วันพฤหัสบดีที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2560

อาณาจักรใบไม้สีทอง!! อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี



          เป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็งขนาดใหญ่ มีมือเกาะม้วนงอเป็นตะขอคู่ เลื้อยขึ้นไปคลุมตามเรือนยอดของต้นไม้ใหญ่ มีลักษณะเด่นตรงที่มีใบสีทอง และผิวใบนุ่มเนียนราวกับกำมะหยี่ รูปร่างคล้ายใบกาหลงหรือชงโค แต่ขนาดใหญ่กว่า มีขอบหยักเว้าเข้าทั้งโคนใบและปลายใบ เติบโตโดยการเกาะเลื้อยพันขึ้นไปผลิใบคลุมเรือนยอดของต้นไม้ใหญ่ในป่า สูงถึง 30 เมตร เส้นรอบวงของเถาวัลย์ประมาณ 100 ซ.ม.ใบรูปหัวใจ ปลายใบรูปหัวใจกลับ กว้าง 10 ซม.ยาว 18 ซม. ผิวใบมีขนละเอียดคล้ายกำมะหยี่สีทอง


ใบมีสองชนิด คือกลุ่มใบสีเขียวทำหน้าที่สังเคราะห์แสงสร้างอาหารและกลุ่มใบสีทองซึ่งมีน้อยกว่า
และเมื่อไหร่ที่ใบไม้สีทองนี้ออกดอก ใบชุดที่เติบโตมาพร้อมช่อดอกก็จะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีทองทันที
ใบกลุ่มสีทองนี้ ขณะเป็นใบอ่อนจะมีสีชมพู บางทีก็เรียกสีนาค (ใช้เวลา 2 สัปดาห์) เมื่อใบแก่ขึ้นจะค่อย ๆเปลี่ยนเป็นสีทองแดงหรือสีทอง (ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน) ระยะสุดท้ายจะเปลี่ยนเป็นสีเงิน (ใช้เวลาประมาณ 6-7 เดือน) แล้วจึงทิ้งใบ
หากได้เห็น ใบไม้สีทอง ยามที่ต้องกับแสงอาทิตย์ยามเช้า คงไม่มีใครปฏิเสธ ว่ามันเป็นใบไม้ชนิดหนึ่งที่งดงามที่สุดในโลกจริง ๆ ระยะที่จะเห็นใบเป็นสีทองชัดเจนในช่วงเดือน มิถุนายน - กรกฎาคม ของทุกปี ต้นที่ปรากฏใบสีทองต้องมีอายุมากกว่า 5 ปี จะออกดอกในช่วงปลายปี ยามปลายฝนต้นหนาว ประมาณเดือน ตุลาคม - กุมภาพันธ์


ดอกออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง สีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีนวล มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ กลีบดอก 5 กลีบ เป็นรูปช้อนขอบกลีบย่น ลักษณะคล้ายดอกเสี้ยว เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 ซม. ช่อหนึ่ง ๆ มี ตั้งแต่ 10 ดอกขึ้นไป มีเกสรตัวผู้และตัวเมียยื่นออกมา เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ทะยอยบานไม่พร้อมกัน ในช่วงนี้ใบไม้ชุดที่เติบโต
มาพร้อมช่อดอกจะเปลี่ยนเป็นสีทองเปล่งประกายสมชื่อ "ใบไม้สีทอง
ผลเป็นฝักแบนคล้ายฝักดาบ ยาว 23 ซม. กว้าง 6 ซม. มีขนสีน้ำตาลแดงคล้ายกำมะหยี่ปกคลุม เมื่อแก่จะแห้งและแตกออก เมล็ดแพร่กระจายไปได้ไกล หนึ่งฝักมีประมาณ 4-6 เมล็ด พบเห็นได้ทั่วไปในผืนป่าบูโด และบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ
ขยายพันธุ์ ด้วยการตอนกิ่ง และ เพาะเมล็ด ปักชำได้แต่ไม่ค่อยได้ผล
อาณาจักรใบไม้สีทอง อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในพื้นที่อำเภอบาเจาะ อำเภอรือเสาะ อำเภอยี่งอ อำเภอเจาะไอร้อง อำเภอระแงะ อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส อำเภอรามัน จังหวัดยะลา และอำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี มีสภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร มีพันธุ์ไม้ที่มีค่านานาชนิด โดยเฉพาะปาล์มบังสูรย์และใบไม้สีทอง มีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง
เช่น น้ำตกต่าง ๆ ตลอดจนมีประวัติศาสตร์เป็นพื้นที่ของผู้ก่อการร้ายในนามขบวนการบูโดและขบวนการพูโล มีเนื้อที่ประมาณ 213,125 ไร่ หรือ 341 ตารางกิโลเมตร
ปัจจุบันอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดีได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แล้ว โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 48ก วันที่ 17มิถุนายน 2542 เป็นลำดับที่ 95 ของประเทศ
ถึงแม้ว่าในธรรมชาติจะมีการแพร่กระจายพันธุ์ที่ไม่กว้างนัก แต่ก็น่ายินดีที่ใบไม้สีทองเป็นไม้ที่เพาะขยายพันธุ์ไม่ยาก นอกจากเพาะเมล็ดแล้ว วิธีที่นิยมที่สุดก็คือการตอน ซึ่งสามารถนำมาปลูกลงดินที่ร่วนซุยและระบายน้ำได้ดี แล้วสร้างค้างขนาดใหญ่ให้ หรืออาจจะปลูกใกล้กับไม้ใหญ่ สร้างหลักค้ำยันให้ในช่วงแรก แล้วจึงปล่อยให้ค่อย ๆ เลื้อยพาดไปตามคบไม้ โดยไม่เจาะแย่งอาหาร ทำให้ไม้ต้นที่เป็นหลักก็ได้มีเครื่องประดับที่สวยงาม
และในขณะเดียวกัน เจ้าใบไม้สีทองก็ได้อาศัยเป็นฐานที่มั่นคงเพื่อรับแสงอาทิตย์ ถึงแม้ในธรรมชาติ ใบไม้สีทองจะมีการกระจายพันธุ์อยู่เฉพาะในป่าทางใต้ แต่ต้นที่ถูกนำมาปลูก แม้แต่ในกรุงเทพฯก็ยังเติบโตและออกดอกได้เป็นอย่างดี แต่อาจไม่งดงามสมบูรณ์เท่าทางใต้บ้านเกิดของเขา
การนำใบไม้สีทองมาเป็นผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก


การหาวัตถุดิบ จะต้องผ่านการอนุญาตจากวนอุทยานฯเนื่องจากใบไม้สีทองอยู่ในป่าลึก คนที่จะเข้าไปเก็ต้องเป็นผู้ชำนาญทาง โดยปีหนึ่งจะเก็บได้แค่ 2 ช่วง คือ เดือนมีนาคม และกันยายน เท่านั้น ใบที่เก็บมาเฉลี่ยจาก 100 ใบ จะมีใบสมบูรณ์สามารถนำมาจำหน่ายได้ประมาณ 20 ใบเท่านั้น จากคุณสมบัติใบไม้สีทอง เมื่อแห้งสนิทแล้ว จะมีความเหนียว ไม่แห้งผุ และสีทองจะยิ่งชัดขึ้น หลายคนซื้อเพราะเห็นว่าเป็นใบไม้มงคล โดยเฉพาะในช่วงใกล้เทศกาลตรุษจีน จะขายใบไม้สีทองได้จำนวนมาก
ความแปลกของต้นใบไม้สีทอง ใน 1 ต้น จะมีการเปลี่ยนของสีใบถึง 3 สี คือ สีนาค สีเงิน และสีทอง (ฤดูร้อน, ฤดูฝนจะมีสีทอง และฤดูหนาวจะมีสีเงิน) ใน 1 ต้น จะมีใบสีนาคเพียง 1 ใบเท่านั้น (?) ทำให้ต้นใบไม้สีทองกลายเป็นใบไม้มงคลตามความเชื่อ ที่หลายคนอยากมีไว้เพื่อเป็นสิริมงคล
สถานภาพ : พืชถิ่นเดียวและพืชหายากในสภาพธรรมชาติ ปัจจุบันนำมาขยายพันธุ์และปลูกเป็นไม้ประดับกันบ้าง
แต่ยังไม่แพร่หลาย เพราะเป็นไม้เถาใหญ่ยักษ์ต้องการพื้นที่มาก
ใบไม้สีทองหนึ่งเดียวในโลกกลับมาเลือกที่จะอยู่เฉพาะเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เหมือนเป็นการชดเชย
ให้กับความไม่สงบในพื้นที่ แต่อย่างน้อยก็มีธรรมชาติที่สวยงามไว้ให้รื่นรมย์
สรรพสิ่งต่างพึ่งพาและอยู่ร่วมกันได้ ถึงแม้จะต่างชาติต่างเผ่าพันธุ์ แล้วทำไม มนุษย์ซึ่งเรียกตัวเองว่า
สัตว์ประเสริฐ จึงไม่สามารถพูดคุย และอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น