วันจันทร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ชาวยะลาร่วมอนุรักษ์สืบสานศิลปะพื้นบ้าน “แทงหยวก” ภูมิปัญญาท้องถิ่น


        สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดยะลา ได้เชิญครูภูมิปัญญา แทงหยวกชาวสงขลา ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการแทงหยวกกล้วย โดยไม่ต้องเขียนลายมาสาธิต และสอนให้กับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่สนใจ ซึ่งเดินทางมาร่วมชม งานแลหลาด วัดเว 9 วิถีคน วิถีกล้วย ถนนสายวัฒนธรรมวัดเวฬุวัน อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ได้ศึกษา เรียนรู้ ศิลปะพื้นบ้าน ตลอดจนอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ไม่ให้สูญหาย โดยมีชาวยะลาให้ความสนใจมาแวะเวียนดูการแทงหยวกกล้วยกันอย่างต่อเนื่อง


นางสาวลิปิการ์ กำลังชัย วัฒนธรรมจังหวัดยะลา กล่าวว่า การนำครูภูมิปัญญา แทงหยวกมาสาธิต และสอนให้กับประชาชนครั้งนี้ ก็เพื่อต้องการอนุรักษ์ สืบสาน ภูมิปัญญาท้องถิ่นในเรื่องานช่างแกะสลัก ซึ่งอยากจะให้คนยะลาทั้งนักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชนได้มาสัมผัส มาเรียนรู้ ภูมิปัญญาในด้านนี้ จะได้มาสัมผัสวิถีชีวิตการแทงหยวกกล้วย ซึ่งเป็นศิลปะแขนงหนึ่งจากครูภูมิปัญญา ซึ่งเป็นครูในพื้นที่ภาคใต้ ที่ได้ไปแทงหยวกในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพ ในหลวง ร.9 ที่ผ่านมา


สำหรับในพื้นที่จังหวัดยะลา นั้น ขณะนี้ยังขาดแคลนครูแทงหยวก ซึ่งในอนาคตทางวัฒนธรรมยะลา ก็จะส่งเสริม สืบทอดภูมิปัญญาด้านนี้ โดยจะเชิญครูแทงหยวกมาสอนให้ความรู้กับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่สนใจ โดยผู้ที่มาเรียนรู้จะได้เกิดไอเดียนำไปประดิษฐ์ลายต่างๆ ในเชิงสร้างสรรค์ รวมทั้งประยุกต์ใช้ในการทำกระทง เรือพระ ซุ้มบ่าวสาว ดอกไม้ต่างๆ นอกจากนี้ยังเป็นการอนุรักษ์ สืบทอดงานด้านครูช่าง อีกด้วย


ขณะที่อาจารย์สวน หนุดหละ ครูภูมิปัญญาไทยรุ่น 8 กล่าวว่า ปกติตนเองมีอาชีพทำนา ทำสวน ที่จังหวัดสงขลา ส่วนงานแทงหยวกเป็นงานอดิเรก ซึ่งทำมา 37 ปี เพื่อต้องการอนุรักษ์ สืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น ภูมิปัญญาชาวบ้านไว้ โดยตนเองได้รับการถ่ายทอดมาจากพระ คุณตา สอนให้เป็นช่างโบราณสมัยก่อน ไปดู ไปเห็น ไปช่วยเป็นลูกมือ และก็ทำได้จนมาถึงทุกวันนี้ และจะไปแทงหยวกในงานต่างๆ โดยที่ผ่านมาก็ได้มีโอกาสไปแทงหยวกในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวง ร.9


ปัจจุบันมีการเปิดสอนให้กับผู้ที่สนใจอยู่ที่จังหวัดสงขลา มีที่เป็นแล้วประมาณ 100 คน ไม่ต่ำกว่า 50 คน ก็สามารถนำไปต่อยอดประกอบอาชีพช่างแทงหยวกได้ ในพื้นที่ภาคใต้ขณะนี้ก็มีช่างแทงหยวก อยู่ 40-50 คน ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่จะยึดวิธีการใหม่ๆ มาผสมผสานสร้างสรรค์ด้วย แต่ทั้งนี้ก็มีเยาวชนบางคนแทงหยวกได้ แต่พอทำงานจริงไม่ได้ ทั้งนี้ผู้ที่จะทำได้ สืบทอดการปฎิบัติ ก็จะต้องออกพื้นที่ ทำจริง มีความเชื่อมีความศรัทธา เข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วย



ในส่วนของตนเองก็จะยึดการแทงหยวกแบบโบราณ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น เน้นอัตลักษณ์ปักษ์ใต้ไว้ ไม่ได้เอาไปประยุกต์ใช้แบบใหม่ เนื่องจากเกรงว่าจะไม่มีรากเหง้าตัวตนในสมัยโบราณ ส่วนการแทงหยวกกล้วย หรือการแกะสลักหยวกกล้วยนั้น ก็จะมีทั้งแบบ บายฟันปลา ลายฟันสาม บายมือหมี บายน่องสิงห์ ลายเถาวัลย์ ฯลฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น