับเสด็จ โดยชาวบ้านจะมีการทำบุญตักบาตร และมีการอันเชิญพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนยอดเรือพระและลากเรือพระออกจากวัดในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ตรงกับวันออกพรรษาของทุกปี ซึ่งพุทธศาสนิกชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้


อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ได้ริเริ่มให้มีการลากพระ หรือชักพระ ตั้งแต่ ปี 2492 เป็นต้นมา จนปีนี้เป็นปีที่ 67 ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมการสร้างความสามัคคี และความเข้าใจอันดีต่อกันระหว่างสถาบันสงฆ์, ข้าราชการ และประชาชนในพื้นที่, ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยการนำประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นสื่อ นอกเหนือจากแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่แล้ว และยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีงามของจังหวัดปัตตานีอีกทางหนึ่งด้วย



นอกจากนี้ยังมีการจัดประเพณีชักพระในพื้นที่จังหวัดยะลา ซึ่งเทศบาลนครยะลา จัดขึ้น ที่ศูนย์เยาวชนเทศบาลนครยะลา อ.เมือง จ.ยะลา เป็นประจำทุกปี บรรยากาศของงานเป็นไปอย่างคึกคัก มีพุทธศาสนิกชนชาวยะลาและจังหวัดใกล้เคียง เดินทางมาร่วมงานกันเป็นจำนวนมาก 



ประเพณีชักพระที่จัดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี หรือในจังหวัดยะลา จะมีขบวนเรือพระจากอำเภอต่างๆ ทั้ง จ.ยะลา จ.ปัตตานี จ.นราธิวาส และ จ.สงขลา เข้ามาร่วมงานเป็นจำนวนมาก
การตกแต่งเรือพระจะมีการประดับตกแต่งอย่างสวยงาม แสดงให้เห็นถึงวิถีทางพุทธศาสนาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมี ขบวนกลองยาว รวมทั้งพุทธศาสนิกชนที่ร่วมขบวนแห่ชักลากพระ ซึ่งแต่ละคนจะแต่งตัวในแบบประเพณีท้องถิ่นแต่ละชุมชนของตนเอง 

ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นสังคมของการอยู่ร่วมพหุวัฒนธรรมของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ และศาสนา ทั้งชาวไทยพุทธ ชาวไทยเชื้อสายจีน และพี่น้องมลายูมุสลิม หน่วยงานภาครัฐมุ่งส่งเสริมอนุรักษ์ และปลูกฝังขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น และร่วมกันแสดงออกถึงคุณธรรม ความรัก ความสามัคคีในหมู่คณะ รวมทั้งเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้คนต่างศาสนา ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ภายใต้ความแตกต่าง.
-----------------------------

  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น