วันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2561

รวมศาสตร์ของพระราชาเพื่อการอนุรักษ์ป่า สิ่งแวดล้อม และดิน




        ตลอด 70 ปีแห่งรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้ทรงให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ป่าไม้สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับปรุงฟื้นฟูพัฒนาคุณภาพของดินเพื่อให้เหมาะสมสำหรับการทำการเกษตรกรรมซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนไทย
โดยเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยือนพื้นที่ห่างไกลต่าง ๆ ทั่วประเทศและได้ทรงรับทราบข้อมูลปัญหาที่พสกนิกรในแต่ละภูมิภาคต้องเผชิญ ทรงศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อหาทางออกช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านั้นให้เบาบางทุเลาลงเพื่อให้คนไทยได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น


     ตลอดเส้นทางแห่งการทรงงานด้านการอนุรักษ์ป่าไม้และสิ่งแวดล้อมได้ทรงสร้างนวัตกรรมแห่งการอนุรักษ์ไว้หลากหลายประการด้วยกัน อาทิ
• ปลูกป่าในที่สูง
ทรงให้ใช้ไม้ประเภทที่มีเมล็ด ขึ้นไปปลูกบนยอดเขาสูง เมื่อโตแล้ว ออกฝัก ออกเมล็ด ก็จะลอยตกลงมาแล้วงอกขึ้นเองในที่ต่ำ เป็นการขยายพันธุ์โดยธรรมชาติ เป็นการปลูกป่าที่อาศัยหลักธรรมชาติและแรงโน้มถ่วงของโลก คือ สิ่งที่อยู่พื้นที่สูงย่อมตกลงสู่ที่ต่ำกว่าเสมอ ทำให้ประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่ายในการปลูกป่า
• ป่าเปียก หรือ ภูเขาป่า
เป็นการใช้น้ำเพื่อทำระบบและสร้างแนวป้องกันไฟป่าแบบเปียก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงตระหนักถึงคุณค่าของน้ำ และ ทรงประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์สูงสุด ป่าเปียก จึงเป็นกลวิธีอย่างง่าย ได้ประโยชน์สูง และสามารถทำได้หลายรูปแบบด้วยกัน
• ป่าต้นน้ำ
คือ ป่าธรรมชาติที่ปรากฎอยู่บริเวณพื้นที่ต้นน้ำลำธาร โดยทั่วไปมักอยู่ในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 700 เมตรขึ้นไป หรืออาจเป็นพื้นที่ลาดชันมากกว่า 35% ชนิดของป่าไม้ที่มักจะปรากฎให้เห็นในพื้นที่ต้นน้ำ ได้แก่ ป่าดิบเขา ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง
• ป่ารักษ์น้ำ
เป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อป้องกัน อนุรักษ์ และฟื้นฟูป่า อาจใช้วิธีการเฝ้าระวัง และควบคุมพื้นที่ป่าไม้ที่มีอยู่ ไม่ให้ถูกทำลาย ช่วยปรับปรุงระบบนิเวศในพื้นที่ต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและถูกทำลายไปแล้ว สามารถเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ในเมืองก็ได้
• ฝายต้นน้ำลำธาร และฝายดักตะกอน
ฝายต้นน้ำลำธาร หรือ Check Dam เป็น สิ่งก่อสร้างขวาง หรือกั้นทางน้ำ บริเวณลำห้วยและลำธารขนาดเล็ก ในบริเวณที่เป็นต้นน้ำ หรือพื้นที่ที่มีความลาดชันสูงให้สามารถกักตะกอนอยู่ได้ หากช่วงที่น้ำไหลแรงก็สามารถชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลง และกักเก็บตะกอนไม่ให้ไหลลงไปทับถมลำน้ำตอนล่าง เป็นวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำได้มากวิธีการหนึ่ง
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานคำอธิบายว่า การปลูกป่าทดแทนพื้นที่ป่าไม้ที่ถูกทำลายนั้น
"...จะต้องสร้างฝายเล็กเพื่อหมุนน้ำส่งไปตามเหมืองไปใช้ในพื้นที่เพาะปลูกทั้งสองด้าน ซึ่งจะให้ค่อย ๆ แผ่ขยายออกไปทำความชุ่มชื้นในบริเวณนั้นด้วย..."
• ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก
โดยพระราชดำริ มี 3 วิธีการ ได้แก่
      1) “…ถ้าเลือกได้ที่เหมาะสมแล้ว ก็ทิ้งป่านั้นไว้ตรงนั้น ไม่ต้องไปทำอะไรเลย ป่าจะเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นป่าสมบูรณ์ โดยไม่ต้องไปปลูกสักต้นเดียว…”
      2) “…ไม่ไปรังแกป่าหรือตอแยต้นไม้ เพียงแต่คุ้มครองให้ขึ้นเองเท่านั้น…”
      3) “…ในสภาพป่าเต็งรัง ป่าเสื่อมโทรมไม่ต้องทำอะไรเพราะตอไม้จะแตกกิ่งออกมาอีก ถึงแม้ต้นไม่สวยแต่ก็เป็น ต้นไม้ใหญ่ได้…”
• ปลูกป่าบริเวณอ่างเก็บน้ำ
เป็นหนึ่งในวิธีการปลูกป่าทดแทน เพื่อให้เกิดความชุ่มชื้นยาวนานและยั่งยืนในบริเวณรอบอ่างเก็บน้ำและพื้นที่ใกล้เคียง สร้างความชุ่มชื่น ทำให้เกิดฝน ช่วยลดความแห้งแล้ง
• ปลูกป่า 3 อย่างได้ประโยชน์ 4 อย่าง
ในการปลูกป่า 3 อย่างนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชาธิบายถึงประโยชน์ในการปลูกป่าตามพระราชดำริว่า
     “...การปลูกป่า 3 อย่าง แต่ให้ประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งได้ไม้ผล ไม้สร้างบ้าน และไม้ฟืนนั้น สามารถให้ประโยชน์ได้ถึง 4 อย่าง คือ นอกจากประโยชน์ในตัวเองตามชื่อแล้ว ยังสามารถให้ประโยชน์อันที่ 4 ซึ่งเป็นข้อสำคัญ คือ สามารถช่วยอนุรักษ์ดินและต้นน้ำลำธารด้วย...”
และได้มีพระราชดำรัสเพิ่มเติมว่า
     “...การปลูกป่าถ้าจะให้ราษฎรมีประโยชน์ให้เขาอยู่ได้ ให้ใช้วิธีปลูกไม้ 3 อย่าง แต่มีประโยชน์ 4 อย่าง คือ ไม้ใช้สอย ไม้กินได้ ไม้เศรษฐกิจ โดยรองรับการชลประทาน ปลูกรับซับน้ำ และปลูกอุดช่วงไหล่ตามร่องห้วย โดยรับน้ำฝนอย่างเดียว ประโยชน์อย่างที่ 4 ได้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ...”
• กำแพงธรรมชาติ (หญ้าแฝก)
การปลูกหญ้าแฝก เป็นการสร้างกำแพงธรรมชาติ เป็นวิธีการใช้เทคโนโลยีอย่างง่าย ๆ ช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดินและเก็บความชุ่มชื้นไว้ในดิน ลดภาวะน้ำหลากน้ำท่วม ช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำให้แก่เกษตรกร
• ป่าชายเลน
ป่าชายเลน เรียกชื่อกันหลายอย่างว่า ป่าชายเลนน้ำเค็ม หรือป่าเลน หรือป่าโกงกาง เป็นป่าที่เกิดขึ้นตามชายฝั่งทะเล และปากแม่น้ำ จัดเป็นป่าไม้ผลัดใบ มีต้นไม้ขึ้นหนาแน่น แต่ละชนิดมีรากค้ำยัน หรือรากหายใจ ตามแต่ชนิดของต้นไม้นั้น ๆ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานแนวพระราชดำริว่า
       “…ป่าชายเลนมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศของพื้นที่ชายทะเลและอ่าวไทย แต่ปัจจุบัน ป่าชายเลนของประเทศไทย กำลังถูกบุกรุกและถูกทำลายไป โดยผู้แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน จึงควรหาทางป้องกันอนุรักษ์และขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะต้นโกงกาง เป็นไม้ชายเลนที่แปลก และขยายพันธุ์ค่อนข้างยาก เพราะต้องอาศัยระบบน้ำขึ้นน้ำลงในการเติบโตด้วย จึงขอให้ส่วนราชการ ที่เกี่ยวข้อง คือ กรมป่าไม้ กรมประมง กรมชลประทาน และกรมอุทกศาสตร์ ร่วมกันหาพื้นที่ที่เหมาะสม ในการทดลองขยายพันธุ์โกงกาง และปลูกสร้างป่าชายเลนกันต่อไป…”

การปลูกป่าในใจคน เป็น 1 ใน 23 หลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยทรงมีพระราชดำรัสในเรื่องของการปลูกป่าว่า
        “…ควรจะปลูกต้นไม้ในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดินและรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง...”
ปลูกต้นไม้ในใจคน หมายถึง การทำความเข้าใจว่าทำไมจึงต้องปลูกต้นไม้ และชี้ให้เห็นว่าประโยชน์ของการปลูกต้นไม้คืออะไร จำเป็นต่อชีวิตอย่างไร เป็นการปลูกจิตสำนึกเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่อยู่รอบตัวเรา
• แกล้งดิน
เป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เกี่ยวกับการแก้ปัญหาดินเปรี้ยว หรือดินเป็นกรด โดยใช้การขังน้ำไว้ในพื้นที่จนกระทั่งเกิดปฏิกิริยาเคมีทำให้ดินเปรี้ยวจัด จนถึงที่สุด แล้วจึงระบายน้ำออก และปรับสภาพฟื้นฟูดินด้วยปูนขาว จนกระทั่งดินมีสภาพดีพอที่จะใช้ในการเพาะปลูกได้
• ห่มดิน
เป็นการเลี้ยงดินด้วยการ "ห่มดิน" ช่วยสร้างระบบนิเวศให้ฟื้นกลับคืนมาอย่างสมบูรณ์อีกครั้ง ด้วยการป้องกันการระเหยของความชื้นที่อยู่ในดิน และเป็นที่อาศัยของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ จุลินทรีย์ชอบอยู่ในที่มืดที่มีความชุ่มชื้น ซึ่งจะทำให้จุลินทรีย์ทำงานและขยายตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะทำให้ดินมีความสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังเป็นวิธีการป้องกันหญ้าที่ขึ้นในพื้นที่ เพราะเมื่อหญ้าโดนคลุมไว้ก็ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ และยังเป็นวิธีการเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน หรือเป็นการปรับปรุงดินก่อนการเพาะปลูก ดินที่ดีจะมีเชื้อราเกิดขึ้น และต้องใช้ร่วมกับ น้ำหมักชีวภาพ จะทำให้ดินมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
• ป่าพรุ
เป็นป่าดิบชื้นประเภทหนึ่ง ที่อยู่ในพื้นที่ราบลุ่มส่วนใหญ่อยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย เกิดจากแอ่งน้ำจืดเกิดขังตัวติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน มีการสะสมของชั้นดินอินทรีย์วัตถุ เช่น ซากพืช, ซากสัตว์, เศษซากของต้นไม้ ใบไม้ ต่าง ๆ จนย่อยสลายช้า ๆ กลายเป็นดินพีต (Peat) หรือดินอินทรีย์ที่มีลักษณะหยุ่นยวบเหมือนฟองน้ำที่มีความหนาแน่นน้อยอุ้มน้ำได้มาก พื้นด้านล่างจะเป็นพรุมีน้ำขังตลอดทั้งปี น้ำจะมีสีเขียวหรือน้ำตาลเข้ม อันเกิดจากการหมักหมมตัวมาอย่างยาวนานของซากพืช ซากสัตว์ น้ำจะมีสภาพเป็นกรดมากกว่าค่าของน้ำปกติ (pH ต่ำกว่า 7) จึงทรงมีพระราชดำริพัฒนาพื้นที่ป่าพรุให้เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกได้ดียิ่งขึ้น
ระบบนิเวศในป่าพรุนั้นมีความหลากหลาย และเกี่ยวเนื่องกัน ไม้ยืนต้นจะมีระบบรากแขนงแข็งแรงแผ่ออกไปเกาะเกี่ยวกันเพื่อจะได้ช่วยพยุงลำต้นของกันและกัน และให้ยืนตัวทรงอยู่ได้ ดังนั้น ต้นไม้ในป่าพรุจึงอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม หากต้นใดต้นหนึ่งล้ม ต้นอื่นจะล้มตามไปด้วย
         เหล่านี้ล้วนเป็นองค์ความรู้ที่เกิดจากศาสตร์ของพระราชาที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานไว้เป็นมรดกให้กับคนไทย เพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ตามบริบทของพื้นที่ เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีความสุขอย่างยั่งยืนตลอดไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น