วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2559

“แพทย์หญิงเพชรดาวฯ หญิงเก่งปลายด้ามขวาน ผู้มีจิตสาธารณะยึดหลักช่วยทุกคน ไม่แบ่งแยกฝักฝ่าย”


หญิงเก่งปลายด้ามขวาน ผู้มีจิตสาธารณะ

          ชื่อของเธอ แพทย์หญิงเพชรดาว  โต๊ะมีนา (หมอจอย) หลายคนอาจสงสัยว่าเป็นใครมาจากไหน  แต่หากเอ่ยชื่อของ “คุณหมอเพชรดาว” ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นามอันไพเราะนี้เป็นที่รู้จักในฐานะ “หญิงเก่ง” แห่งปลายด้ามขวาน ที่ยืนหยัดเคียงข้างผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบมาโดยตลอด
"งานที่ทำอยู่ทุกวันนี้มีความสุข และสนุกในการทำงานมากคะ"
          คุณหมอเพชรดาว เธอเป็นบุตรคนโตในพี่น้อง 2 คนของ “นายเด่น โต๊ะมีนา” นักการเมืองชาวปัตตานี ผู้ก่อตั้งกลุ่มวาดะห์ อดีต รมช.สาธารณสุข รมช.มหาดไทย เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดปัตตานี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัย และนางพัชราภรณ์ โต๊ะมีนา (สกุลเดิม ฤทธิเดช)  คุณหมอเพชรดาวกำเนิดที่กรุงเทพฯ เพราะมารดาเป็นคนกรุงเทพฯ แต่มาใช้ชีวิตที่ จ.ปัตตานี ตั้งแต่อนุบาลจนจบมัธยมปลาย จากนั้นไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย โดยเรียนคณะวิทยาศาสตร์ 4 ปี เมื่อจบการศึกษาก็สอบเข้าเรียนต่อคณะแพทยศาสตร์อีก 5 ปี
          “ตั้งแต่เด็กๆ แล้วมีความฝันอยากเป็นหมอมาตลอด ยิ่งได้ฟังคุณแม่เล่าว่า คุณปู่เคยเขียนจดหมายจากเรือนจำบางขวางมาถึงคุณพ่อว่าอยากให้เป็นหมอ เพราะคุณพ่อเรียนเก่งมาก สอบได้ที่ 1 ของจังหวัดทุกปี แต่ถ้าเป็นหมอคนไม่ได้ ก็อยากให้เป็นหมอความจะได้ช่วยเหลือประชาชน คำบอกเล่าเหล่านี้อยู่ในความคิด ฝังในจิตใจมาตลอดตั้งแต่เด็กๆ ว่าอยากเป็นหมอ”
          ตลอดระยะเวลา 9 ปีในประเทศเพื่อนบ้าน คุณหมอเพชรดาวใช้ชีวิตในการศึกษาเล่าเรียน เธอได้เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมของที่นู่น รวมถึงภาษามลายู และภาษาอังกฤษ
          “ไปเรียนที่นู่นเพราะค่าเทอมถูก เทอมละ 5,000 บาท พอไปเรียนที่นู่นก็มีหลายคนสงสัยว่า ทำไมไม่ไปเรียนยุโรป หรืออเมริกา เพราะคิดว่าบ้านเราฐานะดี แต่จริงๆ แล้ว ไม่ได้ดีมาก ตอนเด็กๆ ยังเก็บผักบุ้งกินอยู่เลย”
          ชีวิตในวัยเด็กของคุณหมอเพชรดาวจะใกล้ชิดกับคุณแม่เป็นส่วนใหญ่ ด้วยเพราะคุณพ่อ เป็นนักการเมือง เป็น ส.ส. มีภารกิจต้องทำมากมาย
          จากครอบครัวนักการเมืองทำให้ได้คุณหมอเพชรดาวได้มีโอกาสชิมลางงานการเมืองด้วยการลงสมัครเลือกตั้ง “ส.ส.” กลับมาอยู่ประเทศไทยได้ไม่นาน ด้วยอายุ 30 กว่าๆ เธอก็ลงสมัครเขตหนองจอก-ลาดกระบัง กรุงเทพฯ ซึ่งมีมุสลิมอาศัยอยู่จำนวนมาก และอีกครั้ง กับการลงสมัครเลือกตั้ง “ส.ว.” ปัตตานี แม้ผลการเลือกตั้งจะแพ้ทั้งคู่ แต่ก็นับเป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่าของหญิงเก่งปลายด้ามขวานคนนี้ก็ว่าได้
           “สนามเลือกตั้งกรุงเทพฯ ได้เรียนรู้งานการเมืองที่มีอะไรมากกว่าในตำรา ส่วนที่ปัตตานี หมอได้เรียนรู้ว่าผู้หญิงมุสลิมกับบทบาททางการเมืองยังไม่ค่อยเด่นชัด ผู้หญิงไม่ใช่ผู้นำ แม้หมอจะแย้งด้วยการนำใบรับรองจากคณะกรรมการอิสลามประจำ จ.ปัตตานี มายืนยันว่า ตำแหน่ง ส.ว.ไม่ใช่ผู้นำ แต่เป็นผู้แทนในพื้นที่ ก็ยังไม่ได้ผล เพราะบริบทพื้นที่ ขนบธรรมเนียม วิถีชีวิตวัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงลำบาก”
          จากงานการเมืองมาเป็นงานสายราชการ คุณหมอเพชรดาวเริ่มจากเข้ารับราชการกับกรมการแพทย์ด้านยาเสพติด จากนั้นก็ขึ้นเป็นรองผู้อำนวยการสำนักงานที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับยาบ้า ซึ่งร่วมกับสหรัฐอเมริกา


          จนเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คุณหมอเพชรดาวได้รับมอบหมายให้ไปดำรงตำแหน่ง “ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 กรมสุขภาพจิต ณ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” (รับผิดชอบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอจังหวัดสงขลา จนถึงปี 2556)
          “งานนี้เป็นงานที่ตรงกับใจหมอมากที่สุด เพราะได้ลงพื้นที่ไปคุยกับชาวบ้าน ทำงานตามความต้องการของชาวบ้านเป็นหลัก โดนใจเลย!!" คุณหมอผู้มีจิตสาธารณะ กล่าว

“งานหลักที่ทำจะเน้นดูแล เยียวยา ช่วยเหลือครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ 
โดยยึดหลักช่วยทุกคนเท่าเทียม ไม่แบ่งแยกฝักฝ่าย”

          “ช่วงที่ทำงาน 2 ปีแรก ยากมาก เพราะข้าราชการในพื้นที่ไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องช่วยครอบครัวผู้ก่อความไม่สงบด้วย คิดว่าหมอเป็นฝ่ายนั้นหรือเปล่า เพราะไปทุกบ้าน ไม่ถามเลยว่าเป็นครอบครัวของใคร หมอรู้สึกเพียงว่า เขาเป็นมนุษย์ไม่ต่างกัน อีกทั้งกลุ่มนี้ ควรต้องดูแลมากกว่า เพราะถ้ายิ่งไม่ดูแล เขาจะยิ่งห่างจากรัฐมากขึ้น ถ้าอยากให้ 3 จังหวัดใต้สงบ อย่าแบ่งเขาแบ่งเรา แต่ถ้าเราให้ใจเขา เราก็จะได้ใจเขากลับมา”
           แม้จะท้อบ้าง แต่ก็ไม่หยุดทำ ทุกวันคุณหมอเพชรดาวจะลงไปพูดคุยเยียวยาจิตใจกับครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบตามบ้าน แม้จะไปในพื้นที่เสี่ยงหรือที่เรียกว่า "พื้นที่สีแดง" เธอก็ดั้นด้นไป ด้วยจิตสาธารณะ พาน้ำใจงามๆ ใบหน้าอ่อนหวาน สร้างรอยยิ้มที่จริงใจ และน้ำเสียงอ่อนโยนไปปลอบขวัญชาวใต้ 
          ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีหลายงานทีเดียวที่คุณหมอเพชรดาวยิ้มภูมิใจ ไม่ว่าจะเป็น การช่วยเหลือกลุ่มแม่ม่ายกว่า 6,000 คน จากผู้หญิงที่หมดหวังในชีวิตเพราะขาดสามีผู้เป็นหางเสือ เธอช่วยเยียวยาจนสามารถลุกขึ้นยืนอย่างสง่าผ่าเผยได้อีกครั้ง รวมไปถึง เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้กรมสุขภาพจิตสามารถวางระบบการทำงานด้านรักษาเยียวยาจิตใจได้รับการอนุมัติจาก ครม.ให้มีนักจิตวิทยาประจำทุกโรงพยาบาลใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ 74 คน


 ถามว่ากลัวไหม เธอบอกทันทีว่า "กลัวค่ะ!!"
          “เหมือนคนปกติธรรมดาทั่วไป แต่ไม่ประมาท พยายามคิดบวกว่าเราไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย และทำงานด้วยใจและคิดว่าเขาคงไม่ทำอะไร เราห้ามสถานการณ์ไม่ได้ บอกหยุดยิงหยุดระเบิดไม่ได้ แต่สิ่งที่อยู่ในปัจจุบัน เราต้องปรับวิถีคิดอยู่ยังไงให้มีความสุข ภายใต้สถานการณ์ที่มีทุกข์ ต้องเข้มแข็งมาก หลายครั้งที่ลงไปช่วย แล้วอยากร้องไห้ตามเขา มันรู้สึกได้ถึงความสูญเสีย แต่ก็ต้องเข้มแข็ง ทำตัวเองให้แข็งแรง เพื่อจะช่วยเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนให้เขายืนได้ อีกทั้งเรื่องเด็กเป็นงานที่ยากมาก อยากให้มีการดูแลอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะด้านการศึกษา รัฐไม่เยียวยาอะไรให้ไม่เป็นไร แต่การศึกษาต้องให้ทุกคน เพราะเป็นรากฐานที่จะบ่มเพาะคนขึ้นมา ขณะนี้มีเด็กที่ได้รับการเยียวยา 6,000 คน แม้รัฐให้การศึกษา แต่อยากให้รัฐมีระบบการติดตามดูแล และประเมินผลอย่างใกล้ชิดจนกว่าจะจบการศึกษาและมีงานทำ แต่ตอนนี้รัฐทำเพียงให้เงินแบบให้แล้วให้เลย โดยไม่มีการประเมินว่าสิ่งที่รัฐให้ไปคุ้มไหม ไหนจะเรื่องคนพิการ ขนาดคนพิการปกติที่ในพื้นที่ปกติก็ยังดูแลไม่ทั่วถึง แต่พอพิการในพื้นที่ไม่สงบยิ่งยากกว่า และตอนนี้เรามีคนพิการประมาณ 500-600 คน ทำมา 2 ปี ช่วยคนพิการให้เข้มแข็งได้ชุมชนเดียว”  คุณหมอกล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

เป็นความท้อและเหนื่อยเพราะถูกนำไปโยงกับการเมือง
          “เหนื่อยเพราะคนอื่นเข้าใจหมอผิด เอางานการเมืองมายุ่งกับชีวิตหมอ ทั้งที่หมอไม่ได้อยู่พรรคไหน ความตั้งใจที่รับทำงานนี้เพราะอยากทำเพื่อ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองไหน หรือใครก็ตามถ้ามีความปรารถนาดีและจริงใจกับคนในพื้นที่ หมอยินดีที่จะร่วมงานทั้งหมด” น้ำเสียงหวานๆ ว่าหนักแน่น
           “การเยียวยาต้องทำอีกนาน โดยเฉพาะกับเด็กๆ ที่ต้องปลูกฝังบ่มเพาะเรื่องดีๆ ให้เขา เพราะอนาคตของเราฝากไว้ที่เขา ถ้าเด็กเหล่านี้เติบโตขึ้นไปเป็นคนดี เชื่อว่าอีกไม่นานปลายด้ามขวานของเราจะกลับมาสันติสุขดังเดิม”
          ในเวลาต่อมา คุณหมอเพชรดาว โต๊ะมีนา ได้ดำรงผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 กรมสุขภาพจิต  กระทรวงสาธารณสุข เธอได้จัดโครงการพัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน มีวัตถุประสงค์เพื่อความรู้ด้านการดูแลสภาพจิตใจเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบให้ได้รับการดูแลด้านจิตใจครอบคลุมทุกคนในพื้นที่ คุณหมอเพชรดาวกล่าวว่า เนื่องจากในพื้นทีจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ต่อเนื่องมาเกือบ 13 ปี  ซึ่งทำให้เด็กรับผลกระทบทางจิตใจทั้งทางตรงและทางอ้อมจำนวนมาก ศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 จึงคัดเลือกอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) แบบพิเศษที่สนใจอยากดูแลเด็กที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตอันเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบเข้ามาอบรมเพื่อเป็นตัวแทนของศูนย์เพื่อเข้าไปดูแลจิตใจของเด็กเหล่านี้ โดยมีการอบรมหลักสูตรการปฐมพยาบาลจิตใจเบื้องต้น  อสม.มีหน้าที่ค้นหาเด็กที่มีปัญหาสุขภาพจิตใจเพื่อให้ความช่วยเหลือและประเมินสุขภาพจิตใจเบื้องต้นโดยใช้แบบสอบถาม เมื่อได้ข้อมูลมาจะส่งให้ศูนย์ฯ เพื่อดูแลติดตามเด็กที่มีปัญหาสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่อง


          “โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อเฝ้าระวังสภาพจิตใจของเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ โดยจัดลำดับความสำคัญคือ เด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบโดยตรง เด็กกำพร้าที่พ่อแม่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่  เด็กอยู่ในอยู่เหตุการณ์แต่ไม่ได้รับบาดเจ็บ และเด็กที่อยู่ในครอบครับสูญหาย และอนาคตทางศูนย์ฯ จะมีประชุมร่วมระหว่าง อสม.ทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นักจิตวิทยาจากโรงพยาบาลในพื้นที่ เพื่อหาทางออกร่วมกันต่อไป” คุณหมอเพชรดาว กล่าว
          เมื่อต้นเดือน ธ.ค.59 คุณหมอเพชรดาวฯ ได้เดินทางมากรุงอิสลามาบัดในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาของสหประชาชาติ (UN) ภายใต้หน่วยงาน UN Counter Terrorism Centre (UNCCT) ตามคำเชิญของสำนักนายกรัฐมนตรีปากีสถาน หน่วยงาน UNCCT เป็นหน่วยงานจัดตั้งขึ้นใหม่ในห้วงปี 2557 มีภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาการก่อการร้ายของสหประชาชาติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูเยียวยาจิตใจและสภาวะจิตใจที่ผู้ถูกกระทำและเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การก่อการร้ายเป็นหลัก

          คุณหมอเพชรดาวฯ ได้แสดงความเห็นช่วงหนึ่งว่ามาตรการเยียวยาและการดูแลด้านสุขภาพจิตของไทยนั้นสามารถที่จะเป็นโมเดลให้แก่ประเทศอื่นๆ ได้เนื่องจากได้รับการดูแลอย่างดีทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมทั้งหลายที่มีอยู่จำนวนมากในพื้นที่ ขณะที่ในปากีสถานมีหน่วยงานและองค์กรในลักษณะดังกล่าวจำนวนน้อยมาก ซึ่ง ณ จุดนี้ รัฐบาลรวมทั้งหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยสามารถนำไปขยายผลได้
          จากการปฏิบัติงานของคุณหมอเพชรดาวในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งให้บริการด้านสุขภาพจิตแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่เป็นหลัก โดยมีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านของกระทรวงสาธารณสุขร่วมด้วย ทำให้ปัญหาด้านสุขภาพจิตของเหยื่อและครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ได้รับการฟื้นฟูและแก้ไขให้ดีขึ้นโดยลำดับ รวมทั้งมาตรการเยียวยาของหน่วยงานในพื้นที่ตามนโยบายและมาตรการของภาครัฐทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์อย่างมาก
          ท้ายที่สุด แม้จะไม่รู้ว่า ความสงบจะกลับคืนมาสู่ผืนแผ่นดินปลายด้ามขวานเมื่อไหร่ แต่คุณหมอเพชรดาวก็ตั้งใจทำงานรับใช้บ้านเกิดเมืองนอนนี้ต่อไป

“เพชรดาว” เธอคือเพชรน้ำงามที่ส่องสกาวดั่งดวงดาวบนฟากฟ้า 3 จังหวัดชายแดนใต้



ป.ล.ร่วมส่งกำลังใจให้คุณหมอเพชรดาวกันนะคะ
Cr.ข้อมูลเบื้องต้นจาก มติชนออนไลน์ , เพจแพทย์หญิงเพชรดาว และข้อมูลดีดีจากผู้ใหญ่ใจดีคะ  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น