วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2559

อาซูรอ ขนมพื้นบ้านสามจังหวัดชายแดนใต้



ความเป็นมาของการกวนข้าวอาซูรอ หรือกวนขนมอาซูรอนั้น สืบเนื่องจากได้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในสมัยศาสดานุฮ (อล) (หนึ่งในศาสดาของศาสนาอิสลาม) หรือศาสดาโนอาร์ (อล) (หากใครเคยดูหนังฝรั่ง ที่มีเหตุการณ์น้ำท่วมโลก และมีการนำสัตว์เป็นคู่ๆขึ้นเรือใหญ่) ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สิน ไร่นาของประชาชนและสาวกของศาสดานุฮ (อล) ทำให้เกิดสภาพขาดแคลน ผู้คนทั่วไปอดอาหาร  ท่านศาสดานุฮ (อล) จึงประกาศให้ผู้ที่มีสิ่งของเหลือพอจะรับประทานได้ ให้เอามากองรวมกัน และให้เอาของเหล่านั้นมากวนเข้าด้วยกัน เพื่อให้ทุกคนได้รับประทานอาหารกันโดยทั่วหน้าและยังผลให้เกิดความสามัคคี กลมเกลียวในหมู่ชน


คำว่า อาซูรอ เป็นภาษาอาหรับ แปลว่า การผสม การรวมกัน คือการนำสิ่งของที่รับประทานได้หลายสิ่งหลายอย่างมากวนรวมกัน การกวนข้าวอาซูรอ (ขนมอาซูรอ) เป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คำว่า"อาซูรอ" เป็นภาษาอาหรับ แปลว่า การผสม การรวมกัน ซึ่งการกวนอาซูรอ มักนิยมทำกันประมาณช่วงเดือนพฤศจิกาย
ของทุกปี และหรือตรงกับวันที่ 10 ของเดือนมุฮัรรอม อันเป็นเดือนแรกของฮิจเราะห์ศักราชตามศาสนาอิสลาม 
  


การกวนข้าวอาซูรอเริ่มด้วยการที่เจ้าภาพประกาศเชิญชวนนัดหมายให้ชาวบ้านทราบว่าจะมีการกวนข้าวอาซูรอกันที่ไหน เมื่อใด เมื่อถึงกำหนดนัดหมายชาวบ้านก็จะนำอาหารดิบ เช่น เผือกมัน ฟักทอง มะละกอ กล้วย ข้าวสาร ถั่ว เป็นต้น มารวมเข้าด้วยกันแล้วปอกหั่น ตัดให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย จากนั้นนำเครื่องปรุง เช่น ข่า ตะไคร้ หอม กระเทียม ผักชี ยี่หร่า เกลือ น้ำตาล กะทิ เป็นต้น มาเป็นเครื่องผสมโดยหั่นตัดให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ เช่นเดียวกัน สำหรับกะทิจะคั้นเฉพาะน้ำมาผสม


วิธีกวน โดยนำกะทะใบใหญ่ตั้งไฟ มีไม้พายสำหรับคนขนมอาซูรอ หลังจากตั้งกะทะบนเตา คั้นน้ำกะทิใส่ลงไป ตำหรือบดเครื่องแกงหยาบ ๆ ใส่ลงในน้ำกะทิ เมื่อกะทิเดือดใส่อาหารดิบต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว คนด้วยไม้พายจนกระทั่งทุกอย่างเปื่อยยุ่ย กวนต่อไปจนเป็นเนื้อเดียวกัน (ประมาณ 7 ชั่วโมง) ส่วนใหญ่จะมีการผลัดเวียนกันอย่างสนุกสนาน เมื่อแห้งได้ที่แล้วก็ตักใส่ถาด โรยหน้าด้วยไข่เจียวหั่นบาง ๆ หรืออาจโรยหน้ากุ้ง เนื้อสมัน ปลาสมัน ผักชี หอมหั่นฝอย แล้วแต่รสนิยมของท้องถิ่น แล้วตัดเป็นชิ้น ๆ แจกจ่ายกันรับประทาน


ณ วันนี้ ประเพณีกวนขนมอาซูรอกำลังจะถูกมองข้ามจากเด็กมุสลิมสมัยใหม่ ขนมขบเคี้ยวหลากยี่ห้อ, ไก่ทอดเคนตั๊กกี๊, แฟรน์ฟราย, แฮมเบอร์เกอร์, ตลอดจนช็อคโกแล็ตรสเด็ดหลากสี มันเข้าไปอยู่ในดีเอ็นเอของเด็กรุ่นใหม่เสียแล้ว เพราะอิทธิพลสื่อ อิทธิพลวัฒนธรรมตะวันตกมันครอบงำจนไม่รู้จะหยุดยั้งการไหลบ่าอย่างไร คงไม่เฉพาะเด็กมุสลิม แม้เด็กจีนจะร้องหาขนมเข่งและหรือเด็กใต้จะอยากกินขนมราก็หาอยากแล้ว สำหรับวันนี้  คงไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง ที่จะฟื้นฟูสืบสานประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น ที่แฝงไปด้วยอัตลักษณ์แห่งความสมานฉันท์ ในหมู่ประชาชาติมุสลิม อีกทั้งยังเป็นกลไกที่จะคงค่าแห่งความดีงามบนรางธารแห่งศาสนา ที่จักถูกยึดโยงสืบสานยังชนรุ่นหลังฯต่อไป .........  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น