วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ยะลา รวมพลังเดินหน้ารณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี ในพื้นที่



       เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 61 ที่หอประชุมโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิยะลา สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดยะลา ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัว และความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ เนื่องในวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็น วันขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากล และเดือนพฤศจิกายน เป็น เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี” ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นให้สังคมเห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น และร่วมมือกันป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวและชุมชนของตนเอง โดยมีนายนิมะ มะกาเจ เป็นประธานเปิดกิจกรรม พร้อมด้วยนางสุภาพร วุฒิศาสตร์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดยะลา และปล่อยขบวนรถรณรงค์ ออกจากโรงเรียนธรรมวิทยา ผ่านแหล่งชุมชน และรณรงค์ประชาสัมพันธ์บริเวณตลาดสดเมืองใหม่ และสนามโรงพิธีช้างเผือก เพื่อรณรงค์ให้สังคมได้ตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และครอบครัวในปัจจุบัน ซึ่งการจัดกิจกรรมครั้งนี้มีนักเรียนและผู้เกี่ยวของเข้าร่วม จำนวน 350 คน

     สำหรับกิจกรรมนอกจากจะมีการปล่อยขบวนรถ รณรงค์ยุติความรุนแรงฯ แล้ว ยังมีนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 การบรรยายให้ความรู้แก่นักเรียน หัวข้อ รู้เท่าทันความรุนแรงในสังคมยุคปัจจุบันอีกด้วย

       นายนิมะ มะกาเจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี เป็นปัญหาที่สำคัญและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเด็ก สตรี รวมถึงผู้สูงอายุและคนพิการ ซึ่งมีสถิติปรากฏให้เห็นและมีแนวโน้มมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลให้คนในครอบครัว สังคม มีความเครียด ประกอบกับสังคมส่วนรวมขาดความเข้าใจและตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว

ข้อมูลจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่าการกระทำความรุนแรงในครอบครัว ปี 2560 มีจำนวน1,309 ราย (ด้านร่างกาย 61.7 เปอร์เซ็นต์ ด้านเพศ 5.4 เปอร์เซ็นต์ ด้านจิตใจ 28.6 เปอร์เซ็นต์) ส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำของบุคคลใกล้ชิด ซึ่งความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ยังเป็นปัญหาที่อยู่ในความเงียบ เพราะผู้ที่ตกอยู่ในสภาพปัญหาส่วนใหญ่จะต้องจำทนรับสภาพ และหลายรายถูกกระทำซ้ำ ๆ จึงขอเรียกร้องทุกภาคส่วนของสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และครอบครัวในทุกรูปแบบ

       ดังนั้น การบรรเทาหรือแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงควรเริ่มต้นที่ครอบครัวเพราะเป็นสถาบันแรกที่ให้ความรัก ความอบอุ่น และตอบสนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ รวมทั้งการถ่ายทอดการเรียนรู้ ปลูกฝังเจตคติค่านิยม พฤติกรรมของบุคคล และทำหน้าที่หล่อหลอมบุคคลให้เป็นไปตามความคาดหวัง ดังนั้น ชุมชนต้องเข้ามามีบทบาทในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวตลอดจนการป้องกันและเฝ้าระวังปัญหาก่อนที่จะเกิดความรุนแรงขึ้น โดยถือว่าการยุติความรุนแรงเป็นเรื่องของทุกคน ทุกฝ่าย จำเป็นต้องเชื่อมโยงกันทำงานด้วยความตระหนักมีความเข้าใจอย่างแท้จริง สามารถนำไปจัดการดูแลคนในชุมชน และส่งเสริมให้ครอบครัวมีความเข้มแข็งอบอุ่น เช่น ใช้เวลาร่วมกัน และทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งสถานภาพอันดีของครอบครัว ต่อไป



------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น