เรือกอและเป็นเรือหาปลาที่แสดงถึงศิลปะทางด้านงานจิตรกรรมที่มีความสวยสดงดงามราวนางฟ้าในมหาสมุทร
ด้วยลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์และสีสันที่สะดุดตา มีการผสมผสานกันระหว่างศิลปะไทย
อิสลาม และจีน องค์ประกอบของลำเรือมีความแตกต่างไปจากเรือหาปลาอื่นๆ
นับเป็นศิลปะที่สื่อถึงวิถีชีวิตของคนในพื้นที่โดยแท้จริง
ในอดีต ตั้งแต่ชายหาดอำเภอเมือง
อำเภอยะหริ่ง อำเภอสายบุรี ของจังหวัดปัตตานี เรื่อยไปจนถึงอำเภอเมือง อำเภอตากใบ
ในจังหวัดนราธิวาส รวมถึงท้องทะเลในจังหวัดสงขลา
เรือกอและเป็นพาหนะที่สำคัญและเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของชาวประมงในดินแดนแถบนี้ที่ต้องอาศัยสินในน้ำเลี้ยงชีวิต
คำว่ากอและเป็นภาษามลายู
เขียนเป็นตัวอักษรโรมันว่า Kolek (โกเล็ก) หมายถึง โคลงเคลง หรือล่องลอย
ในสมัยก่อนเรือกอและเป็นเรือหาปลาที่มุ่งสู่ทะเลลึกโดยการกางใบแทนฝีพาย
เครื่องยนต์รูปทรงเรือกอและมีขนาดใหญ่และยาว แคมเรือลึก สามารถสู้ลมได้
เรือกอและที่แล่นด้วยใบเป็นเรือสุดยอดแห่งความสวยงามที่คนรุ่นใหม่ไม่ได้เห็นมากว่า
30 ปีแล้ว
ประกอบกับเรือกอและที่มีความสมบูรณ์แบบในอดีตนั้นลักษณะหัวเรือเรียวยาว
และขั้นตอนเต็มไปด้วยศิลปะ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาตามความเชื่อและความงามจากนิยาย
จากการบอกเล่าสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน
แหล่งกำเนิดเรือกอและในภาคใต้ของประเทศไทยที่ยิ่งใหญ่ในอดีตอยู่ที่บ้านบน
ตำบลปะเสยาวอ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี
ในปัจจุบันการต่อเรือกอและลดน้อยลงไปมากเพราะความผันแปรของภาวะเศรษฐกิจ
ที่ต้องสั่งไม้จากถิ่นอื่นทำให้ได้ไม้ราคาแพง และใช้ระยะเวลาในการต่อเรือที่ยาวนาน
โดยทั่วไปแล้วเรือกอและจะมีหลายขนาด
ความยาววัดจากหัวสุดถึงท้ายสุดจะอยู่ที่ 6-10 วา กว้างประมาณ 2-4 ศอก ส่วนความลึกวัดจากท้องเรือถึงสุดแคมประมาณ 2-3 ศอก จึงจะเป็นเรือที่มีลักษณะยาวเรียว
ปราดเปรียว แล่นได้เร็ว และโต้คลื่นได้อย่างสวยงาม
ส่วนหัวและท้ายของเรือจะแต่งต่อให้เชิดยาวด้วยไม้กระดานแผ่นใหญ่
โดยส่วนหน้าของกระดานทำมุมกับผิวน้ำประมาณ 80 องศา สำหรับรูปทรงของหัวเรือกอและมี 2 ชนิด คือ ชนิดหัวยาว และชนิดหัวสั้น ในอดีตจะนิยมชนิดหัวยาว
แต่ในปัจจุบันจะนิยมชนิดหัวสั้น
เรือกอและของชาวไทยมุสลิมนั้นนอกจากจะมีความงามทางด้านรูปทรงสัณฐานแล้ว
ยังทรงคุณค่าที่สุดตรงลวดลายตั้งแต่หัวเรือจนถึงท้ายเรือ สีที่ใช้เขียนลายจะเป็นสีน้ำมัน
มักนิยมเขียนลายเป็นรูปสัตว์ในตำนาน เช่น พวกนกต่างๆ พญานาค หนุมานจับสุวรรณมัจฉา
ราหูอมจันทร์ เมขลาล่อแก้วรามสูรขว้างขวาน เป็นต้น
ส่วนลายที่ท้ายเรือก็จะเป็นลายท่อนหางของรูปสัตว์ด้านหัวเรือชนิดนั้นๆ
นายอับดุลเลาะ บูละ เป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลบูละ รับช่วงมาจากนายตาเยะ บูละ
ช่างต่อเรือกอและผู้มีชื่อเสียงโด่งดังของตำบลปะเสยะวอ จนมาถึงรุ่นพ่อ
คือนายมะรีเป็ง บูละ นายตาเยะ บูละ
เป็นช่างต่อเรือกอและที่มีความสามารถมากคนหนึ่ง
ต่อมาจึงคิดทำเป็นเรือกอและจำลองขึ้นเพื่อประดับในบ้าน และมอบให้เป็นของที่ระลึกให้ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือมา
ต่อมานายมะรีเป็ง บูละ บุตรชายก็ได้สืบทอดการทำเรือกอและต่อเพื่อจำหน่าย
แต่ก็ยังไม่แพร่หลายหรือเป็นที่รู้จักมากนัก ต่อมานายอับดุลเลาะ บูละ
ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ได้สืบทอดการทำเรือกอและตั้งแต่อายุ 15 ปี จนมีความชำนาญและประสบความสำเร็จ
ได้รับการยอมรับจากชุมชนและหน่วยงานต่างๆ จนเป็นที่รู้จักแพร่หลาย
และได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติในฐานะศิลปินดีเด่นในสาขาช่างฝีมือ ในปี พ.ศ. 2543 จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น