วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ระบำตารีกีปัส ศิลปะการแสดงระบำพื้นเมืองของทางภาคใต้




       ตารีกีปัส (อังกฤษ: Tarikipas) เป็นศิลปะการแสดงระบำพื้นเมืองของทางภาคใต้ ที่ใช้พัดประกอบการแสดง ประกอบกับเพลงที่มีความไพเราะน่าฟัง ลีลาท่ารำจึงอ่อนช้อย และเป็นการแสดงที่แพร่หลายในหมู่ชาวไทยมุสลิม โดยเฉพาะในจังหวัดปัตตานี นอกจากนั้นยังได้นำไปเผยแพร่ยังต่างประเทศ ในงานมหกรรมพื้นบ้านโลก อาทิเช่น ประเทศตุรกี ประเทศโปแลนด์ ประเทศบัลแกเรีย ประเทศเกาหลีใต้ ประเทศฟินแลนด์ ประเทศรัสเซีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ฯลฯ ซึ่งเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ
ความหมายของชื่อ
คำว่า "ตารีกีปัส" มาจากคำสองคำที่ว่า "ตารี" ที่แปลว่า ระบำ หรือ ฟ้อนรำ และคำว่า "กีปัส" ที่แปลว่า พัด ดังนั้นคำนี้จึงแปลว่า การฟ้อนรำที่ใช้พัดประกอบการแสดง


ประวัติความเป็นมา
การแสดงชุดนี้ได้รับการฟื้นฟูโดยคณะครูโรงเรียนยะหริ่ง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ควบคุมการฝึกซ้อมโดย อาจารย์สุนทร ปิยะวสันต์ ซึ่งได้มีโอกาสเดินทางไปประเทศมาเลเซีย เมื่อปี พ.ศ. 2518 ก็ได้ชมการแสดงของรัฐต่าง ๆ หลายชุด เมื่อเดินทางกลับมาประเทศไทย ก็ได้เล่าถึงการแสดงดนตรีและนาฏศิลป์ของมาเลเซียที่ได้ไปชมให้ผู้เฒ่าผู้แก่ฟัง และได้ทราบว่าเมืองยะหริ่งเดิมก็เคยมีการแสดงที่คล้ายคลึงกันกับของมาเลเซียหลายชุด ดังนั้นจึงได้คิดฟื้นฟูการแสดงพื้นเมืองชุดต่าง ๆ ขึ้น โดยเฉพาะชุดตารีกีปัส ได้นำออกแสดงครั้งแรกเนื่องในงานเลี้ยงเกษียณอายุข้าราชการครูโรงเรียนยะหริ่ง ต่อมาได้มีการถ่ายทอดการแสดงชุดตารีกีปัสไปสู่ประชาชนครั้งแรก โดยเปิดสอนให้กับคณะลูกเสือของจังหวัดปัตตานี เพื่อนำไปแสดงในงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ณ จังหวัดชลบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2522 และได้ทำชื่อเสียงให้กับจังหวัดปัตตานี เมื่อได้รับการคัดเลือกเป็นระบำชุดเปิดสนามงานกีฬาเขตแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 14 ของจังหวัดปัตตานี เมื่อปี พ.ศ. 2524 นับว่าการแสดงชุดตารีกีปัสได้เผยแพร่ไปทั่วประเทศไทยและยังเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปอย่างกว้างขวาง
ลักษณะ
การแสดงตารีกีปัส มีรูปแบบการแสดงเป็นหมู่ระบำ ซึ่งรูปแบบการแสดงมีอยู่ 2 ลักษณะคือ
การแสดงเป็นคู่ ระหว่างผู้ชายและผู้หญิง
การแสดงเป็นหมู่ระบำโดยใช้ผู้หญิงแสดงล้วน
เครื่องแต่งกาย
การแต่งกายฝ่ายหญิง
การแต่งกายฝ่ายหญิงแต่งกายตามแบบที่ได้รับการปรับปรุงประดิษฐ์ขึ้นเพื่อใช้เป็นการแต่งกายของตารีกีปัส เช่น
เสื้อบานง
โสร่งบาติก หรือผ้าซอแกะ
ผ้าสไบ
เข็มขัด
สร้อยคอ
ต่างหู
ดอกซัมเปง
การแต่งกายฝ่ายชาย
การแต่งกายฝ่ายชายแต่งกายตามการแต่งกายของตารีกีปัส เช่น
เสื้อตือโล๊ะบลางอ
กางเกงขายาว
ผ้ายกเงิน ผ้ายกทอง หรือ ผ้าซอแกะ
เข็มขัดเป็นแนะ
หมวกสีดำ
เครื่องดนตรี
เครื่องดนตรีประกอบการแสดงตารีกีปัส ได้แก่ ไวโอลิน แมนโดลิน ขลุ่ย รำมะนา ฆ้อง มาราคัส บทเพลงที่ใช้ประกอบการแสดง เป็นเพลงที่ไม่มีเนื้อร้องแต่บรรเลงดนตรี มีท่วงทำนองไพเราะอ่อนหวาน สนุกสนานเร้าใจ ซึ่งเพลงที่ใช้ประกอบการแสดง มี 2 เพลง คือ เพลง "ตาเรียนเนรายัง" ซึ่งเป็นเพลงประกอบการแสดงระบำประมงของชาวมาเลเซีย และเพลง "อินัง ตังลุง" เป็นทำนองเพลงที่ได้รับอิทธิพลมาจากมาเลเซีย ผสมผสานระหว่างมลายูกับจีนไทย




เกษตรยะลา เข้าชิงรางวัลดีเด่นสาขาอาชีพทำสวนระดับเขต ปี 61



       เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 61 นางลำยอง พูนศิลป์ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต พร้อมด้วยนางสาวณพัทร์ อาจหาญณรงค์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ นำคณะจากสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา เก็บข้อมูลการคัดเลือกเกษตรกร ดีเด่นระดับเขต ประจำปี 2561 การประกวดเกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพทำสวน ของนายวิสันติ์ แซ่ท่อง ในพื้นที่ หมู่ที่ 4 ตำบลแม่หวาด อำเภอธารโต จังหวัดยะลา โดยมีนางสาวภัทรสิริตา พรหมประสิทธิ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ พร้อมด้วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 4 และเกษตรกรแปลงข้างเคียง ร่วมต้อนรับและให้ข้อมูลประกอบการพิจารณาเพิ่มเติม


นายวิสันติ์ แซ่ท่อง ประกอบอาชีพทำสวน ปลูกพืชหลากหลายชนิด โดยมีพืชหลัก คือ ยางพารา และทุเรียน จำนวน 13 ไร่ นอกจากนี้ ได้การปลูกไม้ผลชนิดอื่น ๆ เช่น มังคุด เงาะ รวมถึงการทำกิจกรรมเสริมที่ช่วยเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้เกษตรกรเป็นอย่างดี คือ การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เช่น การทำทุเรียนทอด และทุเรียนกวน


       ทั้งนี้ นายวิสันติ์ แซ่ท่อง ได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินกิจกรรมทางด้านการเกษตรที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัย ทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค ใช้ต้นพันธุ์ที่แข็งแรงและปลอดโรค มีการปรับปรุงบำรุงดินโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และการใช้น้ำหมักชีวภาพ กำจัดวัชพืชโดยการตัด เพราะเมื่อย่อยสลายก็กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์เพิ่มความสมบูรณ์ของดินได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ได้ใช้การกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน โดยวิธีการเขตกรรม วิธีกล มีการสำรวจโรคและศัตรูพืชอย่างสม่ำเสมอ ใช้ปุ๋ยตามหลักวิชาการแนะนำ เน้นการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดโดยการเข้าสวนเป็นประจำทุกวัน ในช่วงเช้าและช่วงบ่าย จนสามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ไม่เกิดความเสียหายในเชิงเศรษฐกิจ
จากการตั้งใจดูแลรักษาและบริหารจัดการสวนทุเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ในปีนี้ นายวิสันติ์ แซ่ท่อง สามารถจำหน่ายผลผลิตทุเรียนจากสวนของตนเองได้ไม่ต่ำกว่า 30 ตัน





วันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ปัตตานี จัดกิจกรรมฟื้นฟูป่าต้นน้ำและการจัดการน้ำ บูโด-กะพ้อ เพื่อชุมชนยั่งยืน




        นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานเปิดกิจกรรมฟื้นฟูป่าต้นน้ำและการจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม บูโด-กะพ้อ เพื่อชุมชนยั่งยืน ภายใต้กิจกรรมอนุรักษ์เฝ้าระวัง ฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) จังหวัดปัตตานี ที่บ้านเจาะกะพ้อใน ตำบลตะรุบี อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี โดยมีนายเศรษฐ์ อัลยุฟรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี นายดนยา สะแลแม ประธานเครือข่าย ทสม.จังหวัดปัตตานี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ บูโด-สุไหงปาดี หัวหน้าส่วนราชการ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วม นอกจากานี้ รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังได้ร่วมเสวนาในหัวข้อ “การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ..ชุมชนได้ประโยชน์อย่างไร” อีกด้วย


        นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญมางานดี ๆ ที่เป็นความตั้งใจและได้มาสัมผัสธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในที่แห่งนี้ สิ่งที่น่าประทับใจยิ่งกว่า คือ การได้มาพบปะพี่น้องประชาชน นักเรียน ที่จะเป็นอนาคต เป็นเครือข่ายอาสาสมัครในการเข้ามาดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อยากให้ลูกหลานหรือน้อง ๆ ได้เข้ามาสัมผัสและมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ธรรมชาติ ซึ่งต้องเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน น้ำถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญ ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดความอุดสมบูรณ์ด้วยน้ำ สิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกจำเป็นต้องใช้น้ำ หมู่บ้านแห่งนี้เป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่โชคดีที่ตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำ หัวใจสำคัญคือเราจะต้องอนุรักษ์ ฟื้นฟู น้ำที่มีอยู่คู่พื้นที่ให้ดีที่สุด ใช้น้ำที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ที่สุด ขอชื่นชมและภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ทุกคนโดยเฉพาะลูก ๆ เยาวชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมครั้งนี้
นายดนยา สะแลแม ประธานเครือข่าย ทสม.จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า นอกจากการทำฝายเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำแล้ว กิจกรรมในครั้งนี้เป็นการบอกต่อในเรื่องการเรียนรู้ของชุมชนโดยเฉพาะเรื่องการจัดการน้ำ ซึ่งจะเห็นได้ว่าในครั้งนี้มีเด็ก เยาวชน นักเรียน ประชาชน และหน่วยงานในพื้นที่ทุกภาคส่วนมาร่วมกันสร้างฝายมีชีวิต เนื่องจากน้ำมีความเกี่ยวข้องการกับการดำรงชีวิตของทุกคน ไม่ใช่แค่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง กิจกรรมในครั้งนี้ถือเป็นการจุดประกายกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนทุกภาคส่วน ในการร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในพื้นที่ ที่สำคัญ คือ เด็ก ๆ ลูกหลานในพื้นที่ต้องมาเรียนรู้และร่วมกันอนุรักษ์ รวมทั้งต้องปลูกฝังให้เห็นคุณค่าของน้ำอีกด้วย
ด้าน นางสาวยุวธิตา สาเมาะ นักเรียนโรงเรียนวังกะพ้อพิทยาคม อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า วันนี้ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกันทำฝายกับทุกคนในพื้นที่ รวมทั้งได้ร่วมปล่อยปลาและปลูกต้นไม้ ดีใจที่ได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นที่ ที่เป็นบ้านเกิด และมีความภาคภูมิใจที่พื้นที่แห่งนี้ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ ในอนาคตหากคนในชุมชนร่วมมือกัน เชื่อว่าพื้นที่แห่งนี้จะยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ต่อไป และขอฝากให้คนที่จะมาท่องเที่ยวในพื้นที่ช่วยกันดูแลและรักษาความสะอาด เพื่อป้องกันการทำลายสิ่งแวดล้อมระบบนิเวศ และเพื่อให้คนในพื้นที่สามารถใช้น้ำจากฝายดังกล่าวได้อย่างยั่งยืนต่อไป
สำหรับกิจกรรมฟื้นฟูป่าต้นน้ำและการจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม บูโด-กะพ้อ เพื่อชุมชนยั่งยืนในครั้งนี้ เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการสำรวจจัดเก็บข้อมูลบ้านเจาะกะพ้อใน ตำบลกะรุบี อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี เพื่อเฝ้าระวังภัยพิบัติของชุมชน ร่วมกับเครือข่าย ทสม.จังหวัดปัตตานี พบว่าในช่วงฤดูฝนมีปริมาณน้ำหลากจากป่าต้นน้ำ บูโด-กะพ้อ ท่วมพื้นที่บ้านเจาะกะพ้อใน ส่งผลให้เกิดการชะล้างและพังทลายหน้าดินอย่างฉับพลัน ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ ส่วนในช่วงฤดูแล้งประสบปัญหาปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร ส่งผลให้สวนไม้ผลของชาวบ้านได้รับความเสียหายเป็นพื้นที่กว้าง
และจากกการประชุมหารือเพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำของแกนนำชุมชน ร่วมกับภาคีหน่วยงานต่าง ๆ ที่ประชุมได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดกิจกรรม “ฟื้นฟูป่าต้นน้ำและการจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม บูโด-กะพ้อ เพื่อชุมชนยั่งยืน” ขึ้นระหว่างวันที่ 27-28 สิงหาคม 2561 เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่สำคัญของชุมชน รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน มีกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 230 คน โดยกิจกรรมประกอบด้วย การจัดแสดงนิทรรศการของส่วนราชการและเครือข่ายภาคประชาชน และการจัดทำฝายชะลอน้ำ หรือฝายมีชีวิต จำนวน 1 ฝาย





วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2561

สืบสานประเพณีวัฒนธรรมพื้นบ้าน พิธี “ไหว้ครู ซีลัต วายัง" ชุมชน จ.ยะลา



        เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 61ที่แหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญา บ้านสาคอ หมู่ที่ 4 ตำบลท่าสาป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา นายหนังเต็งสาคอ หรือ มะยาเต็ง สาเมาะ ได้จัดงานวันรวมญาติชุมชนสัมพันธ์ ไหว้ครู ซีลัต วายัง ประจำปี 2561 ขึ้น โดยมีบรรดาเครือญาติ ที่มีเชื้อสายสีลัต ศิลปินพื้นบ้าน ทั้งมะโย่ง วายังกูเละ เข้าร่วมกันจำนวนมาก


ทั้งนี้ ภายในงานมีการจัดพิธีกรรม ทำคอนดูรีตามแบบฉบับของบรรพชน โดยจัดตั้งสำรับ อาหารคาว อาหารหวาน ซึ่งมีทั้งข้าวเหนียวเหลือง(หมายถึงกษัตริย์) ข้าวเหนียวขาว(หมายถึงศาสนา) ไก่ย่าง ขนมหวาน พานบายศรี หรือ บุหงาซีเละ ข้าวตอก น้ำตาล และอื่นๆ โดยเครือญาติและลูกหลาน ได้ร่วมกันสวดดูอาร์ ส่งผลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หลังจากนั้นได้นำสำรับไปตั้ง ที่หน้าโรงครู พร้อมทั้งจัดแสดง สีลัต ของบรรดาผู้เข้าร่วมพิธี ซึ่งมีทั้งรุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ ทั้งการรำ และการต่อสู้ ซึ่งได้รับความสนใจจากชาวบ้านสาคอมาร่วมชมการแสดงสีลัต กันจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีพิธีเรียกครูหมอ สีลัต ทำน้ำมนต์ และในช่วงค่ำ ก็จะมีการแสดงหนังตะลุง และวายังกูเละ โรงครู เพื่อเป็นการอนุรักษ์ สืบสานศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน สร้างความสัมพันธ์ในเครือญาติ และชุมชน อีกทั้งยังให้เด็ก เยาวชน รุ่นใหม่ ได้รู้ในสิ่งที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์มาให้ และสืบทอดให้คงอยู่สืบไป


         นายมะยาเต็ง สาเมาะ บอกว่า สำหรับพิธีทำคอนดูรี เป็นการจัดสำรับ ท่องบุญสวดดูอาร์ ส่งผลบุญให้กับผู้ล่วงลับ ครู ที่นับถือ รวมทั้งครูมุสลิมทั่วโลก ที่ยังอยู่ และที่เสียชีวิตไปแล้ว พูดง่ายๆ คือ การแผ่ส่วนบุญ ส่วนกุศลให้ตามรูปแบบของบรรพบุรุษ สำหรับพิธีนี้ก็จะจัดมาตั้งแต่สมัยก่อน และสืบทอดกันมา จนถึงปัจจุบัน ทุกอย่างจะมีพิธีร่วม ไม่ใช่เฉพาะกับเครื่องดนตรี หรือศิลปะพื้นบ้านเท่านั้น แต่ชุมชนคนมุสลิมจะจัดสืบต่อกันมา โดยการจัดครั้งนี้ก็จะมีทั้งเครือญาติที่มีเชื้อสายสีลัต ศิลปินพื้นบ้านทุกแขนง ซึ่งมาจากทั้งใน จ.ยะลา และจังหวัดต่างๆ มาร่วม และมีการจัดแสดงมะโย่ง วายังกูเละ โดยเฉพาะมะโย่งก็ได้เชิญมะโย่งที่อาวุโสที่สุดใน 3 จังหวัดมาแสดง ร่วมกับน้องๆ จากแหล่งเรียนรู้ บ้านสาคอ คณะสีลัต หนังโทนแสงธรรม บ้านช้างไห้ ตารีอีนา คณะพิพิธภัณฑ์เฉลิมราช บ้านกือเม็ง คณะสีลัต ซายาตี อัซมัน อ.ยี่งอ
สำหรับพิธีนี้ จะจัดขึ้นปีละ 1 ครั้ง ช่วงรายอฮัจยี ซึ่งเครือญาติที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ก็จะเดินทางกลับบ้านมาในช่วงนี้ และจะมารวมกันในงานวันรวมญาติ ไหว้ครู ซีลัต วายัง ดังกล่าว











วันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2561

นราธิวาส จัดกิจกรรมเสริมสร้างความเข้มแข็งสังคมพหุวัฒนธรรมชายแดนใต้



        วันที่ 24 สิงหาคม 2561 ที่โรงเรียนนราธิวาส ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส นางอุษณีย์ ธุวโชติ วัฒนธรรมจังหวัดนราธิวาส เป็นประธานเปิดกิจกรรมเสริมสร้างความเข้มแข็งสังคมพหุวัฒนธรรมชายแดนใต้ จังหวัดนราธิวาส โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้กำหนดจัดกิจกรรมเสริมสร้างความเข้มแข็งสังคมพหุวัฒนธรรมชายแดนใต้
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทุกศาสนามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม ร่วมกันสร้างความสามัคคี ปรองดอง สมานฉันท์ ลดความหวาดระแวง และสามารถใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างสงบสุข โดยมอบหมายให้สภาวัฒนธรรมจังหวัด และสภาวัฒนธรรมอำเภอในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดำเนินการจัดกิจกรรมเสริมสร้างความเข้มแข็งสังคมพหุวัฒนธรรมชายแดนใต้ ในระดับอำเภอ และระดับจังหวัด
สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ได้จัดให้มีการเสวนาเรื่อง "อยู่ร่วมกันอย่างไรในสังคมพหุวัฒนธรรม" การแสดงศิลปวัฒนธรรม การแสดงดนตรีสตริง การร้องเพลงลูกทุ่งไทย เพลงมลายูท้องถิ่นใต้ การสาธิตภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โดยมีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย นักเรียน นักศึกษา เครือข่ายวัฒนธรรม ผู้แทนส่วนราชการทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งประชาชนในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส


       ทั้งนี้ สังคมพหุวัฒนธรรม ถือเป็นสมบัติทางการปฏิบัติอันล้ำค่าที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ส่งเสริมให้อยู่ควบคู่กับวิถีการดำเนินชีวิตของคนในจังหวัดชายแดนใต้สุดไป









วันอังคารที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2561

จ.นราธิวาส จัดงานมหกรรมวัฒนธรรมชุมชนขุนละหาร ครั้งที่ 6



      วันที่ 20 ส.ค. 61 เวลา 12.00 น. ณ พิพิธภัณฑ์ขุนละหาร อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส นายสุรพร พร้อมมูล ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เป็นประธานแถลงข่าวงานมหกรรมวัฒนธรรมชุมชนขุนละหาร ครั้งที่ 6 ตอน Pelepas (ปลดปล่อย) ภายใต้กิจกรรมการเปิดตัว "ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี" ณ พิพิธภัณฑ์ขุนละหาร อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส โดยมีนายไกรวุฒิ ช่วยสถิตย์ พัฒนาชุมชนจังหวัดนราธิวาส นายยุทธนา พรหมณี ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนนราธิวาส นายสุรพล ลำพรหมแก้ว ปลัดอาวุโส รักษาราชการแทนนายอำเภอยี่งอ นายรัศมินทร์ นิติธรรม ประธานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขุนละหาร อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส ร่วมแถลงข่าวการจัดงานฯ

นายสุรพร พร้อมมูล ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า การจัดงานเปิดตัว "ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี" ณ พิพิธภัณฑ์ขุนละหาร อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส ครั้งนี้ ถือเป็นการเผยแพร่อัตลักษณ์พื้นถิ่นที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ เพราะถือว่าเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต ที่สะท้อนภาพความเป็นอยู่แต่เก่าก่อนของคนในพื้นที่ มีเรื่องราว มีประวัติความเป็นมาที่ควรศึกษา ถือเป็นการศึกษาวิถีชีวิตของคนโบราณของชุมชนขุนละหาร ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

นายไกรวุฒิ ช่วยสถิตย์ พัฒนาชุมชนจังหวัดนราธิวาส กล่าวถึงการจัดกิจกรรม "ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี" ณ พิพิธภัณฑ์ขุนละหาร ดังกล่าวว่า จะต้องมีการนำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจ และประวัติความเป็นมาของวัฒนธรรมชุมชนขุนละหารที่มีมาแต่โบราณ ให้ประชาชน หรือนักท่องเที่ยวที่สนใจได้รับข้อมูล และความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับชุมชนขุนละหาร เพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ถึงวัฒนธรรมพื้นถิ่นของพื้นที่ ที่จะไม่สูญหายไปตามกาลเวลา

นายยุทธนา พรหมณี ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนนราธิวาส กล่าวว่า วิทยาลัยชุมชนจังหวัดนราธิวาส มีนโยบายที่จะส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม จึงได้นำนักศึกษามาศึกษาเรียนรู้ ประวัติความเป็นมาต่างๆของพิพิธภัณฑ์ขุนละหาร โดยเฉพาะการส่งเสริมการฟื้นฟูการทำผ้า Pelepas ปลือปะห์ (ปลดปล่อย) ซึ่งถือเป็นวิถีชีวิตของคนในชุมชนขุนละหาร ที่สามารถนำมาเผยแพร่และสานต่อ ทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมพื้นถิ่นไปสู่สาธารณชน อีกด้วย
ด้าน นายรัศมินทร์ นิติธรรม ประธานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขุนละหาร กล่าวเชิญชวนประชาชนมาเที่ยวชม งานมหกรรมวัฒนธรรมชุมชนขุนละหาร ครั้งที่ 6 ตอน Pelepas ปลือปะห์ (ปลดปล่อย) ขบวนช้างย้อนตำนานขุนละหาร บ้านศาลาลูกไก่-กาเด็ง ที่จัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 8 กันยายน 2561 นี้ ณ ชุมชนบ้านกาเด็ง อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งจะมีขบวนแห่ทางวัฒนธรรมโบราณ มีการนำเสนอการทำผ้า Pelepas (ปลดปล่อย) หรือการพันผ้าโพกศรีษะโบราณ การแสดงตารีฮีนาและการแสดงศิลปะป้องกันสีละจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งถือเป็นการแสดงวัฒนธรรมระหว่าง 2 ประเทศ ที่นับว่าปัจจุบันนี้หาชมได้ยาก
    พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่า ไฮไลท์สำคัญของงานนี้ มีการเน้นในประเพณีวัฒนธรรมพื้นถิ่นโบราณ การเผยแพร่ความเป็นมาของการโพกศรีษะแบบโบราณในหลากหลายรูปแบบ พร้อมมีการสาธิตการโพกศรีษะ นอกจากนั้น ยังมีการเสวนาในหัวข้อ "สมูตัรมงกุฎแห่งชาวมลายู" จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากประเทศไทย และประเทศมาเลเซีย ด้วย
  







ชาวบ้านแห่จับจ่ายซื้ออาหาร เตรียมฉลอง รายอ“อีฎิ้ลอัดฮา”


         


        วันที่ 21 ส.ค. 61 บรรยากาศในการจับจ่ายซื้ออาหารของพี่น้องชาวไทยมุสลิม เพื่อเตรียมไว้สำหรับประกอบอาหาร จัดเลี้ยงครอบครัว ญาติพี่น้อง และเพื่อนฝูง ต้อนรับวันอีฎิ้ลอัดฮา ฮิจเราะห์ศักราช 1439 ซึ่งจะมาถึงในวันพรุ่งนี้ (22 ส.ค. 61) เป็นไปอย่างคึกคัก


        โดยที่ตลาดรถไฟ เขตเทศบาลนครยะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา มีบรรดาพ่อค้า แม่ค้า นำละซอ (ขนมจีน) ละแซ ข้าวเหนียวสามเหลี่ยม แป้งข้าวหมาก ซึ่งเป็นอาหารที่ชาวมุสลิมนิยมรับประทานในช่วงเทศกาลฮารีรายอ มาวางขายกันจำนวนมากตั้งแต่ช่วงเช้า ซึ่งมีประชาชนชาวไทยมุสลิมทยอยเดินทางออกมาจับจ่ายเลือกซื้อกันอย่างคึกคัก รวมทั้งเลือกซื้ออาหารสด เนื้อ ไก่ กุ้ง ปลา ผักสด ผลไม้ และขนมหวาน ซึ่งราคาอาหารส่วนใหญ่ไม่มีการปรับขึ้นแต่อย่างใด ไก่สด อยู่ที่ ราคากิโลกรัมละ 68 บาท เนื้ออยู่ที่ กิโลกรัมละ 260 บาท ละซอ และละแซ กิโลกรัมละ 25-30 บาท ข้าวเหนียวสามเหลี่ยม กิโลกรัมละ 400 บาท โดยตลอดทั้งวันในวันนี้ก็จะมีพี่น้องชาวไทยมุสลิมเดินทางออกมาจับจ่ายซื้ออาหารกันจำนวนมาก


         ทั้งนี้ วันฮารีรายอ อีฎิ้ลอัดฮา หรือวันฮารีรายอฮัจญี เป็นวันที่ชาวมุสลิมทั่วโลกเฉลิมฉลองวันแรกของการประกอบพิธีฮัจญ์ ที่นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยวันนี้ มุสลิมทั่วโลกจะต้องปฏิบัติศาสนกิจที่สำคัญ คือ การทำพิธีละหมาดวันฮารีรายอ ในช่วงเช้า ก่อนจะทำพิธี “กรุบ่าน” หรือฆ่าวัว เพื่อนำเนื้อวัวไปแจกจ่ายให้กับคนยากจน รวมทั้งจะเดินทางไปยังกุโบร์ (สุสาน) และเดินทางไปเยี่ยมญาติมิตรสหาย เนื่องในวันฮารีรายอ อีกด้วย





วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2561

วันตรุษอีดี้ลอัฎฮา จึงหมายถึง วันเฉลิมฉลองการ เชือดสัตว์เพื่อพลีทาน



        วันอีดิ้ลอัฎฮา ตรงกับวันที่ ๑๐ เดือนซุลฮิญญะห์  วันตรุษอีดิ๊ลอัฎฮาเป็นคำภาษาอาหรับ มาจากคำว่า อีด แปลว่า รื่นเริง เฉลิมฉลอง และ อัฎฮา แปลว่า เชือดสัตว์พลีทาน ดังนั้น วันตรุษอีดี้ิ๊ลอัฎฮา จึงหมายถึง วันเฉลิมฉลองการ เชือดสัตว์เพื่อพลีทาน จากท่านอิบนี่อับบาสเล่าว่า ท่านรอซู้ลลุลเลาะฮ์หรือศาสดาทรงกล่าวว่า ในวันอีดิ้ลอัดฎาไม่มีการภักดีใดๆของมนุษย์ จะเป็นที่โปรดปรานรักใคร่ของอัลลอฮ์ ดียิ่งไปกว่าการทำ กุรบาน

         ตามประวัติศาสตร์อิสลามที่ปรากฎอยู่ในคัมภีร์กุรอาน อัลลอฮฺทรงต้องการ ที่จะทดสอบความศรัทธาของนบีอิบรอฮีม (หรืออับราฮัม) ดังนั้น คืนหนึ่งอัลลอฮฺจึงได้ทรงทำให้นบีอิบรอฮีม ฝันว่าพระองค์ทรงมีบัญชาให้ท่านเชือดอิสมาอีล ลูกชายของท่านเป็นการพลีถวายให้แก่พระองค์ นบีอิบรอฮีมจึงได้นำอิสมาอีลไปยังสถานที่แห่งหนึ่งเพื่อทำตามคำสั่งของอัลลอฮฺ เมื่อมาถึงสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งนบีอิบรอฮีม จะใช้เป็นที่เชือดบุตรและเตรียมจะลงมือเชือด อัลลอฮฺก็ทรงเห็นว่านบีอิบรอฮีมเป็นผู้ศรัทธาที่พร้อมจะ ปฏิบัติตามคำสั่งของพระองค์จริง พระองค์จึงได้มีบัญชาให้นบีอิบรอฮีมเชือดแกะหรือแพะแทน ลูกชายของท่าน การเชือดสัตว์พลีจึงเป็นที่ปฏิบัติอย่างหนึ่งในการประกอบพิธีฮัจญ์ ทั่งนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นให้มุสลิมได้รำลึกถึงวีรประวัติแห่งความศรัทธาต่อพระเจ้าและการเสียสละ อันสูงส่งของนบีอิบรอฮีมและนบีอิสมาอีล
          
          กุรฺบาน (อุฎฮียะฮฺ) หมายถึงการเชือดอูฐ, วัว (ควาย) แพะ หรือ แกะในวันอีดอัฎฮา และวันตัชรีกฺ (หลังวันอีดอัฎฮา 3 วัน) เพื่อทำการใกล้ชิดพระองค์อัลลอฮฺ
ความประเสริฐของการทำกุรฺบาน จากท่านหญิงอาอิชะฮฺ แท้จริงท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า “ไม่มีการงานใดสำหรับลูกหลานอาดัมในวันแห่งการเชือด (คือวันอีดอัฎฮา) ซึ่งเป็นที่รักยิ่ง ณ พระองค์ ดียิ่งไปกว่าการหลั่งเลือด (หมายถึงการเชือด กรฺบาน) แท้จริงมัน (สัตว์ที่ถูกเชือด) จำนำเขา, ขน และกลีบเท้าจองมันมาในวันกิยามะฮฺ และเลือด (ของสัตว์ที่ถูกเชือด) จะถึงยังพระองค์อัลลอฮฺก่อนที่จะหลั่งลงพื้นดิน (เป็นการเปรียบเทียบถึงการรับผลบุญที่รวดเร็ว) ดังนั้นพวกท่านจงดีใจต่อสิ่งดังกล่าว (หมายถึงดีใจต่อการได้รับภาคผลในการทำกุรฺบาน)”

         อัลฮัดย์ คือ ปศุสัตว์ที่ถูกมอบพลีให้แก่เขตหะร็อมมักกะฮฺ โดยหวังในผลบุญแห่งอัลลอฮฺตะอาลา รวมไปถึงปศุสัตว์ที่เป็นค่าชดเชย อันเนื่องจากการประกอบพิธีหัจญ์แบบตะมัตตุอฺ หรือกิรอน หรือมีอุปสรรคกีดกัน   อัลอุฎหิยะฮฺ คือ อูฐ วัว หรือแพะ ที่เชือดในช่วงอีดอัฎหา เพื่อหวังในผลบุญแห่งอัลลอฮฺตะอาลา
กำหนดเวลาการทำ กุรบาน เริ่มเชือดกุรบานได้ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นของเช้าวันอีดิลอัฎฮา(หลังละหมาด) จนถึงเวลาละหมาดอัสรีของวันที่ 4 ของวันอีดรวม 4 วัน (วันอีด 1 วันตัสริก 3 วัน) แต่ระยะเวลาที่ดีเยี่ยมควรเชือดกุรบาน คือ หลังจากเสร็จการละหมาดอีดิลอัฎฮาแล้ว การเชือดควรให้เจ้าของเป็นผู้เชือดเอง หากจะมอบให้ผู้อื่นเชือดก็ควรดูการเชือดด้วย

           สัตว์ที่ใช้ทำกุรบ่าน คือ อูฐ วัว ควาย แพะ แกะ กีบัช อูฐ ต้องมีอายุ 5 ปีบริบูรณ์ ใช้ทำกุรบ่านได้ 7 ส่วน ดังนั้น จึงรวมกันทำ 7 คน/อูฐตัวเดียวก็ได้ หรือจะทำคนเดียวก็ยิ่งดี วัว ควาย ต้องมีอายุ 2 ปีบริบูรณ์ ทำกุรบ่านได้ 7 ส่วน แพะ ต้องมีอายุ 2 ปีบริบูรณ์ ทำกุรบ่านได้ 1 ส่วน แกะและกิบัช ต้องมีอายุ 1 ปีบริบูรณ์ หรือเปลี่ยนฟันแล้ว ทำกุรบ่านได้ 1 ส่วน สัตว์จะทำกุรบ่าน ต้องอ้วนสมบูรณ์ปราศจากสิ่งตำหนิหรือโรค ควรมีลักษณะสวยงามสง่า สัตว์ที่ห้ามทำกุรบ่านไม่ได้ ได้แก่ สัตว์ที่เป็นโรค หรือพิการหรือไม่สมประกอบ เช่น ตาบอด หูแหว่ง เขาหัก ไม่มีฟัน แคระแก่น มีท้อง
สิ่งต้องห้ามสำหรับผู้ที่ประสงค์จะเชือดอุฎหิยะฮฺ ห้ามให้ผู้ที่ต้องการเชือดอุฎหิยะฮฺตัดหรือโกนขนตามร่างกาย หรือตัดเล็บ เมื่อเข้าสู่สิบวันแรกของเดือนซุลหิจญะฮฺ หากเขาได้ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดจากข้อห้ามเหล่านั้นไป ก็ให้อิสติฆฟารฺขออภัยโทษ และไม่มีฟิดยะฮฺชดเชยแต่อย่างใด   ผู้ใดเชือดอุฎหิยะฮฺสำหรับตัวเขาเองและสมาชิกในครอบครัวของเขา ส่งเสริมให้เขากล่าวขณะทำการเชือดว่า บิสมิลลาฮฺ, วัลลอฮุอักบัรฺ, อัลลอฮุมมะ ตะก็อบบัล มินนี, อัลลอฮุมมะ ฮาซา อันนี วะอัน อะฮฺลิ บัยตี “ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ และอัลลอฮฺคือผู้ยิ่งใหญ่เกรียงไกรที่สุด โอ้อัลลอฮฺขอพระองค์ทรงตอบรับจากฉันด้วยเถิด โอ้อัลลอฮฺ นี่คือการเชือดสำหรับฉัน และสมาชิกในครอบครัวของฉัน

          วิธีการ เชือดแบบนะหัรฺและแบบซับหฺ การเชือดอูฐ มีสุนนะฮฺให้เชือดแบบนะหัรฺขณะที่อูฐกำลังยืนอยู่ ในสภาพที่มือข้างซ้ายของอูฐถูกมัดไว้ ส่วนปศุสัตว์ประเภทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นวัว หรือแพะให้เชือดแบบซับหฺ และอนุญาตให้ทำกลับกัน ซึ่งการเชือดอูฐแบบนะหัรฺนั้น ให้ทำตรงช่วงล่างสุดของคอก่อนถึงหน้าอก ส่วนการเชือดแบบซับหสำหรับวัวหรือแพะนั้น ให้เชือดส่วนบนสุดของคอที่ติดกับส่วนหัว โดยให้มันนอนลงทางด้านซ้าย แล้วให้วางขาขวาบนคอของมัน แล้วจับหัวของมัน และทำการเชือด โดยกล่าวขณะทำการเชือดว่า บิสมิลลาฮฺ วัลลอฮุอักบัร (ด้วยพระนามอัลลอฮฺ และพระองค์คือผู้ทรงยิ่งใหญ่เกรียงไกรยิ่ง)

          การแจกจ่ายเนื้อกุรฺบาน มีสุนะฮฺให้ผู้ทำกุรฺบานรับประทานเนื้อของสัตว์กุรฺบาน และนำไปแจกจ่ายให้แก่ญาติสนิท แก่ผู้ยากจนขัดสน (และมุสลิมทั่วไป) ก่อนหน้านี้ ท่านรสูลุลลอฮฺได้ห้ามการเก็บเนื้อกุรฺบานเอาไว้ ต้องแจกจ่ายเนื้อให้หมด แล้วช่วงหลังท่านรสูก็ได้ยกเลิกสิ่งดังกล่าว จากท่านอิบนุ อุมัรฺ แท้จริงท่านรสูลุลลอฮฺ กล่าวว่า “บุคคลหนึ่งในหมู่พวกท่านอย่าได้บริโภคเนื้อกุรฺบานเกินกว่า 3 วัน ”ถูกยกเลิกด้วยกับหะดีษต่อไปนี้ จากท่านสุลัยมาน บุตรของบุร็อยดะฮฺ จากพ่อของเขากล่าวว่า ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า “ฉันเคยสั่งห้ามพวกท่านบริโภคเนื้อกุรฺบานเกินกว่าสามวัน เพื่อมั่งคั่งจะได้เอื้อเฟื้อต่อผู้ยากจนขัดสน (แต่ ณ วันนี้) พวกท่านจงบริโภคต่อสิ่งที่ปรากฏ และจงแจกจ่าย และจงเก็บเอาไว้” นักวิชาการกล่าวว่า “ถือว่าประเสริญที่สุด (สำหรับผู้ทำกุรฺบาน) ด้วยกับการกินเนื้อ (กุรฺบาน) เศษหนึ่งส่วนสาม, แจกจ่ายเศษหนึ่งส่วนสาม และเก็บเอาไว้เศษหนึ่งส่วนสาม” และ อนุญาตให้ย้ายเนื้อกุรฺบานไปยังท้องถิ่นอื่น หรือประเทศอื่น ในหนังสือ “กิฟายะตุล อัคบารฺ” กล่าวว่า “ไม่อนุญาตให้ขายหนังสัตว์กุรฺบานและไม่อนุญาตให้ค่าจ้างแก่ผู้เชือดมัน แต่ถ้าหากเป็นกุรฺบานสุนนะฮฺ ให้ผู้ทำกุรฺบานแจกจ่าย (หนัง,กระดูก และอื่นๆ ของมัน) หรือไม่ก็นำหนังของมันมาประดิษฐ์ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เช่นรองเท้าหุ้มข้อ, รองเท้าธรรมดา หรือ ที่ตักน้ำ ถุงใส่น้ำ หรืออื่นๆ อีก” ส่วนนักวิชาการส่วนใหญ่มีทัศนะว่า “ไม่อนุญาตให้ขายหนังของสัตว์กุรฺบาน” ส่วนทัศนะของอบู หะนีฟะฮฺ อนุญาตให้ขายส่วนของหนัง แล้วนำผลประโยชน์ดังกล่าวไปเศาะดะเกาะฮฺ    ไม่อนุญาตมอบเนื้อกุรฺบานให้แก่คนเชือดสัตว์กุรฺบาน (หรือบุคคลแล่เนื้อ,บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อกุรฺบาน) เป็นค่าตอบแทนหรือเป็นค่าจ้าง แต่ถ้าหากว่าต้องจ้างก็ให้ผู้ทำกุรฺบานจ่ายค่าตอบแทนเอง ซึ่งเป็นส่วนที่เขาจำเป็นต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว อนึ่ง หากจะถามถึงการขายหนังหรือกระดูกของสัตว์กุรฺบาน หะดีษข้างต้นได้ตอบชัดเจนแล้วว่า ท่านอลีย์แจกจ่ายสัตว์กุรฺบานทั้งกระดูก และส่วนอื่นๆ แม้กระทั่งผ้าคลุม สัตว์กุรฺบานยังแจกจ่ายจนหมด ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า เมื่อต้องการให้สัตว์ตัวใดเป็นกุรฺบานถือว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ต้องแจกจ่ายจนหมด ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า เมื่อต้องการให้สัตว์ตัวใดเป็นกุรฺบานถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องแจกจ่ายให้หมด และไม่อนุญาตให้ตีค่าเป็นราคา



วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2561

“มโนราห์โรงครู” ชาวซาเมาะ วิถีวัฒนธรรมสองศาสนา อัตลักษณ์ท้องถิ่นคนใต้





         บ้านนายประสิทธิ์ เพชรเชิงเขา ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 4 บ้านซาเมาะ ตำบลท่าธง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ได้จัดพิธีมโนราห์โรงครู ซึ่งวันนี้เป็นวันสุดท้าย หลังจากพิธีเริ่มต้นมาตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2561
สำหรับพิธีครูหมอมโนราห์ เป็นความเชื่อของบรรดาลูกหลานเชื้อสายมโนราห์ ว่าบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วจะกลับมาพบกับเหล่าลูกหลาน โดยมีผู้ที่เป็นร่างทรงซึ่งถูกคัดเลือก จะดำเนินพิธีเข้าทรงจากบรรพบุรุษ โดยในรอบ 1 ปี ก็จะมีการนัดรวมตัวกัน ญาติพี่น้อง เครือญาติเชื้อสายมโนราห์ที่มีทั้งผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ และผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม เพื่อเข้าร่วมทำพิธีในการรำลึกถึงบรรพบุรุษเชื้อสายมโนราห์ ที่เป็นการปฏิบัติสืบทอดกันมา
ซึ่งพิธีในช่วงเช้า ลูกหลานจะจัดสำรับอาหารคาวหวาน เหล้า ผลไม้ และเครื่องเซ่นไหว้เจ้าที่ เตรียมไว้สำหรับทำพิธี จากนั้น ผู้ที่เป็นร่างทรงครูหมอมโนราห์จะแต่งองค์ด้วยเสื้อผ้าสำหรับการทำพิธี ก่อนที่จะมีการทำพิธีกล่าวเชิญดวงวิญญาณบรรพบุรุษให้รู้ว่า เหล่าบรรดาลูกหลานได้ทำพิธีทำบุญต้อนรับ และขอขมาในสิ่งที่ได้กระทำผิดพลาดไป



      ในส่วนของลูกหลานเชื้อสายมโนราห์ที่นับถือศาสนาอิสลามนั้น จะเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเล่นเครื่องดนตรี ทั้งฆ้อง กลอง โหมง ฉิ่ง และกรับ โดยจะร่วมกันบรรเลงดนตรีในจังหวะของมโนราห์ ทั้งมโนราห์ไทย และมโนราห์แขก เพื่อให้บรรดาลูกหลานมโนราห์ที่นับถือศาสนาพุทธได้ทำพิธีตามความเชื่อ  ซึ่งพิธีนี้นับเป็นพิธีกรรมที่หาดูได้ยาก และเป็นเพียงความเชื่อส่วนบุคคล โดยเฉพาะเหล่าลูกหลานเชื้อสายมโนราห์ที่ได้สืบทอดตกตามกันมาตั้งแต่ต้นตระกูล หากมีเชื้อสายมโนราห์แล้วก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในพิธีกรรม เพราะหากลูกหลานคนใดที่ไม่เชื่อ หรือมองว่าเป็นเรื่องงมงาย ก็จะเกิดสิ่งที่ไม่ดีขึ้นกับชีวิต จนต้องทำให้หวนกลับมาสู่พิธีกรรมดังกล่าว และกล่าวขอโทษ ทำบุญอุทิศส่วนบุญกุศลให้กับบรรพบุรุษในทุก ๆ ปี







วันพฤหัสบดีที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2561

นราฯ จัดงาน "ของดีเมืองจะแนะ" สร้างสีสันเมืองพหุวัฒนธรรม



       เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 61 เวลา 11.00 น. ที่บริเวณสนามที่ว่าการอำเภอจะแนะ อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส นายสุรพร พร้อมมูล ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เป็นประธานเปิดงานของดีเมืองจะแนะ เนื่องในงาน "ของดีเมืองจะแนะ "ประจำปี 2561 ซึ่งจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 10 เพื่อเสริมสร้างความรัก ความสามัคคี อยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ สร้างความเข้าใจในความแตกต่างของสังคมพหุวัฒนธรรม ที่อาศัยอยู่ร่วมกันมาเป็นเวลาช้านาน นอกจากนี้ เป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างภาครัฐและประชาชน โดยมีนายนพพร หนูเพชร นายอำเภอจะแนะ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงานฯ ตลอดจนพลังมวลชนพื้นที่อำเภอจะแนะ พร้อมใจร่วมกิจกรรมจำนวนมาก


นายนพพร หนูเพชร นายอำเภอจะแนะกล่าวถึงแนวคิดการจัดงาน "ของดีเมืองจะแนะ" ในปีนี้ คือ อยากให้พลังมวลชนในพื้นทีมีส่วนร่วมในการจัดงาน ได้ดึงจุดเด่นของแต่ละตำบลมาแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ เป็นการรวมพลังสามัคคีเมืองพหุวัฒนธรรมที่อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ พืชทางการเกษตรและด้านปศุสัตว์ ศิลปวัฒนธรรมประเพณีที่มีความหลากหลายมาแสดงในงาน ซึ่งถือเป็นการสร้างความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของประชาชนในพื้นที่


พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานในครั้งนี้ เพื่อแสดงให้บุคคลภายนอกได้รับรู้ถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดเหมือนกับสื่อหรือภาพที่สื่อออกไป แต่กลับแสดงให้เห็นถึงภาพลักษณ์ที่ดีของอำเภอจะแนะด้วย
สำหรับภายในงานมีริ้วขบวนพาเหรดที่สวยงามตระการตาของแต่ละตำบล มีกิจกรรมการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP การออกร้าน และสาธิตการทำอาหารของกลุ่มสตรีการประกวดพืชผลทางการเกษตร การประกวดแพะสายพันธุ์ต่าง ๆ การประกวดการแข่งขันประกอบอาหารคาวหวาน การจัดนิทรรศการของกลุ่มโรงเรียนในพื้นที่อำเภอจะแนะ การออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์หมู่บ้านฟาร์มตัวอย่างไอร์บือแตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฯลฯ โดยบรรยากาศภายในงานเป็นไปด้วยความคึกคัก