วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ผู้เสพยาเสพติด คือ ผู้ป่วย ควรได้รับการบำบัดรักษา

ผู้เสพยาเสพติด คือ ผู้ป่วย ควรได้รับการบำบัดรักษา
       สาเหตุที่แยกผู้ติดยาเสพติดว่าเป็นผู้ป่วย เพราะผู้ติดยาเสพติดจะมีภาวะ “สมองติดยา” เกิดแรงกระตุ้นจนนำพาไปสู่ความอยากยา มีความจำเป็น ต้องหายาเสพติดเพื่อนำมาเสพ เมื่อเสพแล้วจะมีความสุข ภาวะสมองติดยา มีระยะเวลาในการป่วยของแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับชนิดของสารเสพติดแต่ละตัวและปริมาณการใช้ รวมถึงปัจจัยแทรกซ้อนมากมาย ภาวะการติดยาเสพติด สามารถรักษาได้ แต่ต้องใช้ระยะเวลา และความเข้าใจของครอบครัว ชุมชน ปัญหาการกลับไปเสพติดซ้ำเกิดจากผลกระทบทางด้านจิตใจ ครอบครัวขาดความอบอุ่น ร่างกายและจิตใจไม่เข้มแข็งพอ

       นโยบายผู้เสพ คือ ผู้ป่วย รัฐบาลถือว่า ผู้เสพทุกคน เป็นผู้ป่วย และจะให้โอกาสในการบำบัดรักษา รวมถึงดูแลช่วยเหลือให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข การเสพยาเสพติดเป็นความผิดตามกฎหมายมีโทษถึงจำคุก โดยรัฐบาลได้ให้โอกาสผู้เสพยาเสพติด ทุกคนเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาในระบบสมัครใจ โดยไม่ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย หากพบผู้ใกล้ชิด ใช้ยาเสพติดขอให้ทำความเข้าใจ และแนะนำให้เข้ารับการบำบัดรักษาได้ที่โรงพยาบาลรัฐทุกแห่งตามสิทธิหลักประกันสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) โรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) รวมถึง โรงพยาบาลเฉพาะทาง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์ 7 แห่ง และโรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิต 16 แห่ง

ขั้นตอนการบำบัดรักษา มี 4 ขั้นตอนง่าย ๆ ดังนี้ 
        1. ขั้นเตรียมการ (Pre-Admission) ได้แก่ ขั้นตอนการสอบถามอาการ การตรวจร่างกายการประเมินคัดกรอง และการนัดหมายให้เข้ารับการบำบัด
        2. ขั้นถอนพิษยา (Detoxification) เป็นการบำบัดอาการทางกายที่เกิดจากการใช้ยาเสพติด และภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ มีทั้งแบบผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก ขึ้นอยู่กับสภาพการเสพการติด 
        3. ขั้นตอนการฟื้นฟูสมรรถภาพ (Rehabilitation) เป็นการปรับสภาพร่างกายจิตใจ และสังคมของผู้เลิกยาให้มีความเข้มแข็ง ปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพและพฤติกรรม ให้สามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างปกติสุข 
        4. การติดตามดูแล (Aftercare) เป็นการติดตามดูแลผู้ที่ผ่านการบำบัดรักษา ทั้ง 3 ขั้นตอนแล้ว เพื่อส่งเสริมศักยภาพของผู้ผ่านการบำบัดรักษายาเสพติด รูปแบบการบำบัดรักษา เน้นนโยบายผู้เสพคือผู้ป่วย โน้มน้าว/ชักชวน/จูงใจให้ผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาในระบบสมัครใจ

        โดยสถานพยาบาลในระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลธัญญารักษ์ สังกัดกรมการแพทย์ และโรงพยาบาล สังกัดกรมสุขภาพจิต ในพื้นที่ ดำเนินการคัดกรองโดยใช้แบบคัดกรองผู้ป่วยที่ใช้ยาและสารเสพติด กระทรวงสาธารณสุข (V2) เพื่อจำแนกผู้ป่วยยาเสพติดเป็นกลุ่มผู้ใช้ ผู้เสพ และผู้ติด และดำเนินการบำบัดฟื้นฟูหรือส่งต่อตามสภาพการเสพติด ภายใต้มาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ดังนี้
        1.กรณีผู้ใช้ : ให้การบำบัดฟื้นฟูในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลธัญญารักษ์ สังกัดกรมการแพทย์ และโรงพยาบาล สังกัดกรมสุขภาพจิต ด้วยการให้ความรู้และส่งเสริมสุขภาพ (Health Education & Promotion) การให้คำแนะนำแบบสั้น (Brief Advice : BA) หรือการบำบัดแบบสั้น (Brief Intervention : BI) อย่างน้อย 1 ครั้ง และการช่วยเหลือของครอบครัว โรงเรียน และชุมชน รวมถึงการบำบัดโรคร่วมทางจิตเวช (ถ้ามี)
        2. กรณีผู้เสพ : ให้การบำบัดฟื้นฟูในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลธัญญารักษ์ สังกัดกรมการแพทย์ โรงพยาบาล สังกัดกรมสุขภาพจิต การบำบัดในรูปแบบ ศูนย์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
        3.กรณีผู้ติด : ให้การบำบัดฟื้นฟูในโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลธัญญารักษ์ สังกัดกรมการแพทย์ และโรงพยาบาล สังกัดกรม
สุขภาพจิต สถานที่ในการบำบัดรักษา ผู้ที่ใช้ยาเสพติดหรือผู้ปกครองหรือครอบครัวนำผู้เสพ ซึ่งรัฐบาลถือว่าเป็นผู้ป่วยเข้ามารับการบำบัดรักษา ได้ที่โรงพยาบาลรัฐทุกแห่งตามสิทธิหลักประกันสุขภาพ ซึ่งอาจจะเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือโรงพยาบาลชุมชนที่เป็นโรงพยาบาลระดับอำเภอที่มีอยู่กว่า หนึ่งหมื่นแห่งทั่วประเทศ รวมไปถึงโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลเฉพาะทาง ซึ่งได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์ ที่มีอยู่ ๗ แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา และปัตตานี และโรงพยาบาล ในสังกัดกรมสุขภาพจิตจำนวน 16 แห่ง

เตรียมตัวอย่างไร ขั้นตอนในการเตรียมตัว สำหรับผู้ป่วยที่สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาในโรงพยาบาล ดังนี้
      1.เตรียมความพร้อมผู้ป่วยและญาติผู้ดูแล ซึ่งทั้งผู้ป่วยและญาติต้องเข้าใจขั้นตอนการบำบัดรักษา ว่ามีแนวทางอย่างไร ใช้เวลาเท่าไร 
      2.เตรียมเอกสารที่แสดงตัวตนของผู้ป่วย เช่น บัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน หรือบัตรที่ทางราชการออกให้และมีรูปถ่ายของผู้ป่วยติดไว้               
      3.การบำบัดรักษายาเสพติดไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ยกเว้นถ้าหากมีโรคร่วมโรคแทรก เช่น วัณโรค ท้องเสีย ไวรัสตับอักเสบ ฯลฯ ผู้ป่วยสามารถใช้สิทธิบัตรประกันสุขภาพหรือบัตรทอง บัตรประกันสังคม ร่วมได้ในสถานพยาบาลตามที่ระบุในบัตร ผู้เสพยาเสพติดและญาติที่สนใจจะส่งบุตรหลานเข้ารับการรักษา สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1165 ตลอด 24 ชั่วโมง
        กรณีพบผู้เสพที่มีอาการคลุ้มคลั่งอาละวาด สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง กรณีพบเบาะแสยาเสพติด สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 1386 ตลอด 24 ชั่วโมง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น