วันพุธที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2563

ผ้าปาเต๊ะ​รักษ์โลก เมืองเบตง จังหวัดยะลา

        กลุ่มแม่บ้าน บ้านจาเราะกางา อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ซึ่งได้นำเศษผ้าปาเต๊ะท้องถิ่นมาตัดเย็บเป็นกระเป๋าผ้ารักษ์โลก ลด ละ เลิกการใช้ถุงพลาสติก และของที่ระลึก เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ พร้อมสร้างรายได้เสริมให้กับกลุ่ม



         หลังจากคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบให้ทุกหน่วยงานช่วยกันลด ละ เลิกการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ภายในวันที่ 1 ม.ค.63 โดยเปลี่ยนไปใช้ถุงผ้าแทน นางสาวมธุรส ดีเสมอ วิทยากรพิเศษจากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 24 ยะลา ได้นำกลุ่มแม่บ้าน บ้านจาเราะกางา ต.เบตง อ.เบตง จ.ยะลา เข้าร่วมโครงการสร้างแรงงาน สู่เมืองต้นแบบ มั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน ฝึกอบรมการทำกระเป๋าจากเศษผ้าปาเต๊ะ กระเป๋าผ้ารักษ์โลก ถุงผ้าลดโลกร้อนและของที่ระลึก ระยะเวลา 30 ชั่วโมง



         นางสาวมธุรส ดีเสมอ วิทยากรพิเศษจากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 24 ยะลา กล่าวว่า ผ้าปาเต๊ะ เป็นเครื่องนุ่งห่มอันเป็นเอกลักษณ์ของชายหญิงแดนใต้ ด้วยสีสันและลวดลายที่สดใสสวยงาม บ่งบอกถึงวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นได้อย่างดี ซึ่งการวาดลวดลายจะไม่แตกต่างกับผ้าบาติกมากนัก แต่ผ้าปาเต๊ะมีลวดลายที่ประณีตซับซ้อนกว่า และมีมากกว่าสองลายขึ้นไปบนผ้าผืนเดียว จึงทำให้ผ้าปาเต๊ะมีความโดดเด่นสะดุดตา การแต่งกายด้วยผ้าปาเต๊ะซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากแหลมมาลายู สืบเนื่องมาจากการติดต่อค้าขายในอดีต แต่ปัจจุบันได้มีการนำผ้าปาเต๊ะมาประยุกต์ใช้ให้มีความหลากหลาย ทั้งกระเป๋า เสื้อผ้า ผ้าพันคอ และอื่นๆ ยิ่งช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผ้าปาเต๊ะยิ่งดูมีคุณค่า กลายเป็นผ้าที่มีราคา และเป็นที่ต้องการของคนทั่วไป ซึ่งทางสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 24 ยะลา ได้ร่วมกับกลุ่มแม่บ้าน บ้านจาเราะกางา อำเภอเบตง จังหวัดยะลา จัดโครงการสร้างแรงงาน สู่เมืองต้นแบบ มั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน ฝึกอบรมการทำกระเป๋าผ้าปาเต๊ะ กระเป๋าผ้ารักษ์โลก ถุงผ้าลดโลกร้อน ช่วยกันลด ละ เลิกการใช้ถุงพลาสติก และของที่ระลึกอื่นๆ โดยนำเศษผ้าปาเต๊ะ มาตัดเย็บ



        ด้านนางไลณีย์ สาหะ รองประธานกลุ่มกลุ่มแม่บ้าน บ้านจาเราะกางา กล่าวว่า จากสภาพราคายางตกต่ำลง ชาวบ้านจึงจำเป็นต้องหารายได้เสริม แม่บ้านบ้านจาเราะกางา จึงได้มีการร่วมกลุ่มขึ้นมา โดยได้รับการสนับสนุนวิทยากรพิเศษจากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 24 ยะลา มาช่วยสอนการทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มาจากเศษผ้าปาเต๊ะ เป็นการใช้เวลาว่างหลังจากอาชีพหลักให้เป็นประโยชน์ ได้ฝึกอาชีพและสร้างรายได้ของเราได้ในอีกหนึ่งช่องทาง และยังสามารถสร้างความรักความสามัคคีกับคนในชุมชนอีกด้วย สำหรับผลิตภัณฑ์ที่จำหน่าย มีตั้งแต่ราคาหลักสิบถึงหลักร้อย กลุ่มลูกค้าจะเป็นส่วนราชการ และลูกค้าทั่วไป เพราะช่วงนี้มีการรณรงค์ให้สวมใส่ชุดพื้นเมือง โดยจุดจัดจำหน่ายนั้นจะจำหน่ายตามเครือข่าย OTOP และเครือข่ายต่างจังหวัด และจัดจำหน่ายทางออนไลน์ ส่วนรายได้จากการจำหน่าย ก็จะนำมาเข้ากลุ่ม แบ่งให้กับสมาชิกต่อไป ผู้สนใจสินค้าติดต่อได้ทางเพจ กางา ผลิตภัณฑ์กลุ่มแม่บ้านเจาะเรากางา


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น