รองศาสตราจารย์ ดร.มิตรชัย
จงเชี่ยวชำนาญ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า
การจัดทำ ม.อ.โพล มาจากการหารือกับผู้บริหาร โดยเห็นว่า
ม.อ.น่าจะมีเครื่องมือในการรับฟังข้อมูลจากประชาชน หรือ ภาคประชาสังคม
เมื่อฟังเสียงสะท้อนแล้วสามารถที่จะช่วยแก้ปัญหาโดยนำเอางานวิจัยมาเป็นฐาน
สร้างเครื่องมือการรับฟัง ที่เรียกว่า “ม.อ.โพล”ตัวโพล จะเป็นเครื่องมือในการที่รับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนได้
ท่านอธิการบดี และรองอธิการบดี รองศาสตราจารย์ ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล รองอธิการบดีฝ่ายระบบวิจัยและบัณฑิตศึกษา
ให้หลักคิดว่าควรจะต้องใช้งานวิจัยมาเป็นฐาน โดยโพลของ
ม.อ.จะต้องสร้างความแตกต่างที่ต้องค้นหาคำตอบให้สังคมด้วย
ไม่ใช่แค่รับฟังและสะท้อนอย่างเดียว
“ต้องค้นหาคำตอบ
จากแนวทางการแก้ปัญหา ถ้าเป็นงานวิจัยก็เอากลับไปที่เรื่องงานวิจัย
จะสัมพันธ์กันทั้ง ม.อ.โพล และงานวิจัย เป็นไปทั้งระบบ อีกส่วนหนึ่งเราคิดว่า
ม.อ.น่าจะมีบทบาทในการชี้ทิศทางให้กับสังคมด้วย สิ่งสำคัญก็คือ เราอยู่ในภาคใต้
อยากทำให้คนภาคใต้มีความสุข มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตัวอย่างโพลที่ทำครั้งแรก คือ
โพลความสุขของคนในภาคใต้ เราอยากจะรู้ว่าคนในภาคใต้มีความสุขหรือไม่
เราทำสำรวจทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้
จากกลุ่มตัวอย่างตามหลักสถิติใช้หลักการอำนาจในการให้ข้อมูล พบว่าจังหวัดสตูล
มีความสุขมากที่สุด เป็นอันดับหนึ่งของภาคใต้ เราทำเครื่องมือขึ้นมา
เรียกว่า “ดัชนีชี้วัดความสุข” หลักคิดมาจากประเทศภูฏาน
บวกกับของกระทรวงสาธารณสุข และเพิ่มการคำนวณเข้าไปอีก 2-3 ประเด็น
สร้างเป็นอัตลักษณ์ดัชนีของ ม.อ.เอง เป็นโพลแรกที่ทำ” รองศาสตราจารย์
ดร.มิตรชัย กล่าวและว่า
รองศาสตราจารย์ ดร.มิตรชัย
จงเชี่ยวชำนาญ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี
ส่วนโพลความเชื่อมั่น
เกี่ยวกับประเด็นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและความเชื่อมั่นของประชาชนต่อแผนงาน “เมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน พัฒนาชายแดนใต้” ตามนโยบายของรัฐบาล ศอ.บต.ได้ประสานให้ม.อ.ช่วยทำสำรวจว่าคนใน 3 จังหวัด 3
อำเภอ มีความเชื่อมั่นเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ “สามเหลี่ยมมั่นคง
มั่งคั่ง ยั่งยืน” หรือไม่
เราลงพื้นที่สำรวจเฉพาะในอำเภอเป้าหมาย คือ หนองจิก เบตง และสุไหงโก-ลก
ซึ่งเป็นจุดของสามเหลี่ยมยังไม่ได้กระจายโดยรอบ
คณะทำงานสำรวจและพบว่าประชาชนในเขตอำเภอภายใต้นโยบายมีความเชื่อมั่นค่อนข้างจะสูง
ดูจากแบบสำรวจ โดยตั้งคำถามว่ามีความเชื่อมั่นต่อโครงการนี้หรือไม่
รู้จักโครงการนี้หรือไม่ ท่านคิดว่าท่านจะมีส่วนร่วมในโครงการนี้ได้อย่างไร
และข้อเสนอแนะ
การเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งหมดจำนวน 580
กลุ่มตัวอย่างในทุกตำบลของอำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอเบตง และหนองจิก ผลออกมา คือ
ด้านการรับรู้ข้อมูลโครงการดังกล่าว
ประชาชนในพื้นที่เมืองต้นแบบรับรู้ข้อมูลข่าวสารโครงการ ถึงร้อยละ 80.10
ผ่านสื่อสารมวลชน เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่อออนไลน์ มากที่สุด
คิดเป็นร้อยละ 51.90 ประชาชนอายุ 60 ปี ขึ้นไปมีการรับรู้มากที่สุด
โดยประชาชนในพื้นที่อำเภอสุไหงโก-ลก มีการรับรู้ข้อมูลข่าวสารโครงการฯ มากที่สุด
จากการสำรวจ พบว่า
ค่าคะแนนความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมของโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง
มั่งคั่ง ยั่งยืน พัฒนาชายแดนใต้ อยู่ที่ระดับค่าคะแนน 3.79
โดยประเด็นที่ประชาชนในพื้นที่มีความเชื่อมั่นสูงสุด อันดับแรกคือ
เชื่อมั่นว่าแผนงานจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนในพื้นที่
มีระดับค่าคะแนน 3.86 อันดับที่สอง คือ เชื่อมั่นว่าแผนงานจะนำพาอำเภอสุไหงโก-ลก
เป็นศูนย์กลางการค้าชายแดนระหว่างประเทศซึ่งจะมีการจับจ่ายใช้สอยของคนทุกระดับทั้งในและนอกประเทศ
มีระดับค่าคะแนน 3.85 และประเด็นที่สาม
เชื่อมั่นว่าแผนงานจะนำพาอำเภอเบตงเป็นเมืองต้นแบบการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน มีระดับค่าคะแนน
3.83
เมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา ณ
ห้องประชุม 1 ชั้น 2 ที่ว่าการอำเภอหนองจิก จ.ปัตตานี
มีการประชุมเกี่ยวกับโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง
มั่งคั่ง ยั่งยืน” ของอำเภอหนองจิก จ.ปัตตานี
นอกจากนั้นยังพบว่า อำเภอเบตง
เป็นพื้นที่ที่ประชาชนมีระดับค่าคะแนนความเชื่อมั่นต่อโครงการสูงที่สุดโดยมีระดับค่าคะแนน
3.82 รองลงมาคือ อำเภอหนองจิก ส่วนอำเภอสุไหงโก-ลก
ซึ่งมีการรับรู้โครงการมากที่สุด กลับมีระดับความเชื่อมั่นน้อยที่สุด คือ 3.75 ทั้งนี้ ผู้ทำแบบสอบถาม ยังให้ข้อเสนอแนะต่างๆ เพิ่มเติม เช่น อยากให้การพัฒนาคำนึงถึงความเป็นจริงในพื้นที่ให้มากที่สุด
คำนึงถึงอัตลักษณ์ของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ครอบคลุมในทุกศาสนา
และต้องการให้แผนดังกล่าวมีการดำเนินการได้อย่างจริงจังดังที่ได้ประชาสัมพันธ์ไว้
เพื่อสันติสุขและเกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ
ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ
กล่าวอีกว่า ผลสำรวจที่ว่าอำเภอสุไหงโก-ลก มีการรับรู้โครงการมากที่สุด
แต่กลับมีระดับความเชื่อมั่นน้อยที่สุด คือ 3.75 นั้นอาจมีหลายปัจจัย เช่น
การรับรู้ข่าวสาร แต่จริง ๆ
แล้วระดับความเชื่อมั่นยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับอำเภอ เบตงและอำเภอหนองจิก
แต่ค่าคะแนนความเชื่อมั่นจะน้อยกว่ามาเป็นอันดับ 3
“คิดว่าเรื่องเมืองการค้าชายแดนอาจยังไม่ค่อยชัดเจนมากเท่าไหร่ในมุมมอง
อาจมีหลายปัจจัยที่ว่าทำให้คนในพื้นที่ไม่เชื่อมั่นมากนัก
แม้จะเป็นอัตลักษณ์ของสุไหงโก-ลกเองก็ตาม เป็นโจทย์สำคัญที่ ศอ.บต.
จะต้องประชาสัมพันธ์ หรือสร้างความชัดเจนในทิศทางการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ
และทำให้ประเด็นเบื้องลึก (hidden agenda) คลี่คลาย
คิดว่าคนในพื้นที่ทราบปัญหาดี
เป็นเรื่องสำคัญในการสร้างความเข้าใจกับทุกฝ่ายเพื่อนำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่น”รองศาสตราจารย์ ดร.มิตรชัยกล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น