วันพุธที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2561

“โนราแขก” การละเล่นพื้นบ้านภาคใต้



        โนราแขก    เป็นการละเล่นพื้นบ้านของจังหวัดนราธิวาส โนราแขกจะมีลักษะประสานระหว่างโนรากับมะโย่ง ดนตรีที่ใช้ ใช้ดนตรีโนราและดนตรีมะโย่งผสมกัน เป็นการแสดงที่ให้ความสนุกสนาน เรื่องที่จะแสดงเป็นเรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ เรื่องจากวรรณคดี โนราแขกจะแสดงได้ทุกงาน ทั้งงานบุญงานกุศล งานประชันและงานแก้บน (แก้เหมรย)


อุปกรณ์และวิธีการเล่น
1. ดนตรี มีดังนี้คือ กลอง 2 ใบ ทับ 1 คู่ ทน (กลองแขก) 2 ใบ ฆ้อง 1 คู่ นอกจากนี้มีโหม่ง ปี่ชวา ซอ รือบะ แสะ (แตระ) และฉิ่ง
2. เครื่องแต่งตัว คล้ายกับโนราทั่วไป แต่การนุ่งผ้าจะไว้หางหงส์ยาวกว่า เครื่องประดับร่างกายประกอบด้วยลูกปัด ปิดไหล่ สายสังวาล ทับทรวง ปีกนก ปิเหน่ง (ปิ้นเหน่ง) ปีก (หางหงส์) ผ้าห้อย กำไลต้นแขน กำไลปลายแขน เล็บ ผ้าผูกคอ และเทริด (เทริดนิยมห้อยอุบะด้วย)
3. ธรรมเนียมนิยมในการแสดง โนราแขกจะมีลักษณะประสมประสานระหว่างโนรากับมะโย่ง ดนตรีที่ใช้ ใช้ดนตรีโนราและดนตรีมะโย่งผสมกัน การขับบทก็คล้ายกับการร้องของมะโย่ง โดยเฉพาะบทขับต่าง ๆ ที่ขับโต้ตอบระหว่างพ่อโนรากับนางโนรานั้นเรียกว่าเพลง เช่น เพลาร่ายแตระ เพลาเดิน เพลาฉันทับหรือเพลาทน เพลาฆ้อง เพลาฉิ่ง เป็นต้น แต่ก่อนที่จะขับบทร้องแสดงเรื่องนั้น จะมีการว่าบทกาศครูเช่นเดียวกับโนราทั่วไป การแสดงเรื่องสมัยก่อนนิยมแสดงเรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ เรื่องจากวรรณคดี ต่อมาแสดงอย่างละครสมัยใหม่ แต่ถ้าเล่น…..จะต้องเล่นร้องพระสุธนมโนราห์
ลำดับการแสดงของโนราแรก เริ่มด้วยดนตรีโหมโรงพ่อโนราว่าบทกาศครู จากนั้นก็เริ่มแต่งตัว ขณะแต่งตัวเมื่อนุ่งผ้านุ่งผ้าใส่ปีกเสร็จแล้วจะนั่งว่าบท เป็นบทร่าาแตระไปพร้อมกับใส่เครื่องประดับอื่น ๆ เช่น กำไลต้นแขน ปลายแขน เล็บและเทริด เป็นต้น เมื่อแต่งตัวเสร็จพ่อโนราจะลุกขึ้นรำโดยมีนางโนรา 1 คู่ รำตามหลัง การรำนี้จะไม่รำเป็นท่าแบบโนราทั่วไป แต่จะรำเป็นเพลงมีการรำเคล้ารำบทกับนางรำ สลับการรำบท มีการ "ทำบท" แบบโนราทั่วไป เช่น บทผัดหน้า บทสีไต เป็นต้น โดยมีนางโนราทั้ง 2 คน ร้องรับและโต้ตอบ ลักษณะของบทหรือเพลาที่ร้อง เมื่อพ่อโนรานั่งว่าบท นางโนราทั้งสองจะนั่งหมอบอยู่ด้านหน้า ถ้าพ่อโนราเรียกจะขานรับ เช่น ขานว่า "ยอละแบะเร" เป็นต้น การร้องโต้ตอบกันนั้น ถ้าเป็นโนราที่เป็นคนไทยล้วนจะร้องโต้ตอบกันเป็นภาษาไทยบ้าง มลายูบ้าง เมื่อร้องทำบทหรือเพลาเสร็จจะเป็นการแสดงเรื่องต่อไป
เรื่องที่แสดงเป็นเรื่องจากวรรณคดีไทยประเภทจักร ๆ วงศ์ ๆ เช่น วรวงศ์ พระสุธนมโนราห์ ไกรทอง สังข์ทอง เป็นต้น โนราแขกเดิมผู้เล่นเป็นชายล้วนแสดงเป็น "พ่อโนรา" (โนราใหญ่) และนางโนรา ต่อมาภายหลังพ่อโนราเป็นชายและนางโนราเป็นหญิง


โอกาสหรือเวลาที่เล่น
       โนราแขกแสดงได้ทุกงาน ทั้งงานบุญกุศลงานประชัน และงานแก้บน (แก้เหมรย) เช่น งานแต่งงาน งานบวชนาค งานเข้าสุนัต แต่เมื่อมีการพัฒนาการเล่นแบบโบราณมาเล่นดนตรี และแสดงเรื่องอย่างละครสมัยใหม่ ทำให้ธรรมเนียมการแสดงเปลี่ยนไปหมด คือเริ่มการเล่นดนตรีแบบสากลร้องเพลงมลายูและเพลงอินเดีย ต่อด้วยการแสดงแบบละครสมัยใหม่ ปัจจุบันถ้าจะดูโนราแขกจริง ๆ ก็จะดูได้ในโอกาสงานแก้บนและงานไหว้ครูโนราเท่านั้น


สาระ 
      โนราแขกเป็นการละเล่นพื้นบ้านของจังหวัดนราธิวาส โนราแขกจะมีลักษะประสานระหว่างโนรากับมะโย่ง ดนตรีที่ใช้ ใช้ดนตรีโนราและดนตรีมะโย่งผสมกัน เป็นการแสดงที่ให้ความสนุกสนาน เรื่องที่จะแสดงเป็นเรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ เรื่องจากวรรณคดี โนราแขกจะแสดงได้ทุกงาน ทั้งงานบุญงานกุศล งานประชันและงานแก้บน (แก้เหมรย)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น