นางดำ คล้ายสีนวล ประธานกลุ่มอาชีพผลิตภัณฑ์น้ำตาลโตนด กล่าวว่า
เมื่อเว้นว่างจากการทำนาได้รวมกลุ่มกันแปรรูปน้ำตาลโตนดเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย
ส่งผลให้น้ำตาลโตนดมีมูลค่าเพิ่มขึ้น สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน
รวมทั้งคนในชุมชนและได้เห็นถึงคุณค่าของตาลโตนด ทำให้อาชีพและวิถีชีวิตการทำน้ำตาลโตนดหวนกลับมาอีกครั้ง
หลังจากที่อาชีพนี้ลดลงเรื่อยๆตามกาลเวลาและนำไปสู่การกลับมาอนุรักษ์อาชีพการทำน้ำตาลโตนดให้คงอยู่
นอกจากนี้ยังเปิดกว้างให้ผู้สนใจทุกเพศทุกวัยเข้าเยี่ยมชมและเรียนรู้วิถีชีวิตการทำน้ำตาลโตนด
อีกด้วย
สำหรับตาลโตนดเป็นพืชที่มีคุณค่าและมีประโยชน์ตลอดทั้งลำต้น
น้ำตาลสามารถนำมาแปรรูปจำหน่าย ผลนำไปขาย
ใบนำมาทำเป็นภาชนะใส่น้ำตาลกวนเพื่อตากเป็นน้ำตาลแว่นและยังนำไปใช้มุงหลังคา
ส่วนลำต้นใช้ทำเสาบ้านหรือหลักสำหรับจอดเรือ
ซึ่งมีความแข็งแรงและทนทานมากและยังให้ผลน้ำตาลต่อเนื่องตลอดปี แต่ในฤดูที่ให้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพ
อยู่ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปี
นางดำ คล้ายสีนวล ประธานกลุ่มอาชีพผลิตภัณฑ์น้ำตาลโตนด
กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สินค้าที่ได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการของลูกค้านั้นคือ
น้ำตาลแว่น ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ
โดยการทำน้ำตาลแว่นนั้นจะต้องใช้เวลาและความอดทน ขั้นแรกจะต้องนำน้ำผึ้ง 6–7 ลิตรมากรองใส่กระทะ เติมน้ำมันมะพร้าว 2–3 หยดเพื่อไม่ให้เกิดฟองเวลาเคี่ยว
ตั้งไฟเคี่ยวประมาณ 10 นาที จากนั้นกวนโดยใช้ไม้พายประมาณ 10
นาทีจนเห็นเป็นสีน้ำตาลเข้ม แล้วใช้ไม้กวนตีประมาณ 5 นาที
นำมาตักหยอดลงในแว่นที่เตรียมไว้ทิ้งไว้จนแห้งจึงเก็บใส่กล่อง ชะลอม
หรือถุงตามความต้องการของตลาด
นับว่าเป็นอีกหนึ่งช่องทางสร้างรายได้และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์สูงสุดของคนในชุมชนบ้านคลองฉนวน
อำเภอสทิงพระ ที่เน้นการพึ่งพาตนเองเป็นหลัก ซึ่งจะช่วยให้ชาวบ้านมีความเข้มแข็ง
สามารถพึ่งพาตนเองได้และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่ามากที่สุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น