วันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2561

“ปัตตานีถิ่นเกลือหวาน” กับร่องรอยอดีตวันวาน


ภาพเรือเกลือซึ่งพระยาตานีจัดแต่งเข้าร่วมขบวนแห่เฉลิมพระเกียรติ ถวายรับเสด็จรัชกาลที่ 6 ที่สนามปัตตานี มิถุนายน 2458เมื่อตรวจสอบในเอกสาร จดหมายเหตุระยะทางเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลปักษ์ใต้ของสักขี ตั้งแต่วันที่ ๔ มิถุนายน ถึง วันที่ ๕ สิงหาคม พระพุทธศักราช ๒๔๕๘พบว่าเป็นเรือเกลือทีจัดทำขึ้นโดย หมื่นนิคมคำนวณเขตร์ กำนันตำบลบานา

ทั้งนี้ตำบลบานา เป็นที่ตั้งของนาเกลือเพียงแหล่งเดียวในภาคใต้ของประเทศไทย(เท่าที่มีข้อมูลในขณะนี้) การทำนาเกลือที่บานานั้น ทำกันมาตั้งแต่สมัยโบราณเป็นร้อยปีมาแล้ว และถือเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของเมืองตานี และทำติดต่อเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้          

ในบันทึกของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ รายงานทูลเกล้าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๙ นั้นให้รายละเอียดนาเกลือเมืองตานีความว่า      
   
ในเมืองปัตตานี มีนาเกลือแห่งเดียวตลอดแหลมมลายู สินค้าเกลือเมืองปัตตานีขายได้อย่างแพงถึงเกวียนละ 16 เหรียญ ขายตลอดออกไปจนสิงคโปร์และเกาะหมาก…”  

ดังนั้นในการจัดขบวนแห่รับเสด็จรัชกาลที่6 ในครั้งนี้ กำนันเมืองบานาได้เลือกทำเรือเกลือด้วยเป็นของขึ้นชื่อในท้องถิ่นนั่นเองแม้แต่ในเพลงมาร์ชประจำจังหวัดปัตตานี ก็มีเนื้อร้องเพลงท่อนหนึ่งระบุว่าเกลือเป็นหนึ่งในทรัพยากรของเมืองตานีดังท่อนที่ว่า
เมืองปัตตานีมีผืนดินเลอค่าเหล่าประชาเป็นสุขสดใสทรัพย์อยู่ในดินเหลือล้ำสินอยู่ในน้ำคลาคล่ำไปเกลือยางมะพร้าวนั่นไงทรัพย์สินสำคัญ

พูดถึงเรือเกลือ ทำให้นึกถึงสำนวนใต้สำนวนนึงว่า 
    “เอือดเหมือนเรือเกลือเอือด ในภาษาไทถิ่นใต้ในที่นี้หมายถึง เหนียว เหนอะหนะ อับชื้น ซึ่งน่าสนใจว่าในพจนานุกรมฉบับราชบัณพิตยสถานให้ความหมายว่า
(ว.) ชื้น เช่น เกลือเอือด ผ้าเอือด.ส่วนในภาษาถิ่นอีสานนั้นหมายถึง
(น.) ดินที่มีธาตุเกลือปนอยู่และขึ้นเป็นขุยขาวที่หน้าดิน.ในพจนานุกรมฉบับ อ.เปลื้อง ณ นคร ก็ให้ความหมายคำว่าเอือดว่า
(น.) เกลือ, มักใช้เป็นคำซ้อนว่า เกลือเอือด หรือเอือดเกลือ.………………………………………………………….
ภาพจากหนังสือ สมบัติปัตตานี 2557, เอนก นาวิกมูล บรรณาธิการ ต้นฉบับภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
เอกลักษณ์ รัตนโชติ เรียบเรียง 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น