วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2559

อาเก๊าะ ขนมพื้นบ้านที่หาซื้อได้ในเดือนรอมฎอนเท่านั้น


ก๊ะซูยึดอาชีพทำขนมพื้นเมืองอาเก๊าะซูยามู”คู่มุสสิมแดนใต้


หากใครแวะเวียนไปในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเวลานี้ที่กำลังอยู่ในห้วงเดือน “รอมฎอน” หรือ ”เดือนบวช” ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาอันศักดิ์สิทธิ์ของพี่น้องผู้นับถือศาสนาอิสลาม จะเห็นภาพความคึกคักของตลาดร้านค้าในช่วงพลบค่ำ เนื่องจากพี่น้องมลายูมุสลิมในพื้นที่จะออกมาจับจ่ายซื้อของเพื่อนำไปใช้ในการละศีลอด 



โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงนี้คงต้องยกให้เมนูขนมหวานแทบทุกชนิดที่ขายดิบ ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า โดยหนึ่งในขนมที่อยู่คู่กับพิธีละศีลอดมาเป็นเวลายาวนานนั่นคือ ขนม “อาเก๊าะ" ซึ่งเป็นขนมจากฝีมือชาวมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีรูปร่างคล้ายขนมครก หรือขนมไข่ แต่รสชาติกลับคล้ายกับขนมหม้อแกงสังขยา และเต็มเปี่ยมไปด้วยรสชาติหวาน หอม และอร่อย  “อาเก๊าะ” ที่ขึ้นชื่อในหมู่พี่น้องประชาชนในพื้นที่แดนใต้เวลานี้คงหนีไม่พ้นยี่ห้อ "อาเก๊าะ ซูยามู" สูตรโบราณ ต้นตำรับของ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ที่กำลังได้รับความนิยมทั้งจากพี่น้องชาวไทยมุสลิม "แวสะปีเยาะ แวสะมะแอ "หรือ "ก๊ะซู" ชาวบ้านใน อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เจ้าของร้าน "อาเก๊าะ ซูยามู" สูตรโบราณ หรือตำรับดั้งเดิมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษหลายชั่วอายุคน ระบุว่า ขนมชนิดนี้เป็นของโบราณที่อยู่คู่กับมลายูมุสลิมในพื้นที่มายาวนาน ซึ่งมักจะมีให้รับประทานกันมาในช่วงเดือนบวช หรือรอมฎอน (สิงหาคม-กันยายน) ซึ่งในช่วง 1 เดือนนี้จะขายดีมากจนผลิตไม่ทัน ถึงขั้นลูกค้าต้องโทรสั่งจองกันล่วงหน้าก่อน 1 วัน เพื่อให้เตรียมตัวในการผลิตให้ทันความต้องการทั้งลูกค้าประจำและลูกค้าขาจร ส่วนกำลังผลิตปกติจะเฉลี่ยประมาณวันละ 600-700 ชิ้น หรือประมาณ 100-150 กล่อง ราคาจำหน่ายกล่องละ 20 บาท บรรจุขนมภายในกล่องจำนวน 5 ชิ้น แต่ในช่วงเดือนบวดยอดขายจะเพิ่มขึ้นเท่าตัว เพราะช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่มียอดจำหน่ายสูงที่สุดในรอบปี  


ก๊ะซู บอกว่า การทำขนมอาเก๊าะมีส่วนผสมหลัก ประกอบด้วย แป้ง ไข่เป็ด น้ำตาลและกะทิสด ซึ่งวัตถุทั้งหมดจะต้องสดใหม่ โดยเฉพาะกะทิต้องคั้นกันสดๆ เพื่อคัดเอาเฉพาะหัวกะทิ เนื่องจากเป็นหัวใจหรือเคล็ดลับสำคัญที่สุดก็ว่าได้ เนื่องจากคุณสมบัติกะทิจะให้ทั้งความหอมและหวาน ส่วนขั้นตอนการทำไม่ยาก คล้ายการทำขนมครกทุกอย่างยกเว้นเตา หรือแบบพิมพ์ที่ขนมอาเก๊าะต้องใช้เตาทองเหลืองและพิมพ์จะใหญ่เรียวกว่า ซึ่งแบบพิมพ์นั้นต้องสั่งทำพิเศษไม่มีวางจำหน่ายในท้องตลาด "ข้อแตกต่างของขนมอาเก๊าะ คือ เวลาเทลงพิมพ์แล้วจะต้องปิดด้วยฝาครอบซึ่งต้องทำพิเศษ คือ นำถ่านร้อนๆ วางบนภาชนะที่นำมาครอบเพื่อให้ขนมได้รับความร้อนทั้งจากเตาด้านล่างและฝาครอบด้านบน ซึ่งขนมครกจะไม่มีขั้นตอนนี้ เช่นเดียวกับเตาแม่พิมพ์ที่ขนมอาเก๊าะต้องใช้ทองเหลืองเท่านั้น เนื่องจากจะให้ความร้อนที่คงทนและนาน" เอกลักษณ์เฉพาะของร้าน "อาเก๊าะ ซูยามู" สูตรโบราณ คือ ทุกแพ็กเกจจะต้องมีใบตองรองใต้ขนมเพื่อให้หอมและสวยงาม รวมถึงบนกล่องทุกกล่องจะติดสติกเกอร์ชื่อร้าน "อาเก๊าะ ซูยามู" สูตรโบราณ พร้อมเบอร์โทรติดต่อ 08-4252-3179 หากใครอยากลิ้มลองของอร่อยดีๆ จากชายแดนภาคใต้สามารถติดต่อได้ตลอด 24 ชั่วโมง  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น